Highlight

EEC จับมือธนาคาร ICBC เร่งเครื่องการลงทุนจากจีน..รับเปิดประเทศ

12

January

2022

25

November

2021

        EEC เดินหน้าเร่งเครื่องการลงทุนจากจีนในพื้นที่ EEC หลังเปิดประเทศ จับมือ ‘ธนาคาร ICBC’ ลงนาม MOU เสริมแกร่งการลงทุน ตั้งเป้าดึงดูด 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สุขภาพและการแพทย์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซคาร์บอน และโลจิสติกส์  

        เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC และ เสี่ยวปอ หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) สร้างความร่วมมือและส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC และเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีพร้อมผลักดันการลงทุนระหว่างนักลงทุนจากประเทศจีนและประเทศไทย

        คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC กล่าวว่า การลงนาม MOU ร่วมกับธนาคาร ICBC ครั้งนี้นับเป็นฉบับที่ 2 ต่อเนื่องจาก MOU ฉบับแรกที่ลงนามไปเมื่อปี 2560 ซึ่งถือเป็นยกระดับความร่วมมืออีกขั้น โดยมีระยะเวลา 3 ปี สาระสำคัญได้แก่

  1. สร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุน และอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในพื้นที่ EEC ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สถานการณ์ตลาด นโยบายที่สำคัญจากภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพ การสนับสนุนให้คำปรึกษา และให้บริการทางด้านการเงินของธนาคาร ICBC รวมถึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. ส่งเสริมการลงทุนและสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ในพื้นที่ EEC ต่อยอดการลงทุนให้กับภาคเอกชนไทย ผ่านการสนับสนุนของธนาคาร ICBC อำนวยความสะดวกการให้คำปรึกษา และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน กระชับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนจีนและไทย เพื่อขยายโอกาสการลงทุน
  3. สร้างความร่วมมือและศึกษาการจัดตั้งและพัฒนากองทุนรวมตราสารทุน หรือ EEC Equity Fund เพื่อขยายผลและสร้างโอกาสการลงทุนในพื้นที่ EEC ในโครงการที่เหมาะสมต่อไป

        การลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ ยังช่วยเสริมศักยภาพนักลงทุนให้เกิดความคล่องตัวด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 4 แกนธุรกิจ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 2) อุตสาหกรรมดิจิทัล 3) Decarbonization ซึ่งครอบคลุมเรื่องยานยนต์สมัยใหม่หรือ EV ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Mobility และ 4) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Green and Circular Economy) ผลักดันให้ EEC ก้าวสู่พื้นที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลก

        เลขาธิการ EEC กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังโควิดการลงทุนจากจีนจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนที่มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไป และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อยกระดับด้านการท่องเที่ยวและการแพทย์ระหว่างไทย-จีน

        “กระแสการลงทุนจากจีนในระยะหลังมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เพราะอุตสาหกรรมของจีนก้าวไปไกลมากในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Automation ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Data และ ยานยนต์ EV ในอนาคตเราตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุนยุคใหม่เหล่านี้ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ในพื้นที่ EEC ซึ่งเราได้หารือกับ ICBC เพื่อเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนในจีน ทันทีที่จีนเปิดประเทศในปีหน้า”  

        ด้านเสี่ยวปอ หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้  ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของธนาคารในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่เป็นความร่วมมือต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 จากการที่ธนาคาร ICBC ประเทศจีน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน โดยพร้อมจะทำหน้าที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน  ส่งเสริมนักลงทุนที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ EEC รวมไปถึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจากจีน ผ่านเครือข่ายของธนาคาร ICBC ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีเครือข่ายสาขามากกว่า 16,000 แห่งทั่วจีน และเครือข่ายครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลก ทั้งยังมีฐานลูกค้า Corporate ณ เดือนมิ.ย. 2564 มากกว่า 9.24 ล้านราย  

        นอกจากนี้ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ยังได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกลางแห่งประเทศจีนและธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย (RMB Clearing Bank in Thailand) จึงมีศักยภาพในการให้บริการผลิตภัณฑ์และธุรกรรมเงินหยวนที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนชาวจีนได้อย่างครบถ้วน

Tags: