Culture

‘ไทย-จีน’ เสวนาแลกเปลี่ยนความร่วมมือธุรกิจบันเทิง

22

April

2024

30

November

2022

        สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, บริษัท เซนจูรี่ ยูยู เทคโนโลยี จำกัด และสถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลเจียงซู ประเทศจีน จัดงานเสวนา “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพความร่วมมือในวงการอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างจีน-ไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความคิดสร้างสรรค์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างจีน–ไทย

        เหยียน เฉิงเซิ่ง อธิบดีกรมการต่างประเทศ สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน กล่าวว่า  หลายปีที่ผ่านมา สื่อวิทยุและโทรทัศน์จีน-ไทย ได้มีความร่วมมือกันอย่างรอบด้าน จุดประกายความร่วมมือด้านวัฒนธรรมอย่างโดดเด่นระหว่างสองฝ่ายและทั่วภูมิภาค สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์และวิทยุ รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลให้เจริญก้าวหน้ามุ่งสู่การพัฒนาร่วมกัน

        การจัดงานเสวนาครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพความร่วมมือในวงการอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างจีน-ไทย” พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การแสดงบทบาทในการเสริมสร้างสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย การสานบทบาทในการเป็นกลไกขับเคลื่อนความก้าวหน้าร่วมกัน โดยใช้โอกาสใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยี ผ่านการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศ รวมถึงนิทรรศการเผยแพร่รายการดีเด่นจีน-ไทย เป็นต้น

        หลี่ ฝูเต๋อ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Century UU ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิต การจำหน่ายภาพยนตร์และละครระหว่างจีน-ไทย กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไม่เคยเป็นการแลกเปลี่ยนแบบทางเดียว วัฒนธรรมถือเป็นตัวเชื่อมโยงโลกที่ดีที่สุด ดังนั้น เราจึงคัดสรรเนื้อหาดี ๆ จากต่างประเทศมาให้ชาวจีนได้รับชม เพื่อให้ชาวจีนเพลิดเพลินกับละครคุณภาพเยี่ยมจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เรามุ่งมั่นที่จะใช้วัฒนธรรมเพื่อเชื่อมโยงโลก รวมถึงสื่อสารเรื่องราวที่น่าสนใจและภาพลักษณ์อันดีของประเทศจีน

ละครไทยในสายตาชาวจีน

        โจว หยวน ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ Anhui Television กล่าวว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทางช่องได้ฉายละครซีรีส์ไทยไปมากกว่า 1,000 ตอน หากไม่มีโควิดคงได้นำเข้ามาฉายมากกว่านี้ โดยละครส่วนใหญ่ที่เรานำเข้ามาฉายคือผลงานที่มีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ของไทย

        ด้าน โจว เผิง หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่และปฏิบัติการในประเทศของแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ Youku กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถิติผู้ชมละครไทยบนแพลตฟอร์ม Youku เช่น เรื่อง บุพเพสันนิวาส โซ่เวรี เกมเสน่หา และปดิวรัดา พบว่า ผู้ชมกว่า 70-80% เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองรองระดับ 2 ตามมาด้วยเมืองระดับ 1 และ 3 กับ 5  ขณะที่กลุ่มผู้ชมอายุระหว่าง 25-39 ปีมีจำนวนมากเกินกว่าครึ่ง ในจำนวนนี้กลุ่มผู้หญิงวัย 30-34 ปีมีสัดส่วนสูงที่สุด

        นอกจากนี้ จากการสำรวจผู้ที่ชื่นชอบละครไทย พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ชอบละครไทย ได้แก่ 1.นักแสดงนำหน้าตาดี 2.พล็อตเรื่องดราม่าเข้มข้น มีการหักมุม ดำเนินเรื่องเร็ว ซึ่งเป็นจุดเด่นของละครไทย 3.ตัวประกอบในละครไทยมีความน่าสนใจ เช่น การแสดงสีหน้าที่เกินจริง มีท่าทางที่หลากหลาย พวกฉากตลกต่าง ๆ เป็นฉากที่สร้างการจดจำได้ดี

ช่อง 3 สนใจจับมือจีนผลิตละคร

        สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ ที่ผ่านมา บีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 มีการจัดทำละครมาทุกรูปแบบเพื่อตอบสนองความนิยมของผู้ชมที่เป็นคนไทยเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและพื้นฐานในการรับชมของคนดูเปลี่ยนไป ความเป็นสากลที่มีมากขึ้น  และการขยายบทบาทของแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์แบบ OTT ทำให้คนดูของเราไม่ได้มีแต่คนไทยอีกต่อไป แต่มาจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ชมส่วนใหญ่ของช่อง 3  

        ดังนั้น แนวโน้มในอนาคตเราจึงมองถึงการทำละครที่ตอบโจทย์ผู้ชมในจีนด้วย ซึ่งได้มีการวางแผนว่าในระยะต่อไปเราอาจจะจับมือร่วมกับประเทศจีนเพื่อผลิตละคร โดยได้มีการศึกษาตลาดว่าคนจีนชอบดูละครไทยแนวไหน ดารานักแสดงไทยคนใดที่เป็นที่ชื่นชอบ เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมได้อย่างตรงจุด

        ด้าน อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และโปรดิวเซอร์ละคร “บุพเพสันนิวาส” กล่าวว่า การคัดสรรเนื้อหามีความสำคัญมากสำหรับการผลิตละคร โดยเนื้อหาต้องมีความเป็น Universal  ดูสนุก คนทั่วโลกเข้าใจได้ง่าย  ซึ่งไทยและจีนมีวัฒนธรรมบางส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องปรับให้ผ่านกฎระเบียบหรือเซ็นเซอร์เนื้อหาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศจีน

        “ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า เราสามารถสอดแทรกวัฒนธรรมที่เป็น Soft Power ของไทยไปในละครเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชมชาวจีนได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งชุดไทย อาหารไทย การท่องเที่ยว ผ่านบทละครที่ดีและการสร้างสรรค์งานละครที่มีคุณภาพเพื่อให้ถูกใจผู้ชม”

หนุนความร่วมมือด้านงานวิจัยแวดวงวิทยุโทรทัศน์ไทย-จีน

        ภายในงานเสวนาแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ยังมีมุมมองที่น่าสนใจจากนักวิชาการไทย-จีน ถึงโอกาสความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ โดยศาสตราจารย์ลู่ ตี้ จากคณะวารสารศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า วิดีโอสั้นและงานโฆษณาของไทยมีความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น นี่คือจุดแข็งของประเทศไทย แม้ตลาดจะเล็กกว่าจีน แต่ด้านครีเอทีฟความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นสิ่งที่จีนสามารถเรียนรู้จากไทยได้

        ศ.ลู่ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างไทย-จีน โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมา จีนกับไทยมีการแลกเปลี่ยนด้านวิทยุและโทรทัศน์มากมาย แต่ด้านการวิจัยของเรากลับยังตามไม่ทัน

       ดังนั้น เราจึงต้องเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างไทย-จีน ลดการลงทุนหรือปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน ลดต้นทุนการวิจัย สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่มีความเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน สร้างประชาคมด้านวิทยุและโทรทัศน์ ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวจีน-ไทย เรื่องราวของเอเชีย ถ่ายทอดเสียงและภาพลักษณ์ของชาวตะวันออกและเอเชีย

        ด้าน รศ.ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในแง่ของวิชาการแล้ว สมัยก่อนเราสอนบุคลากรด้านสื่อโดยนึกถึงเฉพาะการทำงานสเกลในประเทศไทยทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันด้วยการรับชมที่เปลี่ยนไปผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ ทำให้กลุ่มผู้ชมขยายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ชมชาวจีนที่ชื่นชอบละครไทยอย่างมาก จึงเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่เราต้องพัฒนาการสอนหรือฝึกการทำงาน โดยต้องคิดไปถึงสเกลที่ใหญ่กว่าผู้ชมในประเทศ หรือด้านการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงตลาดโลก และนี่ก็เป็นโอกาสที่ดีในภายภาคหน้า ที่เราจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ศึกษาผู้บริโภคของทั้งสองประเทศร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์งานที่ดีต่อไปในอนาคต”

Tags:
No items found.