Highlight

ท่าเรือชินโจว กว่างซี ประตูการค้าเชื่อมไทยสู่จีนตะวันตก

8

November

2022

27

October

2022

        เมื่อเอ่ยถึงการค้าขายกับจีน เส้นทางยอดนิยมที่หลายคนมักนึกถึงคือการขนส่งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของจีนอย่างเช่นกว่างโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ แต่ปัจจุบัน “ท่าเรือชินโจว” กำลังเป็น“ทางเลือกใหม่”ที่มีความน่าสนใจ เพราะนอกจากจะอยู่ใกล้ไทยมากที่สุดแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นรองรับการขนส่งโมเดล “เรือ+ราง” สะดวกต่อการกระจายสินค้าต่อไปยังตลาดจีนตะวันตก โดยเฉพาะนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และมณฑลส่านซี อีกทั้งยังเชื่อมต่อการขนส่งไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย

        เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง จึงได้ร่วมกับสำนักงานวางแผน ก่อสร้าง และบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ และศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย จัดงานสัมมนารูปแบบผสมผสานออนไลน์+ออฟไลน์ ภายใต้หัวข้อ “ท่าเรือชินโจว – ประตูการค้าใหม่ของผู้ส่งออกไทยไปจีน” เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทางเลือกใหม่ของการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีนผ่านท่าเรือชินโจว ให้ภาคธุรกิจของไทยได้รับทราบ

        เบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง กล่าวว่า การแสวงหาทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 การขนส่งทางเรือจากท่าเรือชินโจวเป็นหนึ่งช่องทางที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เห็นว่ามีศักยภาพและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาลจากช่องทางนี้

        “ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีศักยภาพความพร้อม ในฐานะจุดเชื่อมต่อของระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ทั้งในด้านการเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย มีฟังก์ชั่นรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลการขนส่งแบบ ‘เรือ+ราง’ เป็นแห่งแรกในจีนที่เชื่อมต่อกับโครงข่าย China - Europe Railway ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลำเลียงสินค้าไทยไปขยายตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย  นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวยังได้ลงนามข้อตกลงท่าเรือพี่น้องกับท่าเรือแหลมฉบังมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานที่สำคัญในการขยายความร่วมมือทางท่าเรือระหว่างไทยกับจีน”

        หวง อู๋ไห่ รองผู้อำนวยการสามัญ สำนักงานวางแผน ก่อสร้าง และบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กว่างซีได้เร่งผลักดันการก่อสร้าง “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” อย่างต่อเนื่อง โดยวางให้อ่าวเป่ยปู้เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ทิศเหนือสามารถไปถึงกุ้ยโจว ฉงชิ่ง กานซู่และพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนผ่านทางรถไฟ เชื่อมต่อไปถึงเส้นทางรถไฟสายจีน-ยุโรป ขณะที่ทิศใต้เชื่อมต่อกับท่าเรือขนาดใหญ่ในอาเซียนและประเทศต่างๆ ทั่วโลก การคมนาคมทางน้ำมีการยกระดับอย่างต่อเนื่อง คุณภาพการบริการและประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด รูปแบบความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าแบบสองทางค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

เปิดศักยภาพท่าเรือชินโจว  

        ท่าเรือชินโจว ตั้งอยู่ที่เมืองชินโจว ศูนย์กลางของกลุ่มท่าเรือสากลรอบอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซี(หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ“อ่าวตังเกี๋ย”) เป็นจุดเชื่อมต่อของ “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือ ILSTC (New International Land-Sea Trade Corridor) ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่มณฑลภาคตะวันตกของจีนกำลังเร่งผลักดันเพื่อเชื่อมโยงยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) สามารถเป็นประตูเชื่อมสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ของจีน รวมถึงขนส่งต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรป (คาซัคสถาน รัสเซีย โปแลนด์ และเยอรมนี)

        ในช่วงที่ผ่านมา ท่าเรือชินโจวยังได้มีการพัฒนาเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะหรือ Smart Port โดยเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของจีน รองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และยังเป็นโมเดลการขนส่งเรือ+รางแห่งแรกของจีนด้วย ช่วยให้การขนส่งมีความรวดเร็ว ประหยัดเวลา (ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 4-5 วัน) ส่งผลให้การกระจายสินค้าต่อไปยังพื้นที่นครฉงชิ่งมีระยะทางสั้นกว่าเส้นทางขนส่งผ่านท่าเรือกว่างโจว หรือท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งต้องใช้เรือล่องแม่น้ำหรือรถบรรทุกอีกต่อหนึ่ง

“ การขนส่งผ่านท่าเรือชินโจวยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนรวมของการขนส่งได้มากถึง 18%-38% เมื่อเทียบกับการขนส่งผ่านเส้นทางอื่น ๆ จากไทยไปจีน”

        มากไปกว่านั้น การขนส่งผ่านท่าเรือชินโจวยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนรวมของการขนส่งได้มากถึง 18%-38% หากเปรียบเทียบกับการขนส่งผ่านเส้นทางอื่น ๆ จากไทยไปจีน

        ด้วยระบบท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่ Integrate เทคโนโลยี 5G ทำให้การขนส่งทำได้รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ที่ท่าเรือชินโจวมีความแออัดน้อย การระบายตู้สินค้าไม่ต้องรอคิวนาน นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก ผลไม้สด ธัญพืช ผัก รถยนต์ และเนื้อสัตว์ ควบคู่ไปกับการพัฒนานโยบายศุลกากรแบบ “International Single Window" เพื่อลดขั้นตอนการขนส่ง

โอกาสขยายตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย

        ปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว กล่าวถึงจุดเด่นของท่าเรือชินโจว คือ ความพร้อมในการเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่ง และทำเลที่ใกล้ไทยที่สุด ทำให้มีระยะเวลาในการขนส่งที่สั้น นอกจากนี้ จากการที่ท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีความร่วมมือท่าเรือพี่น้องระหว่างกัน ทำให้ปัจจุบันมีสายเดินเรือให้บริการประมาณ 5-6 เที่ยวต่อสัปดาห์ ซึ่งเที่ยวเรือที่สั้นที่สุดใช้เวลาประมาณ 4 วัน จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยไปเจาะตลาดมณฑลทางตะวันตกของจีน รวมถึงใช้ช่องทางนี้ในการขนส่งสินค้าทางเรือเชื่อมต่อรถไฟต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งจะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือแบบทั่วไป

        สำหรับสินค้าเกษตรที่มองว่า ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายตลาดส่งออกโดยใช้ท่าเรือชินโจว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งอาหาร แอลกอฮออล์ และอาหารสัตว์ ทำให้ตลาดจีนขาดแคลนวัตถุดิบ โดยปัจจุบัน โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังใหญ่ ๆ ล้วนตั้งอยู่ในเขตฯกว่างซี ไม่ว่าจะเป็นนครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่

        นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวยังถูกกำหนดให้เป็นด่านนำเข้าสินค้าเฉพาะ 3 ประเภท ได้แก่ ผลไม้นำเข้า ธัญพืชนำเข้า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นำเข้า  โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นำเข้า ท่าเรือชินโจวเป็นด่านนำเข้าด่านเดียวของกว่างซีที่อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ได้ จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ บวกกับความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain Logistic) ทำให้ท่าเรือชินโจวเป็นอีกช่องทางสำคัญที่จะเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันการค้าสินค้าอาหารสด อาหารแช่เข็ง ผลไม้นำเข้าระหว่างจีนกับไทย โดยการนำเข้าผลไม้ผ่านท่าเรือชินโจว ตามสถิติของกรมวิชาการเกษตร พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565  มีการส่งออกผลไม้ประมาณ 27,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุเรียน และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

        ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากความพร้อมของโมเดลการขนส่งแบบเรือ+ราง ทำให้ท่าเรือชินโจวเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการเปิดประตูสินค้าไทยสู่ภูมิภาคทางตะวันตกของจีนซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 382 ล้านคน แม้รายได้ของประชากรต่อหัวในมณฑลฝั่งตะวันตกอาจยังไม่สูงเท่ามณฑลฝั่งตะวันออก แต่รายได้ของประชากรเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 35-40 ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนในการกระจายการเติบโตไปยังภูมิภาคใหม่ ๆ ของประเทศ

        โอกาสสำหรับสินค้าไทยที่ไปเจาะตลาดจีนฝั่งตะวันตกโดยผ่านท่าเรือชินโจวยังมีอีกมาก ไม่เพียงแต่สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าผลไม้เมืองร้อน และสินค้าจำพวกขนมขบเคี้ยว สกินแคร์ ที่มาจากกระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวจีน แต่ยังมีสินค้ากลุ่มซัพพลายเชนภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางพารา และเคมีภัณฑ์ ที่จีนนำเข้าจากไทย ซึ่งหากดูในฝั่งของการผลิต นครฉงชิ่งถือเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ท่าเรือชินโจวจึงเป็นโอกาสสำหรับไทยในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าที่อยู่ในซัพลายเชนอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปยังฉงชิ่ง และสามารถเชื่อมต่อไปได้ทั่วประเทศจีน และประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ จากการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ยังเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการส่งออกสินค้าฮาลาลของไทย ซึ่งฝั่งตะวันตกของจีนมีประชากรมุสลิมประมาณ 28 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของประชากรจีนในฝั่งตะวันตก

        ด้าน วัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน จากยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ของจีน ทำให้มีการพัฒนาโครงข่ายด้านโลจิสติกส์ใหม่ ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกในการขนส่ง จากเดิมที่จะนึกถึงแต่การขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง เซินเจิ้นเท่านั้น แต่วันนี้มีท่าเรือชินโจวเป็นทางเลือกใหม่ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวเรือหลายสายเปิดให้บริการ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน และต่อจากจีนไปยังยุโรป สอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคนี้ที่มีความผันผวนมากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดโควิด-19 และสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน ทำให้ต้องมองการเชื่อมต่อการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ทุกช่องทาง

        “การขนส่งยุคนี้เป็นยุคของ Multimodal Transport ที่ต้องใช้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งตอนนี้มีทั้งรถไฟจีน-ลาว ท่าเรือชินโจว เป็นทางเลือกใหม่เพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตอนนี้ผู้ประกอบการไทยให้ความตื่นตัวอย่างมากกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ในส่วนของท่าเรือชินโจว จึงต้องรุกหนักมากขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และผู้ประกอบการของไทย เพื่อขยายโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้า โดยทางฝ่ายไทยยินดีที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการจีนเพื่อเปิดตลาดร่วมกัน”

        โดยสรุป การขนส่งผ่านท่าเรือชินโจวเป็นทางเลือกใหม่ที่จะนำมาซึ่งโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจับตาและมุ่งปรับตัวเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลวัติการเติบโตและเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนได้ในอนาคต

Tags: