Highlight

100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน เส้นทางมหาอำนาจโลกยุคใหม่

12

January

2022

1

July

2021

        ตลอดศตวรรษแห่งการต่อสู้และฟื้นฟูชาติที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน..กว่า 7 ทศวรรษของการสถาปนา ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ประเทศจีนได้เปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่บอบช้ำจากสงคราม ประสบความสำเร็จในการก้าวกระโดดครั้งประวัติศาสตร์ จาก “ลุกขึ้น” สู่ “รวยขึ้น” ไปจนถึง “แข็งแกร่งขึ้น”

        นับเป็นความสำเร็จที่น่ามหัศจรรย์และไม่ธรรมดา สำหรับประเทศที่มีอาณาเขตที่อันกว้างใหญ่ มีประชากรถึง 1,400 ล้านคนมากที่สุดในโลก...จีนก้าวมาถึงวันนี้ได้อย่างไร?

1 ศตวรรษแห่งการต่อสู้และฟื้นฟูชาติ  

        หลังสิ้นสุดสงครามฝิ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1840 ประเทศจีนตกอยู่ในสภาพสังคมกึ่งอาณานิคม กึ่งศักดินา เป็นช่วงประวัติศาสตร์แห่งความอัปยศอดสู ภายหลังการรุกรานของมหาอำนาจตะวันตก

        นับตั้งแต่นั้นมา การฟื้นฟูชาติเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวจีนและชาติจีน

        ในเวลานั้น กลุ่มอำนาจทางการเมืองต่าง ๆ ในจีนได้ผลัดกันขึ้นมาเป็นผู้นำ ผ่านการลองผิดลองถูก ทดลองการปกครองประเทศมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภา และระบบหลายพรรค เป็นต้น แต่ทั้งหมดล้วนไม่ได้ประสบความสำเร็จ

        จนกระทั่งได้มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1921 ด้วยปณิธานอันแรงกล้าในการนำความสุขมาสู่ประชาชนจีน และฟื้นฟูประเทศชาติให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

        ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนพัฒนาเติบโตขึ้นจากพรรคการเมืองเล็กๆที่มีสมาชิกเพียง 50 กว่าคนในช่วงเริ่มก่อตั้ง จนมาเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกกว่า 95 ล้านคนและมีองค์กรระดับพื้นฐาน 4.864 ล้านองค์กรในปัจจุบัน โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้บริหารปกครองจีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในโลกเป็นเวลานานกว่า 72 ปี อีกทั้งยังเป็นพรรครัฐบาลใหญ่ที่สุดในโลก

        ย้อนกลับไปเมื่อแรกก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ขณะนั้นจีนยังเป็นประเทศที่ล้าหลังและยากจน เป็นสังคมกึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินา ประธานเหมา เจ๋อตง เป็นผู้นำจีนรุ่นแรกที่ทำให้จีนลุกขึ้นยืนได้อย่างสง่าผ่าเผย ต่อมาในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำจีนที่ได้ชูนโยบายปฏิรูปและการเปิดประเทศเมื่อราว 40 กว่าปีก่อน จนส่งผลให้จีนมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

        เศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นจาก 149,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดประเทศในปี ค.ศ.1978 (ครองสัดส่วน 1.7% ของโลก) มาเป็นเกือบ 14.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ.2020 (ครองสัดส่วน 17% ของโลก)

        ในปี ค.ศ.1997 จีนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่มีรายได้ต่ำมาสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และใช้เวลาอีก 12 ปีในการเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง และก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา

        นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 จนถึงปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก้าวสู่ยุคสังคมนิยมยุคใหม่ที่มีเอกลักษณ์ของจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาใหม่ และได้ปฏิบัติตามแนวความคิดใหม่ด้านการพัฒนาประเทศที่เน้นนวัตกรรม ความสมดุล การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดกว้างและการแบ่งปัน เน้นผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีคุณภาพในระดับสูง สร้างประเทศให้มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

บรรลุเป้าหมาย“สังคมเสี่ยวคัง”

         ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศ “เป้าหมาย 100 ปีสองวาระ” ซึ่งเป็น“ความฝันร่วมกันของประชาชาติ” วาระแรก คือ การสร้าง “สังคมมีกินมีใช้” อย่างรอบด้าน (Moderately prosperous society)หรือ “สังคมเสี่ยวคัง” ให้ทันภายในปีค.ศ.2021 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน และวาระที่สอง คือ การสร้างจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ (Modern Socialist China) ภายในกลางศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับการฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ.2049

         วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะกล่าวคำปราศรัยสำคัญในงานเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน ประกาศอย่างเป็นทางการและหนักแน่นว่า จีนได้บรรลุเป้าหมายการต่อสู้รอบ 100 ปีประการแรก คือ ประสบความสำเร็จในการสร้าง “สังคมมีกินมีใช้” อย่างรอบด้าน

         จีนซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนเมื่อหลายสิบปีก่อน ได้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มากกว่า 100 ล้านล้านหยวน (ราว 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวสูงกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าเมื่อปี พ.ศ. 2543 ถึง 10 เท่าตัว

         ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า จีนได้ชัยชนะในการต่อสู้ความยากจน มีประชากรในชนบทจำนวน 98.99 ล้านคนซึ่งอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในปัจจุบันได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้วทั้งหมด รวมถึงอำเภอยากจน 832 แห่งและหมู่บ้านยากจน 12,800 แห่งก็ได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว

        นับตั้งแต่จีนเริ่มการปฏิรูปและการเปิดประเทศในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผู้อยู่อาศัยในชนบทที่ยากไร้ 770 ล้านคนได้หลุดพ้นจากความยากจน นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนในการช่วยลดจำนวนคนยากจนทั่วโลกมากกว่า 70% สหประชาชาติได้ยกย่องให้จีนประสบความสำเร็จในการลดความยากจน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในการแก้ปัญหาความยากจน

        จีนกับความท้าทายก้าวต่อไปภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังนำพาจีนรุดหน้าสู่ความแข็งแกร่งและความมั่นคงยิ่งขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์สองหมุนเวียน (Dual Circulation) ซึ่งอาศัยการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นแกนหลัก โดยการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน  

        ขณะเดียวกันจีนยังยึดมั่นในความเปิดกว้างและความร่วมมือพหุพาคีนิยม เดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับโลก โดยที่ผ่านมาจีนได้มีการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศภายใต้ “สายแถบและเส้นทาง” เป็นมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

        ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 จีนยังได้จัดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติประเทศจีน (China International Import Expo) ขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งแรก เพื่อแบ่งปันโอกาสอันดีในตลาดการค้าขนาดใหญ่ของประเทศ พร้อมทั้งเดินหน้าสานต่อความร่วมมือในระดับพหุภาคีเพื่อขยายการค้าและการลงทุนกับประชาคมโลก  

        ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำถึงการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยกล่าวว่า การเปิดกว้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาและความก้าวหน้า ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

จีนกับการผงาดขึ้นสู่มหาอำนาจโลก

        ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จนเศรษฐกิจติดลบ แต่ เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตสวนกระแส และมีจังหวะของการฟื้นตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศเดียวที่มีการขยายตัวในปีพ.ศ.2563 GDPของจีนขยายตัว 2.3% พุ่งทะยานทะลุ 100 ล้านล้านหยวน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 101.6 ล้านล้านหยวน

        ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ Centre for Economics and Business Research (CEBR) ของอังกฤษ คาดการณ์ว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกในปี พ.ศ. 2571 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 5 ปี

        ปัจจุบัน ประเทศจีนได้สร้างคุณูปการให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกมากกว่า 30% ต่อปี เทียบกับเมื่ออดีตหลายสิบปีก่อน ชาวจีนวันนี้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การพัฒนาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีจำนวนชนชั้นกลางมากที่สุดในโลก

        ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การบริโภคของจีนได้กลายเป็นแรงผลักดันหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพมากที่สุดในโลก

        ข้อมูลสถิติในปี พ.ศ. 2561 ชี้ให้เห็นว่าประชากรจีนเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเกือบ 150 ล้านครั้ง และนักท่องเที่ยวชาวจีนกลายเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก

        ในวันนี้ประเทศจีนคือขุมพลังทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก ซึ่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ยานยนต์ เรือ รถไฟความเร็วสูง หุ่นยนต์ สะพาน อุโมงค์ ถนน เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

        ปัจจุบัน จีนกำลังพัฒนาจาก "โรงงานแปรรูประดับโลก” ก้าวสู่ผู้นำทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก ทั้งด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินออนไลน์ ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า และบล็อกเชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนจะยังคงรักษาบทบาทการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปในอนาคต รวมถึงก้าวจากประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาอย่างรวดเร็วไปสู่การพัฒนาคุณภาพสูง

        นอกจากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนก็เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน

        ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนมีจำนวนคำร้องขอจดสิทธิบัตรเฉลี่ยต่อปี 1.4 ล้านรายการ มากที่สุดในโลก จีนได้สร้างนวัตกรรมของตนเองในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ วัสดุตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูง อุปกรณ์นาโน วิทยาศาสตร์ชีวภาพ การบินอวกาศพร้อมมนุษย์ โครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร วิทยาศาสตร์ควอนตัม การสำรวจทะเลลึก การผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

        สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานได้ยกระดับความทันสมัยให้สูงขึ้นอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก จีนมีความยาวทางรถไฟความเร็วสูงทะลุ 35,000 กิโลเมตร ครองอันดับหนึ่งของโลก เป็นประเทศที่มีซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากที่สุดและมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์เร็วที่สุดในโลก เทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรมของจีนได้รับการเร่งพัฒนาอย่างหลอมรวมเข้าด้วยกัน และจีนยังมีโครงข่าย 5G ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย  

        ที่ผ่านมา จีนยังประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม 30 ดวงและสร้างเครือข่ายทั่วโลกสำหรับระบบนำทาง “เป๋ยโต่ว” ที่มีความก้าวหน้า ล่าสุด จีนยังเพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศเสินโจว-12 พามนุษย์อวกาศชุดแรกเดินหน้าภารกิจสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่

        ขณะที่ในด้าน Soft Power ของจีนก็ได้มีการพัฒนาอย่างมาก ทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน รวมถึงรูปแบบการพัฒนา ความสำเร็จในการพัฒนา และแนวคิดทางการทูตจีนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก

        ภาษาจีนกลายเป็นภาษาดาวรุ่งที่โดดเด่นที่สุดในยุคหลังมานี้ การศึกษานับเป็นเครื่องมือทางการทูตที่สำคัญ การก่อตั้งสถาบันขงจื่อ โดยสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ หรือฮั่นปั้น(Hanban) ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงศึกษาธิการของจีน เป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจในการสร้างความเป็นพหุวัฒนธรรม โดยปัจจุบันจีนได้จัดตั้งสถาบันขงจื่อเพื่อเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีนในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

        ในด้านการแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าทั้งวงการบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว และภาษาจีนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ผ่านซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงการให้ทุนการศึกษาจำนวนมากในระดับต่างๆ เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศ

        ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนยังให้ความสำคัญการใช้ช่องทางเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เป็น Soft Power Diplomacy ผ่านความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆทั่วโลก และเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของประเทศจีน

        ขณะที่ปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สั่นสะเทือนทั่วโลก จีนได้แสดงบทบาทในการให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาและสนับสนุนวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดแก่หลายประเทศทั่วโลก

        ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศจีนได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาอันหนักแน่นด้วยปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการให้วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะของทั่วโลก จนถึงปัจจุบันจีนได้ส่งออกวัคซีนไปแล้วมากกว่า 350 ล้านโดส จีนได้ส่งออกวัคซีนไปยัง 50 กว่าประเทศ และบริจาควัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนากว่า 80 ประเทศ

        ในด้านแสนยานุภาพทางการทหาร ในยุคศตวรรษที่ 21 ศักยภาพของการป้องกันประเทศและกองทัพของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จีนมีความก้าวหน้าที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านการทหาร ขนาดทางการทหาร อุปกรณ์และเทคนิค ระดับการฝึก และประสิทธิภาพการต่อสู้อยู่ในระดับต้นๆของโลก

        ปัจจุบัน กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีกำลังทหาร 2 ล้านนาย และมุ่งมั่นสั่งสมกองกำลังสู้รบรูปแบบใหม่ที่สามารถปฏิบัติการพิเศษ โจมตีและป้องกันทุกมิติ ปฏิบัติการทั้งในน้ำและบนบก ปกป้องน่านน้ำที่อยู่ห่างไกล และวางแผนยุทธศาสตร์

        ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง ยังได้ดำเนินการปฏิรูปกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเพื่อให้ก้าวสู่การเป็นกองกำลังทหารระดับโลก

        ขณะที่การใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศของ “จีน” เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 41,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ.2543 เป็น 245,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 และหากย้อนกลับไปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นมากถึง 800% ทำให้ในปัจจุบัน จีนใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

        ทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้ฉายให้เห็นการผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นของจีนบนเวทีโลก กลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่ไม่ว่าจะขยับตัวไปในทิศทางไหน นานาชาติล้วนต้องเฝ้าจับตามอง

        เบื้องหลังความสำเร็จของจีนในวันนี้มาจากความเพียรพยายามของชาวจีนรุ่นแล้วรุ่นเล่าในการแสวงหาเส้นทางการพัฒนาประเทศ โดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าของการทำให้ประชาชนจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กล่าวได้ว่าหากไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คงไม่มีจีนที่แข็งแกร่งและมั่นคงในยุคปัจจุบัน

Tags: