Highlight

เปิดตำนาน 110 ปี “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”

2

February

2022

26

January

2022

        นอกจากงานด้าน“อาสากู้ภัย”และ“เก็บศพ”แล้ว เรารู้จัก“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”ดีแค่ไหน?...  

        เส้นทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง องค์กรสาธารณกุศลที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 110 ปี ถักร้อยไปด้วยเรื่องราวของพลังศรัทธา ความผูกพันระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีน การส่งต่ออุดมการณ์ความดีจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีรากฐานมาจากความศรัทธาต่อหลวงปู่ไต้ฮง(ไต้ฮงกง)พระเถระนักสังคมสงเคราะห์ที่ช่วยเหลือคนยากไร้และคนตายไร้ญาติ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่มาหลายร้อยปี

ศาลเจ้าไต้ฮงกง

        ตามประวัติที่เล่าขานต่อกันมา รูปจำลอง‘ไต้ฮงกง’ได้รับการอัญเชิญมาเมืองไทย เมื่อปี 2439 โดยชาวจีนแต้จิ๋วนาม “เบ๊ยุ่น” ที่ลงเรือสำเภาพร้อมกับผู้อพยพชาวจีนคนอื่นๆ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” บนแผ่นดินไทย ด้วยแรงศรัทธาในบารมีของไต้ฮงกงที่คุ้มครองให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย โดยตั้งปณิธานว่าจะกลับมา“สนองคุณ”เมื่อลืมตาอ้าปากได้ชีวิตใหม่

“ เส้นทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง องค์กรสาธารณกุศลที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 110 ปี ถักร้อยไปด้วยเรื่องราวของพลังศรัทธา ความผูกพันระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีน การส่งต่ออุดมการณ์ความดีจากรุ่นสู่รุ่น”

        ต่อมาในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระอนุวัตร์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) และพ่อค้าคหบดีชาวจีน 12 คน ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างกุศลสถาน“ป่อเต็กตึ๊ง” ขึ้นที่ถนนพลับพลาไชย เพื่อประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงให้ประชาชนได้สักการะบูชา พร้อมทั้งดำเนินกิจการด้านสาธารณกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกด้าน โดยเฉพาะการเก็บศพไร้ญาติตามธรรมเนียมจีน จนเป็นที่มาของการก่อตั้งองค์กรการกุศลในนาม “คณะเก็บศพไต้ฮงกง”

        ต่อมาปี 2480 จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิชื่อเต็มว่า“มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” ดำเนินกิจการเคียงข้างสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยเงินบริจาคจากผู้จิตศรัทธา นำไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เริ่มตั้งแต่การเก็บและฝังศพอนาถา ตั้งสถานผดุงครรภ์หัวเฉียวและโรงพยาบาลหัวเฉียว ต่อมายังได้ขยายความช่วยเหลือไปสู่งานสงเคราะห์การศึกษาในนาม “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”  

คณะกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งยุคบุกเบิก พ.ศ.2479-2484

        มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งถือเป็นองค์กรสาธารณกุศลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นต้นแบบของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ที่สังกัดสมาคมชาวจีนทั่วประเทศ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจากอดีตถึงปัจจุบัน ล้วนสืบทอดตำแหน่งโดยผู้นำนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่มีบทบาทกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น เหียกวงเอี่ยม ต้นตระกูล”เอี่ยมสุรีย์” ประธานคนแรก, เตียลั่งชิ้น หรือ สหัท มหาคุณ, ตันจินเก่ง หรือ จิตติน ตันธุวนิตย์, ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์, ดร.สมาน โอภาสวงศ์ จนส่งต่อมาถึงประธานฯคนปัจจุบัน  คือ ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์

ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ

        “ป่อ แปลว่าตอบแทน เต็ก แปลว่าสัจธรรมหรือคุณธรรม เซี่ยง คือความดี ตึ๊ง คือสถานที่ รวมกันเป็นสถานที่ประกอบคุณงามความดีเพื่อตอบแทนบุณคุณแผ่นดิน ชื่อเต็มๆ ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง ที่เราไปจดทะเบียนเป็นทางการ ฮั่วเคี้ยว คือ คนจีนโพ้นทะเล แต่เพื่อให้สั้นก็เลยเรียกว่า ป่อเต็กตึ๊ง คนเลยจำได้แค่ว่า ป่อเต็กตึ๊ง เพราะฉะนั้นคำว่า ความดีที่ยั่งยืน ก็มาจากคำว่า ป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯเล่าถึงความหมายของชื่อ“ป่อเต็กตึ๊ง”

        ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งปี เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมไทย ภายใต้แนวคิด “ความดีที่ยั่งยืน” พร้อมทั้งเปิดหอประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานเปิดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยภายในแบ่งเป็น 7 ห้อง จัดแสดงนิทรรศการบันทึกประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ยุคแรกที่เริ่มต้นจากการกำเนิดของคณะเก็บศพไต้ฮงกง จนพัฒนามาเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง การช่วยเหลือชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย การเก็บศพไร้ญาติ และอื่นๆ ตลอดจนภารกิจของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในยุคปัจจุบัน และหน่วยงานในเครือ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงงานบรรเทาสาธารณภัยของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ข้อมูลสุสานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประเพณีเทกระจาด รวมทั้งประติมากรรม “เสียง” สัญลักษณ์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อันหมายถึง การทำบุญกุศล สานต่อความดี เพื่อสนองคุณแผ่นดิน

        หอประวัติแห่งนี้นับเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านประวัติศาสตร์ และรวบรวมเรื่องราวความดีที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่พร้อมจะส่งต่อพลังศรัทธา และแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นต่อไปในการสานต่อ หยั่งราก แผ่กิ่งก้านความดีแก่สังคมไทยสืบไป

Tags: