China-ASEAN Panorama

‘กว่างซี’ กับศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงโลจิสติกส์จีน-อาเซียน

14

July

2022

14

July

2022

ผู้เขียน: จง ซวงเสีย นิตยสาร CAP

        กว่างซี มีอาณาเขตติดแนวชายฝั่งทะเลยาว 1,628.59 กิโลเมตร มีทำเลที่ตั้งใกล้ชิดกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในการเชื่อมโยงกับอาเซียน ที่นี่มีขบวนรถไฟสินค้าระหว่างประเทศวิ่งสัญจรไปมาไม่ขาดสาย เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มากมายจอดเทียบท่าขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ เที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบินไป-กลับอยู่ตลอด จากโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันกว่างซีและอาเซียนมีโครงข่ายการคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนและอาเซียนได้เป็นอย่างดี

        เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการเมกะโปรเจกต์อย่าง “เขตโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ ท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง” ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นศูนย์โลจิสติกส์กระจายสินค้าสู่อาเซียนที่ใหญ่ที่สุดในกว่างซี ล่าสุดเมื่อโอกาสจากยุทธศาสตร์ต่าง ๆ อย่างข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก และความตกลง RCEP ได้มารวมเข้าด้วยกัน กว่างซีจะสามารถเปลี่ยนข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งมาเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ และสร้างการเติบโตในแบบฉบับของตนเองได้อย่างไร?

ท่าเรือชินโจวในกว่างซี

จากข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง สู่แรงขับเคลื่อนการพัฒนา

        เมื่อเทียบกับมณฑลอื่น ๆ ในพื้นที่ตอนในของจีน กว่างซีมีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งอยู่ติดกับพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นประตูสู่อาเซียน และใกล้ชิดกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA: Greater Bay Area) ดังนั้นนอกเหนือจากการอาศัยข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเพื่อขยายการเปิดกว้างคุณภาพสูงแล้ว กว่างซียังมีอีกบทบาทสำคัญคือการเป็นจุดศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับอาเซียนด้วย

        ตลอดพรมแดนกว่าพันลี้ของกว่างซี มีด่านกระจายอยู่ 22 ด่านทั่วทั้งริมฝั่งแม่น้ำและชายฝั่งทะเล ‘ด่านโหย่วอี้กวน’ เป็นด่านทางบกที่ใหญ่ที่สุดซึ่งเชื่อมโยงจีนกับอาเซียนผ่านทางชายแดนเวียดนาม  “ด่านผิงเสียง” เป็นด่านรถไฟเส้นทางจากจีนสู่อาเซียนที่สะดวกรวดเร็วที่สุด ขณะที่ “ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” เป็นท่าเรือเกตเวย์ที่สะดวกที่สุดสำหรับการขนส่งทางทะเลจากพื้นที่ตอนในของจีนสู่อาเซียน...การเปิดให้บริการด่านตามจุดต่าง ๆ และผลักดันการก่อสร้างระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก ช่วยผลักดันให้การก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์มุ่งสู่อาเซียนของกว่างซีเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ

        ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กว่างซีได้อาศัยเมืองหนานหนิง หลิ่วโจว และกุ้ยหลิน เพื่อเชื่อมต่อกับมณฑลหูหนานและกุ้ยโจว เกิดเป็นแกนกลางการพัฒนาโลจิสติกส์เหนือ-ใต้ที่เชื่อมโยงกับ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าผ่านเมืองกุ้ยก่าง อวี้หลิน และอู๋โจว ส่วนทิศตะวันตกเชื่อมต่อกับมณฑลยูนนาน กุ้ยโจวและอาเซียนผ่านทางเมืองฝางเฉิงก่างและฉงจั่ว รวมกันเป็นโครงข่ายโลจิสติกส์ที่ช่วยสนับสนุนการสร้างแถบเศรษฐกิจแม่น้ำซีเจียง เชื่อมประสานการถ่ายโอนอุตสาหกรรมระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออก กลางและตะวันตก และการเคลื่อนย้ายทรัพยากรระหว่างพื้นที่ริมฝั่งฟากตะวันออกและตะวันตก เรียกได้ว่าเป็นการวางผังโลจิสติกส์ที่รองรับทั้งแนวทิศเหนือใต้ เชื่อมตะวันออกและตะวันตก

        จะเห็นได้ว่า โครงข่ายโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อหลายทิศทางและเชื่อมโยงระหว่างประเทศกำลังก่อตัวขึ้นที่กว่างซี

ท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง

        จากข้อมูลของบริษัท China Railway Nanning Bureau Group Co., Ltd. ช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ยอดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านโมเดล ‘เรือ+ราง’ บนเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตกมีปริมาณอยู่ที่ 170,000 TEU เพิ่มขึ้น 62,000 TEU หรือ 56.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ปริมาณสินค้าผ่านท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อยู่ที่ 57.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.5% ขณะที่ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 978,400 TEU เพิ่มขึ้น 25.77% เมื่อเทียบเป็นรายปี รถไฟขนส่งข้ามพรมแดนจากกว่างซีสู่อาเซียนกำลังเติบโตต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาสแรกปีนี้ มีขบวนรถไฟจากจีนไปยังเวียดนามแล้วทั้งสิ้น 57 ขบวน เพิ่มขึ้น 128%

        ในฐานะจุดเชื่อมต่อสำคัญบนเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก กว่างซีได้เปลี่ยนข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งให้เป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนา สร้างผลงานความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แล้วมากมายในด้านการก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเชื่อมโยงพื้นที่ตอนในของจีนกับอาเซียน

‘หนานหนิง’ กับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์มุ่งตรงสู่อาเซียน

        หากกล่าวว่า กว่างซีเป็นเสมือน ‘เครื่องยนต์’ ขับเคลื่อนวงจรคู่ภายในและภายนอก “หนานหนิง” ซึ่งเป็นนครเอกของกว่างซีย่อมมีบทบาทสำคัญอย่างเห็นได้ชัด ในฐานะพื้นที่ครอบคลุมหลัก เมืองเชื่อมต่อที่สำคัญและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก ช่วงไม่กี่ปีมานี้ หนานหนิงได้ออกนโยบายโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างโครงการสำคัญที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ เช่น ท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง นิคมโลจิสติกส์นานาชาติจีน (นครหนานหนิง) – สิงคโปร์  และเขตสาธิตเศษฐกิจสนามบินหนานหนิง ถือเป็นการแสดงบทบาทของหนานหนิงในฐานะแกนหลักของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก และศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภูมิภาค ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาแบบวงจรคู่ทั้งในและต่างประเทศ

วันที่ 2 มี.ค. 65 เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สินค้าส่งออกแล่นออกจากท่าเรือชินโจว

        ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2565 รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ประกาศ “แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14” ที่ระบุว่า จะเร่งผลักดันกว่างซีสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อที่สำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาวงจรคู่ หนึ่งในนั้นคือการผลักดันการสร้างศูนย์กลางเกตเวย์นานาชาติผ่านศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจากหนานหนิงสู่อาเซียนและท่าเรือเกตเวย์อ่าวเป่ยปู้ เพื่อยกระดับความสามารถการบริการด้านโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ

        ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวได้ระบุถึงการสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์รูปแบบท่าเรือบก (Dry Port) ระดับชาติ ผ่านการเสริมสร้างการเชื่อมโยงกันระหว่างช่องทางหลักการขนส่งระหว่างประเทศโมเดล “เรือ+ราง” ของหนานหนิง เข้ากับเส้นทางรถไฟและทางหลวงระหว่างประเทศ เดินหน้าบ่มเพาะตลาดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านโมเดล “เรือ+ราง” รวบรวมแหล่งสินค้า และเชื่อมโยงเส้นทางเดินรถต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงดึงดูดผู้ประกอบการโลจิสติกส์ให้มาตั้งสำนักงานที่หนานหนิง ขณะเดียวกัน จะต้องพัฒนาโลจิสติกส์การบินอย่างจริงจัง เพิ่มจำนวนเส้นทางขนส่งสินค้าในประเทศและต่างประเทศในหนานหนิง ส่งเสริมการพัฒนาโมเดลการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางอากาศ สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เช่น การขนส่งด่วนระหว่างประเทศและอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เร่งการก่อสร้างเขตสาธิตเศรษฐกิจสนามบินหนานหนิง เพื่อผลักดันหนานหนิงก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางอากาศนานาชาติ

        ‘เขตโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ ท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง’ ในฐานะจุดเชื่อมต่อสำคัญบนระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก และหนึ่งในโครงการสำคัญของเมืองหนานหนิงในการก้าวสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางโลจิสติกส์ท่าเรือบกระดับชาติ ได้เริ่มต้นดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2565 ถือเป็นผลงานที่มีส่วนร่วมผลักดันการสร้างระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตกและการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับชาติของกว่างซี

วันที่ 2 เม.ย.65 รถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขบวนแรกของกว่างซีบน‘เส้นทางรถไฟจีน-ลาว’ เดินทางออกจากท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง

        “เขตโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ มีเนื้อที่ 118.75 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 1 พันล้านหยวน เนื้อที่สิ่งปลูกสร้าง 150,000 ตร.ม. คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้” ซ่ง เจียนเฉียง ผู้จัดการใหญ่บริษัท Nanning International Railway Port Investment Development Co., Ltd. กล่าว หลังจากเสร็จสิ้นการประชาสัมพันธ์การลงทุนเมื่อเดือน ธ.ค.2564 บริษัท Guangxi SF Express Co., Ltd. ได้ลงนามสัญญากับหน่วยงานด้านการรถไฟและเข้ามาตั้งสำนักงานภายในท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง โดยมีแผนจะสร้างคลังโลจิสติกส์จัดการพัสดุด่วน 2 แห่งภายในเขตโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ ผลักดันเขตโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ ท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิงสู่การเป็นศูนย์โลจิสติกส์กระจายสินค้าสู่อาเซียนที่ใหญ่ที่สุดของกว่างซี

โอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์ข้ามแดนในกว่างซี

        ในฐานะที่เป็นฐานสำคัญของยุทธศาสตร์สำคัญหลายโครงการ ทั้ง RCEP ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง บทบาทของกว่างซีในความร่วมมือจีน-อาเซียนยิ่งเด่นชัดมากขึ้น กว่างซีกำลังได้รับโอกาสครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จากกระบวนการยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ขณะที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในกว่างซีอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากเรื่องนี้

        วันที่ 2 เม.ย.2565 รถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขบวนแรกบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวของกว่างซีเดินทางออกจากท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง ถือเป็นการเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่อาเซียนสายที่ 3 ของกว่างซี ถัดจากเส้นทางรถไฟโมเดล “เรือ+ราง”ของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก และเส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม เฉียน เฟิง ผู้จัดการใหญ่บริษัท Sinotrans Guangxi Co., Ltd. หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการขนส่งข้ามแดนครั้งนี้กล่าวว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ การขนส่งทางรถไฟผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวช่วยประหยัดเวลาการขนส่งโดยรวมได้มากกว่า 10 วัน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งสินค้าครั้งละจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้กับภาคธุรกิจ ในมุมมองของเฉียน เฟิง การเปิดดำเนินการรถไฟจีน-ลาวได้มอบปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเส้นทางใหม่ที่สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสำหรับสินค้ากว่างซีในการเข้าสู่ตลาดลาว

ภาพจำลองเขตโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ ในท่ารถไฟนานาชาติหนานหนิง

        จากสถิติที่เผยแพร่โดยบริษัท China Railway Nanning Bureau Group Co., Ltd. เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ช่วงไตรมาสแรกปี 2565 มีผู้ประกอบการใช้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนผ่านด่านรถไฟผิงเสียงบนเส้นทางรถไฟจีน-เวียดนามทั้งสิ้น 55 ราย “จากสิทธิประโยชน์ด้านนโยบายและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น คำสั่งซื้อจากลูกค้าและสภาวะตลาดอยู่ในสถานะที่มั่นคงและมีแนวโน้มเชิงบวก นำพาแรงผลักดันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นมาสู่ภาคธุรกิจ” ฟาง เผิง ผู้จัดการใหญ่บริษัท Baosheng Zongheng International Logistics Co., Ltd. กล่าว

        เมื่อพิจารณาจากปัจจัยภายใน กว่างซีมีศักยภาพพื้นฐานเพียบพร้อมที่จะบรรลุการเปิดกว้างสู่ภายนอกคุณภาพสูง มีองค์ประกอบทรัพยากรครบถ้วน มีกำลังพร้อมรองรับภารกิจที่ใหญ่มากขึ้น ระหว่างทางของการบรรลุเป้าหมายระยะยาวว่าด้วย “การสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์สมัยใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะของกว่างซี มุ่งสู่การเป็นจุดศูนย์รวมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมอาเซียนและภูมิภาค RCEP เพื่อเป็นแรงสนับสนุนสำคัญของการเปิดกว้างและการพัฒนาคุณภาพสูงของกว่างซีให้สำเร็จภายในปี ค.ศ.2035” เชื่อมั่นว่าจะมีผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก “เส้นทางทองคำ” ที่เชื่อมโยงพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนกับอาเซียนเข้าด้วยกันสายนี้เข้าสู่ตลาดอาเซียนได้มากขึ้น และจะมีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนามากขึ้นด้วยเช่นกัน

Tags: