China-ASEAN Expo

อาเซียนคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน การค้าระหว่างกัน 30 ปีเพิ่มขึ้น 85 เท่า

12

January

2022

15

September

2021

จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่อาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2563

            ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เปิดฉากขึ้นในปี 2534 เมื่อ เฉียน ฉีเซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 24 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จนถึงวันนี้นับเป็นระยะเวลา30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-จีนโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยได้พัฒนาไปอย่างรุดหน้าปลดปล่อยพลังอันยิ่งใหญ่ และส่งมอบผลประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชน 2,000 ล้านคนใน 11 ประเทศ

            ภายใต้การดูแลและคำแนะนำร่วมกันของผู้นำของจีนและประเทศในอาเซียนทำให้ระดับของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียนมีการยกระดับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องโดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาขนาดของมูลค่าการค้าระหว่างจีน-อาเซียนได้เพิ่มขึ้นถึง 85เท่า

            นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนแบบสองทางที่แข็งแกร่ง รวมถึงความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น ควบคู่กับการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนยังมีการลงนาม RCEP เพื่อขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาค

            ขณะที่การไปมาหาสู่กันด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียนมีความสะดวกสบายมากขึ้นเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ในฐานะสถานที่จัดงานมหกรรมจีน-อาเซียนได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของจีนที่เชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน

            ปัจจุบันทั้งจีนและอาเซียนสองฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าอันดับ1 ของกันและกัน การค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแม้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำจากสถานการณ์โควิด–19 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่อาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในปี2563  

การค้าจีน-อาเซียน 8 เดือนแรกเติบโต 22.8%

            จากสถิติของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของจีนด้วยยอดการค้าที่สูงถึง 3.59 ล้านล้านหยวน เติบโต 22.8%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยคิดเป็นสัดส่วน 14.5% ของยอดการค้าต่างประเทศของจีนในจำนวนนี้ยอดมูลค่าการส่งออกของจีนไปยังประเทศอาเซียนคิดเป็น 1.98 ล้านล้านหยวน ขยายตัว 21.3%ขณะที่ยอดมูลค่าการนำเข้าของจีนจากประเทศอาเซียนคิดเป็น 1.61 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 24.8%

            ในส่วนของประเทศไทยการค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี2564 มีมูลค่า 59,029  ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 30.6%โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 21,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น และนำเข้าจากจีน 37,269 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์เป็นต้น

การค้าสินค้าเกษตรจีน-อาเซียน โต 1.4 ล้านล้านบาท

            ปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนยังกลายเป็นหุ้นส่วนการค้าทางการเกษตรรายใหญ่ที่สุดของจีนรายงานข่าวจากสำนักข่าวซินหัวระบุว่าปริมาณการค้าสินค้าเกษตรระหว่างจีนกับอาเซียนมีมูลค่าสูงถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาทในปี 2563 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบปีต่อปี สะท้อนการฟื้นตัวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 โดยภาคเกษตรกรรมนับเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือจีน-อาเซียนมาอย่างต่อเนื่องและความพยายามร่วมกันระหว่างสองฝ่ายได้นำไปสู่ผลลัพธ์อันดีซึ่งจนถึงขณะนี้จีนลงนามข้อตกลงทวิภาคีในความร่วมมือการเกษตรกับกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า30 ฉบับแล้ว

            ขณะที่รายงานข่าวของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีนระบุว่า นับถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2564ยอดการลงทุนซึ่งกันและกันระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนมีมูลค่ากว่า 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่บทบาทของเมืองหนานหนิงในฐานะประตูการขนส่งระหว่างจีน-อาเซียนค่อยๆปรากฏมากขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียนอย่างต่อเนื่องขบวนรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ข้ามแดนจีน-เวียดนาม(เมืองหนานหนิงของจีน-กรุงฮานอยของเวียดนาม) ได้เปิดให้บริการเดินรถเมื่อปี 2563 นับถึงสิ้นเดือนส.ค.ปีนี้ ได้เดินรถไฟทั้งหมด 199 ขบวน เพิ่มขึ้นถึง 95%

             ขณะที่เส้นทางการบินระหว่างเขตกว่างซีกับอาเซียนก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดจีนยังได้เปิดเส้นทางการบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะจากหนานหนิงไปยังกรุงเทพฯกัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ มะนิลา และโฮจิมินห์ เป็นต้นซึ่งได้ยกระดับขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางอากาศของเขตกว่างซีสู่อาเซียนอย่างทรงพลัง

           นอกจากการเชื่อมต่อด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่จับต้องได้เขตกว่างซีกำลังสร้าง“เมืองท่าข้อมูลจีน-อาเซียน”อย่างแข็งขันโดยถือเมืองหนานหนิงเป็นฐานหลักเพื่อสร้าง “เส้นทางสายไหมข้อมูล” ที่มุ่งสู่อาเซียน ในขณะเดียวกัน“เมืองการเงินจีน-อาเซียน” ก็จะถูกสร้างขึ้นในระดับสูง นับถึงเดือนก.ค.ปีนี้  “เมืองการเงินจีน-อาเซียน”ได้ดึงดูดองค์กรประเภทต่างๆกว่า 9,000 องค์กรเข้าประจำการ ในจำนวนนี้เป็นองค์กรการเงิน(วิสาหกิจ) 244 แห่ง

           ในฟอรั่มผู้นำธุรกิจจีน-อาเซียนภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดการค้าและการลงทุนจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 ภายใต้หัวข้อ“สายสัมพันธ์ 30 ปีจีน-อาเซียนจับมือก้าวสู่ศักราชใหม่ไปด้วยกัน” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยได้พัฒนารุดหน้าและดำเนินไปอย่างแน่นแฟ้นขณะเดียวกัน จีนและอาเซียนยังได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการต่อสู้และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจนถือเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างประเทศ ขอให้จีนและอาเซียนได้จับมือกันก้าวไปข้างหน้าและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นไปอีก

           “ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของระบบการค้าพหุภาคีในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกันกับจีนและการที่ไทยได้เข้าร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สะท้อนให้เห็นว่าไทยสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง ครอบคลุมทันสมัย ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกันและยึดตามกฎเกณฑ์ด้วยเหตุนี้ไทยและจีนจึงควรดำรงไว้ซึ่งความร่วมมืออย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งร่วมมือกับประเทศสมาชิก RCEP เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เปิดกว้างโปร่งใส ยุติธรรม และมีเสถียรภาพ” รองนายกฯจุรินทร์กล่าวย้ำ

Tags: