‘ศุภมาส’ เดินหน้ากระชับสัมพันธ์ไทย-จีน พร้อมเปิดศูนย์วิจัยจีน
15
May
2024
15
May
2024
ศุภมาส เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ไทย - จีน ขยายความร่วมมืองานวิจัยสังคมศาสตร์และมนุษศาสตร์ พร้อมเปิดศูนย์วิจัยจีน (CASS - NRCT CCS)
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “50 ปี มิตรภาพแบบครอบครัวเดียวกัน สู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืนระหว่างไทย-จีน” ในงานพิธีเปิด “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” (CASS-NSCT CCS) ประจำประเทศไทย และการสัมมนาวิชาการไทย-จีน ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “ครอบครัวไทย-จีนชิดใกล้ มุ่งสร้างชุมชนเป็นหนึ่งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะ และประสบการณ์เพื่อสานต่อองค์ความรู้สู่การพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-จีน และเป็นเวทีสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองประเทศ
โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. เข้าร่วม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ร่วมกล่าวแสดงความยินดี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดงาน นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวรายงานความร่วมมือไทย-จีน และ ศ.หวัง ฉางหลิน รองประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ อาคาร วช.8 ชั้น 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่ปีหน้า จะครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน ที่มีความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 2 พันปี ภายใต้คำขวัญ "ไทย-จีนพี่น้องกัน" บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-จีนได้พัฒนาสู่ระดับหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยผ่านกลไกสำคัญ คือ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (One Belt One Road) มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม และเชื่อมต่อภูมิภาคไทย มีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมต่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเลียงใต้ โดยมีความร่วมมือทางวิชาการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ ซึ่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) และ วช. ร่วมส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่จะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนนักวิจัย ร่วมวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งสองประเทศ
ด้าน นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีนมาอย่างยาวนาน รวมถึงความร่วมมือระหว่าง วช. กับ CASS บันทึกข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ โดยคาดหวัง 3 ประการว่า 1. คาดหวังว่าจะการร่วมกันพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่เกี่ยวกับประเด็นไทย – จีน 2. คาดหวังว่าศูนย์วิจัยจีน (CASS – NRCT CCS) จะกลายเป็นเวทีที่เชื่อถือได้สำหรับการวิจัยด้านชุมชนจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน และ 3. คาดหวังว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นหน้าต่างให้ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพในประเทศไทยได้เข้าใจถึงประเทศจีนที่แท้จริง เชื่อว่าศูนย์แห่งนี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบที่จะผลักดันความร่วมมือด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผ่านการเรียนรู้ความสำเร็จจากจีน การขับเคลื่อนโครงการสำคัญโดยเฉพาะการจัดการความยากจน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG ของไทย รวมถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัยจีนในประเทศไทยอีกด้วย
ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนและสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก ซึ่งการจะพัฒนาประเทศตามแนวคิด กระบวนการ รวมถึงวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกับสถาบันสังคมศาสตร์จีน เพื่อร่วมกันส่งเสริม เชื่อมโยง และผลักดันให้เกิดผลงานวิจัย นวัตกรรมทางสังคมที่นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ จึงมุ่งหวังว่าศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีนแห่งนี้ จะได้มีส่วนสำคัญในการเป็นศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยและวิชาการด้านจีนศึกษา ในประเด็นที่มีความสนใจและห่วงใยร่วมกัน ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความซับซ้อนและผันผวน เพื่อร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของไทยและจีน ส่งเสริมความร่วมมือไทย-จีน ในด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการศึกษาวิจัย และบรรลุผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคม ที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและไทย ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ทั้งนี้ “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” (CASS – NRCT CCS) เป็นศูนย์ที่ส่งเสริมงานด้านวิจัยและวิชาการด้านจีนศึกษา ในประเด็นที่มีความน่าสนใจและความห่วงใยร่วมกัน เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน อีกทั้งเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ไทย – จีน อีกด้วย