China-ASEAN Panorama

นิตยสาร CAP เปิดตัว China-ASEAN Panorama Think Tank คลังข้อมูลเชื่อมโยงข่าวสารจีน-อาเซียน

18

April

2022

1

March

2020

ผู้เขียน 许俊豪

นับตั้งแต่สำนักงานทั่วไปแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะมุขมนตรีจีนประกาศ “ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการสร้างคลังข้อมูลแบบใหม่ที่มีลักษณะเด่นแบบจีน” เมื่อปี 2558 กระตุ้นให้สถาบันวิจัย สถาบันอุดมศึกษาและภาคสื่อสารมวลชนในจีนริเริ่มโครงการนำร่องด้านคลังข้อมูลสารสนเทศระดับไฮเอนด์ นับแต่นั้นมาการสร้างคลังข้อมูลสารสนเทศ หรือ Think Tank ได้กลายเป็นเทรนด์ในวงการสื่อกระแสหลักของจีน ซึ่งนิตยสาร China-ASEAN Panorama (CAP) ก็ได้วางแผนเตรียมการสร้าง Think Tank ของตัวเองมาตั้งแต่นั้น จนกระทั่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและเสร็จสมบูรณ์ในปี 2562

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิตยสาร CAP ในฐานะสื่อประชาสัมพันธ์หลักที่มุ่งสื่อสารไปยังประเทศตามแนว ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของสำนักเลขาธิการงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ได้เป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน ผ่านช่องทางที่ครบครันหลากหลาย ทั้งในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ข่าว แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ และความร่วมมือด้านสื่อในต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2562 นิตยสาร CAP ได้เชิญบุคคลสำคัญในแวดวงวิชาการ ธุรกิจ การเงิน สื่อสารมวลชนและวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ร่วมเดินทางมาเป็นสักขีพยานในพิธีเปิด China-ASEAN Panorama Think Tank ณ นครหนานหนิง ประเทศจีน

ในงานเปิดตัวครั้งนี้ เกา หาง บรรณาธิการนิตยสาร CAP, ผู้เสนอแนวคิดการสร้าง China-ASEAN Panorama Think Tank และ หยาง เยี่ยนเยี่ยน รองเลขาธิการสำนักเลขาธิการงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนเปิดป้าย China-ASEAN Panorama Think Tank ร่วมกัน โดยมี หวัง เหล่ย เลขาธิการสำนักเลขาธิการงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน, ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักนายกรัฐมนตรีไทย และแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติร่วมเป็นสักขีพยาน

เกา หาง กล่าวว่า การสร้าง China-ASEAN Panorama Think Tank สอดรับกับเทรนด์การพัฒนาสื่อยุคปัจจุบัน ทั้งยังเป็นก้าวสำคัญของนิตยสาร CAP ในการยกระดับคลังข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคลังข้อมูลดังกล่าวจะเน้นนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับความร่วมมือจีน-อาเซียนในด้านต่างๆ ภายใต้กรอบความตกลง RCEP และข้อริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีน เพื่อช่วยให้หน่วยงานรัฐบาลจีนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโนบาย สนับสนุนความร่วมมือสู่ภายนอกของรัฐบาลกว่างซี พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจเพื่อการพัฒนางานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ ในงานยังได้จัดให้มีพิธีรับมอบหนังสือแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญทั่วไปประจำ China-ASEAN Panorama Think Tank โดยมีเกา หาง เป็นประธานมอบหนังสือแต่งตั้ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งชุดแรกนี้ ส่วนใหญ่มาจากบรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิภายในกองบรรณาธิการนิตยสาร CAP รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญและศาสตราจารย์จากองค์กรสถาบันต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง สิงคโปร์, ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, และ สมาคมผู้ประกอบการจีน-อาเซียน (มาเลเซีย) โดยในอนาคตจะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยประชาชนจีน, มหาวิทยาลัยกว่างซี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารฮองเหลียง, ธนาคารดีบีเอส, นสพ.บางกอกโพสต์, นสพ.Nanyang Siang Pau, นสพ.Lianhe Zaobao, นสพ.The Jakarta Post และหน่วยงานอื่นๆ มาเข้าร่วมในโอกาสต่อไป

“ผู้เชี่ยวชาญที่เราเชิญมานั้น มีทั้งที่เป็นนักวิชาการและไม่ใช่นักวิชาการ โดยพวกเขาพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ China-ASEAN Panorama Think Tank ยังมีจุดเด่นที่เป็นคลังข้อมูลในนามเอกชน ทำให้เราสามารถส่งนักข่าวลงพื้นที่ประเทศอาเซียนได้อย่างรวดเร็วฉับไว สะดวกต่อการรวบรวมข้อมูลอย่างมาก” เกา หาง กล่าว

ตามรายงาน หลังการเปิดตัว China-ASEAN Panorama Think Tank คลังข้อมูลแห่งนี้จะทำงานควบคู่กับนิตยสาร CAP อย่างใกล้ชิด เพื่อมอบบริการระดับไฮเอนด์มืออาชีพ ตรงตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนให้มากที่สุด โดยมีแผนจะบรรลุ 2 ภารกิจสำคัญในปี 2563 คือ ช่วยสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ RCEP และอาเซียนให้แก่หน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลท้องถิ่นกว่างซีทุกระดับ พร้อมเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่อง “รายงานการลงทุนในประเทศอาเซียน ประจำปี 2563” และผลงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

Tags: