Business

SCG Logistics ขยายบริการขนส่งทางราง เชื่อม ‘ไทย-ลาว-จีน’ ขยายโอกาสธุรกิจข้ามแดน

10

October

2022

20

August

2022

        บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เผยแผนธุรกิจบริการขนส่งข้ามแดน เดินหน้าขยายเส้นทางขนส่งทางราง ‘ไทย-ลาว-จีน’ ขยายโอกาสทางธุรกิจผู้ประกอบการไทย

        โดยหากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถด้วยเส้นทางเชียงราย-คุนหมิง จะพบว่าการขนส่งเส้นทางใหม่ทางระบบรางด้วย‘รถไฟจีน-ลาว’ เชื่อมคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ ระยะทางรวมกว่า 1,020 กม. จะสามารถลดระยะเวลาในการขนส่งจากเดิมประมาณ 2 วัน เหลือเพียง 10-15 ชม. และเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือ จะทำให้ประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้สูงสุดถึง 20% ในหลายปลายทาง อาทิ คุนหมิง, เฉิงตู, ฉงชิ่ง จึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

        ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี โลจิสติกส์ ยังเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางกับทางรถเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยบริการแบบ Door to Door Service โดยการรับตู้เปล่าจาก สปป.ลาว มาบรรจุสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนขนส่งไปยังด่านหนองคาย พร้อมทำการคืนตู้หนัก เคลียร์พิธีการขาออกจากไทย และพิธีการขาเข้า สปป.ลาว ที่ด่านท่าบกท่านาแล้งแบบครบวงจร จากนั้นดำเนินการขนส่งสินค้าทางรางไปยังประเทศจีน เคลียร์พิธีการขาออกจาก สปป.ลาวและพิธีการขาเข้าประเทศจีนอีกครั้ง เพื่อลากตู้ต่อไปยังสถานีปลายทาง และยังสามารถกระจายสินค้าไปสู่มณฑลต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศจีน  

        ทั้งนี้ เอสซีจี โลจิสติกส์ ได้ร่วมทุนกับบริษัท Jusda Supply Chain Management International ในเครือ Foxconn ก่อตั้งเป็นบริษัทร่วมทุน China ASEAN Supply Chain Management หรือ CAS เมื่อปี 2552 เพื่อให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร มุ่งเน้นการให้บริการทางตอนใต้ของจีนและเชื่อมต่อกับอาเซียน

        สำหรับบริการขนส่งทางราง ‘ไทย-ลาว-จีน’นี้ สามารถให้บริการได้ทุกกลุ่มสินค้า อาทิ กลุ่มสินค้าอาหาร พืชผักผลไม้  สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัสดุก่อสร้าง และอื่น ๆ โดยค่าบริการขนส่งในเส้นทาง ไทย-ลาว-จีน แบบ Door to Door Service จะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท / FEUs  

        นอกจากเส้นทาง ‘ไทย-ลาว-จีน’ เอสซีจี โลจิสติกส์ ได้พัฒนาเครือข่ายการขนส่งข้ามชายแดน (Cross Border Service) โดยการสร้างฐานและขยายเครือข่ายผู้บริการขนส่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้แก่ ไทย, เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และจีนตอนใต้ ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่งานพิธีการส่งออก รถขนส่งทั้งฝั่งไทยและรถขนส่งท้องถิ่น

Tags: