Culture

ระดมสมองจัดตั้ง“ศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน”

12

January

2022

5

September

2021

            การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย-จีนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการดำเนินการจัดตั้ง“ศูนย์วัฒนธรรม”เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกันโดยขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมอยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งแรกในประเทศจีนโดยร่วมกับสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ผ่านระบบประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา

           อิทธิพล คุณปลื้มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ“ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน” ว่าไทยและจีนเป็นมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิดกันมาช้านานและมีการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกันต่อเนื่องหลายฉบับโดยแผนปฏิบัติการฯสำหรับปี 2562 - 2564 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 31 ธ.ค. 2564

           ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมจึงอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่โดยจะเสนอให้ขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 4 ปี สำหรับปี 2565 - 2568 เพื่อให้รองรับกับการดำเนินกิจกรรมเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568 พร้อมทั้งพิจารณาบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ความตกลงระหว่างกันว่าด้วยการจัดตั้งและสถานะของศูนย์วัฒนธรรมระหว่างสองประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนกิจกรรม และองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

           “ ที่ผ่านมาฝ่ายจีนได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีนในประเทศไทยเรียบร้อยแล้วบนถนนเทียมร่วมมิตรตั้งแต่ปี2555 และได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ถึงการสร้างคุณูประโยชน์ให้กับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในส่วนของฝ่ายไทย ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้เตรียมการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีนโดยสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนการจัดตั้งฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นที่กรุงปักกิ่งโดยกำลังสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสม”

           รมว.วัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวัฒนธรรมได้เข้ามามีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยในช่วงที่ผ่านมาไทยและจีนได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างกันทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัยอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี ความร่วมมือด้านภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์โบราณคดี พุทธศาสนา การแลกเปลี่ยนด้านภาษา การจัดแสดงศิลปะร่วมสมัย ฯลฯ เช่นเดียวกับการดำเนินการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยแห่งแรกในประเทศจีนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขันและนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมในการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

มองบทบาท“ศูนย์วัฒธรรม” กับการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีน

           ไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่จีนดำเนินความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวบ่อยครั้งและคึกคักที่สุดโดยในปีหน้าศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กำลังจะก้าวสู่ปีที่10 ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้น

            ฉาง อวี่เหมิง ที่ปรึกษาแผนกวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าวถึงบทบาทและความท้าทายของศูนย์วัฒนธรรมในการส่งเสริมความร่วมมือและผลักดันความสัมพันธ์ไทย-จีนว่า ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์วัฒนธรรมแห่งแรกของจีนในภูมิภาคอาเซียนเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2555 นายกรัฐมนตรีของทั้งสองได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรมมองผ่านบริบททางประวัติศาสตร์นี่คือการยกระดับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศให้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง

           “ ตอนนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยพัฒนาไปครบทุกด้านด้านเศรษฐกิจเรามีสถิติการค้าทวิภาคีด้านการเมืองเรามีความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ ดังนั้นหากเราสามารถจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมให้เกิดขึ้นได้ทั้งในประเทศจีนและประเทศไทยย่อมจะเป็นผลดีและสัญลักษณ์ของความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมของสองประเทศ”

           ประการที่สอง..แนวคิดของการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีนในต่างประเทศคือการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในประเทศนั้นๆ ให้สามารถเข้าใจประเทศจีนและวัฒนธรรมจีนได้ นับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเป็นต้นมาเราได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้

           อย่างไรก็ตามเวทีของการแลกเปลี่ยนนี้ไม่ใช่เวทีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเวทีของทั้งสองประเทศศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดความเข้าใจเรื่องสังคมและวัฒนธรรมไทยเราจึงต้องแนะนำประเทศจีนด้วยการนำเสนอผ่านวิธีการที่คนไทยชื่นชอบเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

           ประการที่สาม..ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อ ทั้งการอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยได้เข้ามารู้จักประเทศจีนและเข้าใจวัฒนธรรมจีนผ่านกระบวนการ “เชิญมาชม” ขณะเดียวกันเราก็พร้อมที่จะ“ก้าวออกไป”จัดงานในต่างจังหวัด ชุมชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพราะวิธีการ “ก้าวออกไป”จะช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีน-ไทยกว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

           ที่ปรึกษาแผนกวัฒนธรรมสถานทูตจีน ย้ำว่าศูนย์วัฒนธรรมไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างแต่จะต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่นหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมไทย จะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่สามารถเคลื่อนที่ได้การดำเนินงานลักษณะนี้จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนและการเผยแพร่วัฒนธรรมเป็นไปอย่างลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะต่อการสร้างคุณูปการ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ“ศูนย์วัฒนธรรม”

           ที่ปรึกษาแผนกวัฒนธรรมสถานทูตจีนกล่าวว่า ในยุคสมัยปัจจุบันกระแสประวัติศาสตร์และสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปศูนย์วัฒนธรรมจึงต้องแสวงหาวิธีการที่เหมาะสมกับยุคสมัยเพื่อทำหน้าที่ในการเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ  

           เมื่อมองไปข้างหน้าดิฉันคิดว่า ข้อที่หนึ่งคือการเพิ่มบทบาทให้มากขึ้นการสร้างและพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมจำเป็นต้องได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากรัฐบาลและทุกแวดวงสังคมของทั้งสองประเทศซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อน

           ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่แข็งแกร่งและยั่งยืนของทั้งสองประเทศจำเป็นต้องมีองค์ประกอบของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่มีความเข้าใจความชื่นชม และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง หากเราคว้าโอกาสไว้ได้จะทำให้ศูนย์วัฒนธรรมสามารถหลอมรวมเข้ากับงานการทูตวัฒนธรรมได้และเมื่อถึงช่วงเวลาที่สำคัญ วัฒนธรรมจะช่วยให้เราสามารถแสดงบทบาทได้อย่างโดดเด่นซึ่งล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชี้นำของผู้นำและการขยายบทบาททางสังคมของศูนย์วัฒนธรรม

           ลำดับต่อมาคือความพร้อมที่จะรองรับความต้องการที่หลากหลายชาวจีนมักกล่าวว่าวัฒนธรรมเปรียบเสมือนสายน้ำศูนย์วัฒนธรรมจึงควรทำหน้าที่เป็นเหมือนมหาสมุทรวัฒนธรรมที่จัดแสดงและเผยแพร่ไม่ควรถูกจำกัดด้วยคำนิยามที่คับแคบศูนย์วัฒนธรรมไม่ควรจะเป็นเพียงแค่การแสดงละคร การฟ้อนรำ นิทรรศการหรือวรรณกรรมต่างๆแต่ควรเป็นเวทีที่สามารถใช้ประโยชน์ในการถ่ายทอดพลังทางวัฒนธรรมของประเทศไปในทุกๆด้าน

           ถึงแม้ว่าศูนย์วัฒนธรรมของจีนและไทยจะจัดตั้งและดำเนินงานภายใต้การรับผิดชอบร่วมกันของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านวัฒนธรรมและการต่างประเทศแต่ทรัพยากรและหน้าที่รับผิดชอบของศูนย์วัฒนธรรมนั้นไม่ได้เป็นของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ศูนย์วัฒนธรรมทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติศูนย์วัฒนธรรมจึงเป็นตัวแทนของประเทศต้องมีความพร้อมที่จะรองรับความต้องการที่หลากหลายยินดีให้บริการทุกหน่วยงานของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาความร่วมมือและการติดต่อประสานงานกับต่างประเทศ    

           ข้อที่สาม..ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ เพื่อเชื่อมโยงหัวใจทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน ปัจจุบันความต้องการของประชาชนได้ก้าวข้ามความคิดแบบดั้งเดิมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พวกเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของโลกในยุคอินเทอร์เน็ตการสร้างและพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมในสังคมยุคดิจิทัลจะต้องพิจารณาถึงรูปแบบของการทำงาน รูปแบบของการนำเสนอวัฒนธรรมและรูปแบบของการเผยแพร่ข้อมูลด้วย จึงจะสามารถ “เชื่อมโยงจิตใจ” ได้สำเร็จศูนย์วัฒนธรรมจึงต้องมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อบูรณาการกับความต้องการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศและเชื่อมโยงกับความต้องการและเอกลักษณ์ของยุคสมัยด้วย

           ประเทศจีนมีสำนวนหนึ่งกล่าวว่า“ปลูกแตงได้แตง ปลูกถั่วได้ถั่ว”หากเราเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของเราเป็นดั่งต้นไม้ใหญ่ รากของต้นไม้ใหญ่ก็คือความต้องการของประชาชนบทบาทและหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมคือการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ให้รากของต้นไม้ฝังลึกลงในดิน เติบโตอย่างแข็งแรง...

           “โอกาสนี้ ดิฉันเชื่อว่าศูนย์วัฒนธรรมจะสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทยที่ประเทศจีนได้ในอนาคตอันใกล้นี้” ฉางอวี่เหมิง ที่ปรึกษาแผนกวัฒนธรรมสถานทูตจีน กล่าวทิ้งท้าย  

Tags: