Interview

เจาะแผนยุทธศาสตร์ “ครบรอบ 10 ปี BRI : จีนคิดการใหญ่อะไร”

19

October

2023

19

October

2023

“...จีนตระหนักดีว่า ในอนาคตการเติบใหญ่ของจีนจะต้องถูกสกัดยับยั้งและปิดล้อมโดยมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ที่มองว่า จีนในฐานะมหาอำนาจใหม่จะมาท้าทาย จีนจึงไม่รอให้ตัวเองถูกกระทำ หากแต่สีจิ้นผิงใช้ยุทธศาสตร์ BRI ไปแสวงหาพรรคพวก/สร้างแนวร่วมในเชิงรุกไว้ก่อน…” - ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

        หนึ่งทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของจีน ทำให้เราได้เห็นแผนยุทธศาสตร์ของจีนที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น โดย สี จิ้นผิง ผู้นำของจีนที่ได้ผลักดัน “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งจะไม่ได้มีเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการหาแนวร่วมพันธมิตรจากประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

        ทั้งนี้ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ได้วิเคราะห์และหาคำตอบไว้ในประเด็นต่าง ๆ ในบทความเรื่อง “ครบรอบ 10 ปี BRI : จีนคิดการใหญ่อะไร”  ไว้ดังนี้

        “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI)  กลายเป็น Talk of the World  เป็นการผลักดันของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาตั้งแต่ปี 2013 ด้วยการปลุกฟื้นคืนชีพเส้นทางสายไหม โดยใช้คำว่า Silk Road Economic Belt และคำว่า Maritime Silk Road in the 21st Century เพื่อแสวงหาความร่วมมือสร้างพันธมิตรกับประเทศต่างๆ

        สี จิ้นผิงยังได้นำประเด็น BRI ใส่ไว้ใน “ธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน”มาตั้งแต่ปี 2017 สะท้อนว่า แผนริเริ่ม BRI คือ a must ที่จีนต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

        มาจนถึงวันนี้ ครบรอบ 10 ปี แผนริเริ่ม BRI ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ใหม่แห่งทศวรรษ จีนได้ลงนามความร่วมมือด้าน BRI กับประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ประเทศ ในภูมิภาค 5 ทวีป และลงนามกับ 30 กว่าองค์กรระหว่างประเทศ สีจิ้นผิงขยายอิทธิพลของจีนผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ BRI จนสามารถสร้างสมการของอำนาจใหม่ขึ้นมาในโลก

        ครบรอบหนึ่งทศวรรษของ BRI มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง #ผลประโยชน์เบื้องหลังของจีน ในการผลักดันยุทธศาสตร์ BRI มีอะไรบ้าง #สีจิ้นผิงคิดการใหญ่อะไร รวมทั้ง #ข้อกังวลของฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อข้อริเริ่ม BRI มีอะไรบ้าง บทความนี้จะมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ยุทธศาสตร์ BRI สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

        หากศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางการจีน คือ สมุดปกขาวเรื่อง "The Belt and Road Initiative: A Key Pillar of the Global Community of Shared Future" (เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา) ซึ่งรายงานผลดำเนินการภายใต้ BRI ในรอบหนึ่งทศวรรษ สรุปได้ดังนี้

        ในช่วง 10 ปี จีนได้สร้างความร่วมมือมากกว่า 3,000 โครงการภายใต้ BRI รวมมูลค่าลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เช่น โครงการรถไฟในประเทศลาวที่เชื่อมโยงไปจนถึงจีนตอนใต้ โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย (จากกรุงจาการ์ต้าไปเมืองบันดุง) โครงการท่าเรือสำคัญในประเทศต่างๆ เป็นต้น ในจำนวนนี้ มีมากกว่า 50 โครงการที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความร่วมมือด้านการพัฒนาสีเขียว (green development) ที่จีนลงนามกับ 31 ประเทศ

        ที่โดดเด่นมาก คือ การออกไปลงทุนในต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จีนกลายเป็นผู้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ข้อมูลในปี 2022 ตัวเลข outward FDI ของจีนในประเทศ BRI มีมูลค่าสูงถึง 57,130 ล้านดอลลาร์ ล่าสุด ตัวเลขในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการออกไปลงทุนในต่างประเทศของจีนก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องประมาณร้อยละ 18.1 หากคิดเฉพาะการลงทุนจีนในประเทศ BRI มีสัดส่วนร้อยละ 19 และข้อมูลในเอกสารสมุดปกขาว ฝ่ายจีนยังได้รายงานว่า ในรอบ 10 ปี จีนสร้างงานในต่างประเทศมากถึง 421,000 อัตรา

        ในเชิงภูมิศาสตร์ ความร่วมมือภายใต้ BRI แบ่งออกเป็น 6 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญ ดังนี้

  1. ระเบียงเศรษฐกิจแลนด์บริดจ์ยูเรเชียใหม่ (New Eurasian Land Bridge Economic Corridor) เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากจีน ผ่านเอเชียกลาง ประเทศคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส ไปจนถึงโปแลนด์ และเชื่อมต่อไปอีกหลายประเทศยุโรป เช่น เยอรมัน สเปน
  2. ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก (China-Central and West Asia Economic Corridor : CCWAEC) เริ่มต้นจากซินเจียงในจีน ผ่านเอเชียกลาง ไปยังอ่าวเปอร์เซีย ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และคาบสมุทรอาหรับ เช่น อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงตุรกี
  3. ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor : CPEC) มีจุดเริ่มต้นที่เมืองคาสือ (คัชการ์) ของซินเจียงในจีน ไปสิ้นสุดที่ท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน
  4. ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย (China-Mongolia-Russia Economic Corridor: CMREC) เชื่อมจีนตอนเหนือกับประเทศมองโกเลียและรัสเซีย
  5. ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา (Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor : BCIMEC) เพื่อเชื่อมโยงจีน ผ่านเมียนมาและอินเดียไปยังภูมิภาคเอเชียใต้
  6. ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor : CICPEC) ระเบียงเศรษฐกิจนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับไทยและเพื่อนบ้านในคาบสมุทรอินโดจีน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV และเป็นประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Cooperation : LMC) ที่จีนผลักดันด้วย

ประเด็นที่สอง จีนสร้าง BRI ให้เป็นยุทธศาสตร์แห่งศตวรรษได้อย่างไร

        ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สีจิ้นผิงมีการเดินสายไปเยือนประเทศต่างๆ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ แสวงหาแนวร่วม และสานต่อความร่วมมือ BRI ในด้านต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่า BRI ไม่ได้เป็นแค่โครงการฉาบฉวย และ BRI ก็ไม่ได้เป็นแค่ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เท่านั้น เนื่องจากกรอบ BRI จะเน้นเชื่อมโยงความร่วมมือใน 5 ด้านหลัก (Five Links) ได้แก่ ด้านประสานนโยบาย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการค้าไร้อุปสรรค ด้านการบูรณาการทางการเงิน และด้านการเชื่อมโยงประชาชน ดังนี้

  1. ด้านการประสานนโยบาย (Policy Coordination) ฝ่ายจีนจะศึกษาข้อมูลนโยบายหลักของแต่ละประเทศว่ามีอะไรบ้าง เพื่อเสนอการประสานนโยบาย/การลงนามความร่วมมือในระดับต่าง ๆ รวมไปถึงแลกเปลี่ยนเทียบเคียงในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติร่วมกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ เช่น ในกรณีของไทย ฝ่ายจีนก็จะพยายามเชื่อมโยง BRI กับโครงการ EEC ของรัฐบาลไทย
  2. ด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (Facilities Connectivity) เพื่อเชื่อมโยงและลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ ทั้งระบบรางรถไฟ ท่าเรือ ถนน รวมทั้งเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น ระบบเทคโนโลยี 5G รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้า ระบบส่งกระแสไฟฟ้า ท่อก๊าซและน้ำมัน นอกจากนี้ จีนได้เป็นโต้โผจัดตั้ง“ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) จนสำเร็จในปี 2015 และการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) เพื่อเป็นกองทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมแผนริเริ่ม BRI
  3. ด้านการค้าที่ไร้อุปสรรค (Unimpeded Trade) เพื่อเอื้อให้มีการขยายการค้าระหว่างประเทศที่เข้าร่วม BRI และร่วมกันสร้างระบบเครือข่าย/ยกระดับการเปิดเสรีให้มากขึ้น จากรายงานในสมุดปกขาวฯ นับตั้งแต่ปี 2013 -2022 การค้าของจีนกับประเทศในกลุ่ม BRI เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ประเทศใน BRI เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน สัดส่วนร้อยละ 32.9 ของการค้าทั้งหมดของจีนและล่าสุด ในปี 2022 จีนมีการนำเข้า/ส่งออกกับประเทศต่างๆ ภายใต้ BRI มูลค่ารวมทะลุ 13.83 ล้านล้านหยวน
  4. ด้านการบูรณาการทางการเงิน (Financial Integration) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินภายใต้ BRI และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน การชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบข้ามพรมแดน ตลอดจนความร่วมมือด้านการกำกับดูแลทางการเงิน เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและภาวะวิกฤตทางการเงิน รวมทั้งการผลักดันให้มีการทำธุรกรรมระหว่างกันด้วยสกุลเงินท้องถิ่นให้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ จีนจะให้การให้ความช่วยเหลือภายใต้ BRI ในรูปของเงินหยวน โดยคาดหวังว่า ในระยะยาว ประเทศเหล่านั้นจะมีการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศให้มากขึ้น
  5. ด้านการเชื่อมโยงประชาชน (People-to-people Bond) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของจีนในด้านอื่นที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ เช่น ด้านวัฒนธรรม การศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ BRI จีนจึงได้ทุ่มเทงบประมาณเพื่อแจกทุน และจัดโครงการแลกเปลี่ยน/การจัดคณะทัศนศึกษาดูงานในประเทศจีนให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน สื่อมวลชน พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบาล และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐในประเทศต่างๆที่เข้าร่วม BRI จึงชัดเจนว่า การเชื่อมโยงด้านนี้เป็นการใช้ Soft Power ของจีนเพื่อปลูกฝังภาพลักษณ์ด้านบวกของจีนในสายตาต่างประเทศและเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ในระดับประชาชน

ประเด็นที่สาม ผลประโยชน์เบื้องหลังในการผลักดันยุทธศาสตร์ BRI

        มีหลายเหตุผลและแรงจูงใจในการริเริ่ม BRI ผลประโยชน์ที่จีนคาดหวังจากยุทธศาสตร์ BRI มีหลากหลายมิติ ดังนี้

        ในแง่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ใหญ่ BRI ช่วยจีนในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ แหล่งลงทุนใหม่ๆ ตลอดจนการแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ และการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การส่งออกสินค้าจีนเหมือนในอดีต แต่ภายใต้ BRI จีนได้มีการส่งออกเทคโนโลยีจีน และส่งออก Platform จีนไปทั่วโลก รวมไปถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับจีนที่หลากหลายและครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและสร้างเครือข่ายการผลิตการค้าของจีนขยายไปทั่วโลก ทั้งหมดนี้ย่อมจะช่วยติดอาวุธทางเศรษฐกิจให้จีนสามารถรับมือกับความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่ไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ BRI จึงเป็นเครื่องมือสำคัญทางนโยบายต่างประเทศของจีนและเป็นกลไกหลักในการขยายบทบาทของจีน เพื่อสร้างเครือข่ายและแสวงหาแนวร่วมในการคานอำนาจกับสหรัฐฯ

        ที่สำคัญ จีนต้องการทำ financial decoupling เพื่อแยกตัวทางการเงินกับสหรัฐฯ ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มากเกินไป ซึ่งมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ในยุคสีจิ้นผิง จีนปรับมาเน้นนำเงินไปลงทุนใน real sector ผ่านการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศที่จับมือกับจีนภายใต้ BRI เนื่องจากจีนมีทุนสำรองเงินตราฯ มากที่สุดในโลก ในอดีต จีนนำเงินทุนสำรองฯเหล่านี้ไปทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สีจิ้นผิงจึงต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาลงทุนในลักษณะ outward FDI ผ่านความร่วมมือ BRI หันไปเน้นการออกไปลงทุนในต่างประเทศ (มากกว่าแค่การลงทุนด้วยการทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเหมือนในอดีต) เช่น การกว้านซื้อที่ดินหรือแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุในต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าซื้อบริษัทชื่อดังระดับโลกหลายแห่ง เป็นต้น

        นอกจากนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งในการผลักดันยุทธศาสตร์ BRI ก็เพื่อแก้ปัญหาภายในของจีน เช่น เพื่อใช้ BRI เป็นช่องทางกระจายสินค้าที่จีนมีการผลิตล้นเกิน (over capacity) ตัวอย่างเช่น แผงโซล่าเซลล์ จีนจึงต้องการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ผ่านความร่วมมือ BRI เพื่อเร่งระบายส่งออกสินค้าที่ผลิตล้นเกินเหล่านี้

        ในแง่ความมั่นคงภายในประเทศ จีนใช้ยุทธศาสตร์ BRI มาหยิบยื่นโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับดินแดนที่ยังคงมีปัญหาชนกลุ่มน้อย คือ ซินเจียง ที่ยังคงมีกลุ่มมุสลิมอุยกูร์หัวรุนแรง ด้วยการเชื่อมโยงซินเจียงกับประเทศในเอเชียกลางไปจนถึงยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟ ไปจนถึงการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งพลังงานเข้าสู่จีนผ่านซินเจียง สีจิ้นผิงต้องการใช้ BRI เพื่อการกระจายความเจริญให้ซินเจียง หวังจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของซินเจียงที่มีพรมแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านมากถึง 8 ประเทศ ทั้งนี้ ซินเจียงเคยเป็นชุมทางการค้าโบราณของเส้นทางสายไหมที่เคยรุ่งเรืองในยุคประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งพลังงานที่สำคัญ ทั้งแร่หายาก (Rare Earth) น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานลม

ประเด็นสุดท้าย ข้อกังวลหรือความหวาดระแวงที่มีต่อแผนการใหญ่ BRI ของสีจิ้นผิง

        มีอะไรบ้าง ภายใต้แผนริเริ่ม BRI จีนออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการลงทุนในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งพลังงานในหลายประเทศ จนสร้างความหวาดระแวงกับกระแสทุนจีนบุกโลก มีข้อกังขากับการที่รัฐบาลจีนนำกองทัพทุนจีนออกไปลงทุนผ่าน BRI เพื่อหวังจะให้รัฐวิสาหกิจจีน/บริษัทจีนได้ “โกอินเตอร์” เป็นการเดินเกมเชิงยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ของจีนเองหรือไม่ มีการตั้งคำถามว่า จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทของจีน และเอื้อให้คนจีนย้ายถิ่นไปทำมาหากินในต่างประเทศ จนส่งผลกระทบกับธุรกิจท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้นที่แข่งขันสู้ทุนจีนไม่ได้ และคนท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้นจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาของทุนจีนอย่างไร เป็นต้น

        นอกจากนี้ การที่ผู้นำจีนเดินทางไปจับมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อทำโครงการภายใต้ความร่วมมือ BRI บางส่วนจีนก็ให้ความช่วยเหลือ บางส่วนรัฐบาลประเทศนั้นก็ต้องกู้จากจีนเป็นมูลค่ามหาศาล จึงถูกมองว่า เป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับรัฐบาลประเทศเหล่านั้น ทำให้มีนักวิชาการต่างชาติเริ่มตั้งคำถามว่า นี่คือ “การทูตกับดักหนี้” (Debt-trap Diplomacy) หรือไม่ จีนเร่งให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และจีนให้เงินกู้ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง ทำให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้นเข้าสู่วิกฤตหนี้มูลค่ามหาศาลในอนาคต เป็นต้น

        โดยสรุป สีจิ้นผิงผลักดันแผนการใหญ่ BRI ไม่ได้มีเพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างพันธมิตร แสวงหาแนวร่วมแบบเนียนๆ ไม่โฉ่งฉ่าง เหตุผลเบื้องหลังที่จีนริเริ่ม BRI จึงมีทั้ง #แรงจูงใจทางการเมืองระหว่างประเทศและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ จีนตระหนักดีว่า ในอนาคตการเติบใหญ่ของจีนจะต้องถูกสกัดยับยั้งและปิดล้อมโดยมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ที่มองว่า จีนในฐานะมหาอำนาจใหม่จะมาท้าทาย จีนจึงไม่รอให้ตัวเองถูกกระทำ หากแต่สีจิ้นผิงใช้ยุทธศาสตร์ BRI ไปแสวงหาพรรคพวก/สร้างแนวร่วมในเชิงรุกไว้ก่อน หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า จีนได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอีกชาติมหาอำนาจที่มีอิทธิพลระดับโลก

        ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ในขณะนี้ ข้อริเริ่ม BRI กลายเป็น “ยุทธศาสตร์แห่งศตวรรษ” ตามแผนการใหญ่ของสีจิ้นผิงที่มุ่งมั่นจะให้เป็นอภิมหาโครงการยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 100 ปี นั่นเอง

        จากบทความ “ครบรอบ 10 ปี BRI : จีนคิดการใหญ่อะไร” เขียนโดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน

ที่มา: เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn

Tags:
No items found.