China-ASEAN Panorama

ท่าเรือชินโจวกว่างซี เติบโตสวนกระแส บทพิสูจน์ศักยภาพยุทธศาสตร์เส้นทาง NWLSC

7

April

2022

28

May

2020

ผู้เขียน: จาง ห้าวหย่ง, เหวย เหวินเฟย

        “เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor: NWLSC) เป็นส่วนสำคัญภายใต้กรอบ “โครงการสาธิตความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์จีน (ฉงชิ่ง) - สิงคโปร์” (China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative on Strategic Connectivity: CCI) ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมการยกระดับทางการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างจีน-อาเซียน จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ Hub ขนส่งทางบกและทางทะเล ทำให้บทบาทของยุทธศาสตร์เส้นทาง NWLSC นับวันยิ่งฉายแววเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

        เดือนม.ค.- มี.ค. 2563 ตัวเลขสินค้าผ่านเข้าออกและปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือชินโจวเติบโตสวนกระแส โดยมีปริมาณสินค้าอยู่ที่ 28.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8% และปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 6.88 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อน ในขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือทั่วประเทศลดลงจากวิกฤต COVID-19 แต่การขนส่งผ่านท่าเรือชินโจวกลับพุ่งทะยานขึ้น สะท้อนถึงศักยภาพที่โดดเด่นของยุทธศาสตร์เส้นทาง NWLSC

การก่อสร้าง ‘ท่าเรือเชื่อมโยงการค้าทางบก-ทางทะเลฯ’ คืบหน้ารวดเร็ว

        ตามประกาศแผนแม่บทการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องเพิ่มเติม 6 แห่งของสภารัฐกิจจีน เมื่อเดือนส.ค. 2562 ระบุว่า ภารกิจของเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (กว่างซี) โซนท่าเรือชินโจว คือ การสร้าง“หนึ่งท่าสองเขต” ความหมายของ “1 ท่า” คือการเร่งก่อสร้างท่าเรือเชื่อมโยงเส้นทางการค้าเชื่อมทางบก-ทางทะเลสายใหม่นานาชาติ และ “2 เขต” คือ การสร้างเขตรวบรวมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทางทะเล และเขตสาธิตความร่วมมือจีน-อาเซียน

        นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โซนชินโจวได้เพิ่มความเข้มข้นของมาตรป้องกันควบคุม เสริมการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งด่านศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่าเรือ และบริษัทขนส่งทางทะเล จัดหารวบรวมเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสนับสนุนงานควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด ให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจ บริษัทโลจิสติกส์ และบริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์ในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดไปพร้อมกับการกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น

บรรยากาศยามเช้าที่ท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ชินโจว/ ภาพ: เหวย เหวินเฟย

        นอกจากนี้ ยังรักษามาตรฐานการดำเนินงานในท่าเรือ ทั้งการเปลี่ยนถ่ายสินค้า งานบริการตู้สินค้าให้เป็นไปตามปกติ โดยคำนึงถึงการควบคุมการแพร่ระบาดมาเป็นอันดับแรก ให้ความสำคัญกับสินค้าที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตผู้คน เร่งเปิดช่องทางให้รถขนส่งสามารถเข้า-ออกได้สะดวก เพื่อระบายปริมาณสินค้าสะสมในท่าเรือ

        ประสานงานขั้นตอนต่างๆตั้งแต่การเข้าจอดเทียบท่า เปลี่ยนถ่ายสินค้า การเข้าออกของรถขนส่งให้เป็นไปอย่างราบรื่น จัดการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดต่างๆอย่างทันท่วงที เพิ่มความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ผ่านด่านและการควบคุมตรวจตราเรือเทียบท่า ลูกเรือทุกคนต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรค ปฏิบัติตามกฎ “4 ระบุ” ระบุชื่อลูกเรือ ระบุที่พัก ระบุยานพาหนะรับ-ส่ง และระบุเส้นทางที่ใช้เดินทาง และ “5 ไม่” ไม่กลับเข้าเขตเมือง ไม่ออกจากโซนท่าเรือ ไม่เข้าออฟฟิศสำนักงาน ไม่ออกไปข้างนอกถ้าไม่จำเป็น และไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้อื่น เสริมความมั่นใจในความปลอดภัยของท่าเรือ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการขนส่งทางบกและทางทะเล “เรือ+รถไฟ” จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

พัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เร่งขยายเส้นทางอย่างต่อเนื่อง

        เพื่อที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (กว่างซี) โซนท่าเรือชินโจว อย่างต่อเนื่อง เร่งการก่อสร้างโครงการในโซนชินโจวให้เป็นรูปเป็นร่าง เสริมการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าเรือ วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลเมืองชินโจวได้ออกประกาศ 8 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ “หลักเกณฑ์วิธีพิจารณาเบื้องต้นสำหรับโครงการก่อสร้างทางวิศวกรรมในเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (กว่างซี) โซนท่าเรือชินโจว (ฉบับทดลองใช้)” เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ลดความซับซ้อนของขั้นตอนตรวจสอบอนุมัติ

        เดินหน้าพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่อเนื่อง ดึงดูดบริษัทโลจิสติกส์เข้ามาในท่าเรือชินโจวมากขึ้น จนถึงเดือนมี.ค. 2563 ศูนย์บริการจัดส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศอ่าวเป่ยปู้ (Beibu Gulf International Gateway Shipping Service Center) ซึ่งเพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่ถึง 4 เดือน เริ่มมีบริษัทชิปปิ้ง (Shipping), ตัวกลางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder), และตัวแทนออกของ (Customs Broker) ย้ายเข้าศูนย์บริการฯแล้วเกือบร้อยราย

เจ้าหน้าที่สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจวกำลังยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นรถไฟ/ ภาพ: หวงเหวินหลี่

        วันที่ 23 มี.ค. เรือ “SITC SHENZHEN” ได้เข้าจอดเทียบท่าที่ท่าเรือชินโจวหมายเลข 6 นับเป็นการเดินเรือครั้งแรกในเส้นทาง CJV3 “ชินโจว - ญี่ปุ่น/เกาหลีใต้”  หลังจากเพิ่งเปิดเส้นทางเดินเรือโดยตรงจาก “อ่าวเป่ยปู้-แหลมฉบัง” ไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มี.ค. การเปิดตัวเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศสายใหม่บริเวณอ่าวเป่ยปู้ภายในเดือนเดียวกัน ถือเป็นการขยายโครงข่ายเส้นทางเดินเรือของท่าเรือชินโจวไปอีกขั้น ปัจจุบันบริเวณอ่าวเป่ยปู้มีเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รวมทั้งสิ้น 47 เส้นทาง ในจำนวนนั้นมีถึง 41 เส้นทางที่ผ่านท่าเรือชินโจว

รักษาประสิทธิภาพการทำงานดีเยี่ยม สนับสนุนการกลับมาดำเนินงานของธุรกิจ

        ประสิทธิภาพด้านพิธีการศุลกากรส่งผลต่อประสิทธิภาพการขนส่งเรือเชื่อมต่อรถไฟของท่าเรือชินโจว  ศุลกากรท่าเรือชินโจวได้ดำเนินงานตามเป้าหมายการป้องกันและควบคุมโรคระบาด กล่าวคือ ขจัดปัญหาการแพร่ระบาด ช่องโหว่ในการตรวจสอบ และปัญหาความล่าช้าให้เหลือ “ศูนย์” ควบคุมการแพร่ระบาดไปพร้อมกับรักษาการเติบโตพัฒนาอย่างมั่นคง เปิดช่องทางบริการพิเศษ ‘ช่องทางสีเขียว’ เร่งตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของธุรกิจ วางแผนขั้นตอนควบคุมตรวจสอบล่วงหน้า อำนวยความสะดวกให้สินค้าสามารถผ่านพิธีการศุลกากรได้อย่างรวดเร็ว ช่วยสนับสนุนการกลับมาดำเนินงานอีกครั้งของภาคธุรกิจ

        ช่วงวันที่ 24 ม.ค.- 29 มี.ค. ศุลกากรท่าเรือชินโจวได้ตรวจตราเรือเข้าออกด่านจำนวน 606 ลำ คัดกรองผู้เข้าออกด่าน 11,103 ราย และตรวจสอบเอกสารสำแดงสินค้านำเข้าส่งออกทั้งสิ้น 6,954 ฉบับ เพิ่มขึ้น 13.4% จากปีก่อน มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปิโตรเลียม ก๊าซ LPG แร่ธาตุ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ผ่านท่าเรือชินโจวกว่า 5.661 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.99 เท่าจากปีก่อน ช่วยสนับสนุนให้การกลับมาดำเนินงานของภาคธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น  ในเดือน ก.พ. 2563 กระบวนการผ่านพิธีการศุลกากรโดยรวมของท่าเรือชินโจวใช้เวลาเพียง 18.63 ชั่วโมง ครองแชมป์อันดับหนึ่งจากศุลกากรท่าเรือ 4 แห่งในกว่างซี

เรือ “SITC SHENZHEN” จอดเทียบท่าเรือชินโจว

        “สถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟชินโจว” ซึ่งตั้งอยู่ภายในท่าเรือชินโจวเป็นสถานีศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์แห่งที่ 12 ของจีน และถือเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของยุทธศาสตร์เส้นทาง NWLSC  ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัท CR Intermodal Co.,Ltd. สาขากว่างซี ผู้บริหารจัดการสถานีฯ ยังคงไม่หยุดให้บริการแม้จะเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการขนส่งรถไฟเชื่อมต่อท่าเรือจะเป็นไปอย่างราบรื่น เดือนม.ค.-มี.ค.2563 มีรถไฟเข้าออกสถานีฯจำนวน 535 ขบวน เพิ่มขึ้น 41% ปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 4.9 หมื่น TEUs เพิ่มขึ้น 114% จากปีก่อน

        ปัจจุบัน หากได้มีโอกาสมาเยือนโซนท่าเรือชินโจว คุณจะได้เห็นภาพของท่าเรือที่มีการขนถ่ายสินค้าไม่มีหยุดพัก ได้ยินเสียงการทำงานของเครื่องจักรมาแต่ไกล รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขับเข้าออกจากท่าเรือ ได้เสียงเครื่องยนต์ไม่ขาดสาย ภายในไชต์ก่อสร้าง เครนกำลังยกขึ้นไปมา เครื่องตอกเสาเข็มกำลังทำงานเสียงดังกึกก้อง ภายในโรงงาน คนงานในสายการผลิตกำลังทำงานกันเป็นมือระวิง รถไฟบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขับมุ่งขึ้นเหนือไปตามเส้นทาง NWLSC ขบวนแล้วขบวนเล่า...ภาคธุรกิจกำลังกลับมา “ติดเครื่องยนต์” ใหม่อีกครั้ง!

Tags: