Lifestyle

จาก ‘เมืองเป๋ยไห่’ ล่องใต้สู่ ‘เกาะเหวยโจว’

3

October

2022

1

September

2022

ผู้เขียน: หวง ลี่เสีย นิตยสาร China-ASEAN Panorama

        ความงามทางธรรมชาติของกว่างซี ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทิวทัศน์ภูเขาและสายน้ำ แต่ยังมีทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาตัดกับทะเล เมืองติดริมชายฝั่งอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘อ่าวตังเกี๋ย’ อย่างเมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่และเมืองฝางเฉิงก่าง ต่างมีวิวทะเลคลื่นซัดกระทบฝั่งที่มีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัว หนึ่งในนั้นคือ “เกาะเหวยโจว”  (涠洲岛) ซึ่งได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Chinese National Geography ให้เป็นหนึ่งในเกาะที่สวยที่สุดของจีนเมื่อปี 2548 เป็นรองเพียงแค่หมู่เกาะซีซา (西沙群岛) ของมณฑลไห่หนาน

ไข่มุกเหอผู่หลากสีสัน  (ภาพ: Beihai Daily / ช่างภาพ สวี่ เจิ้นกั๋ว)

        ‘เกาะเหวยโจว’ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเป๋ยไห่ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน เป็นเกาะขนาดเล็กตั้งอยู่บริเวณใจกลางอ่าวเป่ยปู้ ราวกับเรือลำน้อยที่ลอยลำอยู่กลางทะเล แม้จะซูมแผนที่ดูก็ยังอาจหาเจอได้ยาก เกาะแห่งนี้ที่มีขนาดเพียงแค่ 24.74 ตารางกิโลเมตร แต่กลับมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนประมาณ 1 ล้านคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อนที่อาศัยอยู่ที่เมืองเป๋ยไห่เล่าว่า เกาะเหวยโจวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ “ขี่รถเที่ยววันเดียวก็เที่ยวได้ครบทั้งเกาะ”

การทำฟาร์มหอยมุกในอำเภอเหอผู่เมืองเป๋ยไห่ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

ล่องเรือไปชิล ชมวิวทะเลที่เกาะเหวยโจว

        ถึงแม้ว่าเกาะเหวยโจวจะตั้งอยู่ใจกลางทะเลอันกว้างใหญ่ แต่ก็เดินทางไปกลับได้ไม่ยากเย็น ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ท่าเรือซีเจี่ยว (西角码头) ของเมืองเป๋ยไห่จะมีบริการเรือรับ-ส่ง วันละ 4 เที่ยว แต่หากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวอาจจะมีเรือให้บริการมากถึงวันละ 20 เที่ยว โดยเรือเร็วจะใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง ส่วนเรือความเร็วปกติจะใช้เวลาเดินทางราว 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจำเป็นต้องจองตั๋วก่อนล่วงหน้า เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเกาะ โดยช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจำกัดเพียงวันละ 9,000 คนต่อวัน ส่วนนอกฤดูกาลจำกัดที่ 11,000 คนต่อวัน

อุทยานธรณีภูเขาไฟเกาะเหวยโจวเมืองเป๋ยไห่ (ช่างภาพ หลาน เจี้ยนเฉียง)

        ประชากรมากกว่า 85% บนเกาะเหวยโจวเป็นชาวจีนฮากกาหรือจีนแคะ ตามบันทึกประวัติศาสตร์ เกาะเหวยโจวขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของอำเภอเหอผู่ (合浦) มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ประชากรกลุ่มแรก ๆ เป็นชาวบ้านที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะ เหอผู่เป็นอำเภอที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองเป๋ยไห่ ขึ้นชื่อเรื่องไข่มุกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏในสำนวนสุภาษิตที่ว่า “ไข่มุกเหอผู่หวนคืน” (合浦还珠) รวมถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าผู้คนบนเกาะเหวยโจวทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการจับหอยมุกขาย

วาฬบรูด้า (ภาพ: flickr)

        ในสมัยโบราณ การลงไปจับหอยมุกใต้ทะเลลึกเป็นงานที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตรายมาก ช่วงยุคแรก ๆ จะใช้วิธีการดำน้ำลงไปเก็บ โดยใช้เชือกยาวผูกไว้ที่เอว ถือตะกร้าไม้ไผ่ดำน้ำลงไปหาหอยมุกใต้ทะเล แล้วเก็บหอยที่หาได้ไว้ในตะกร้าไม้ไผ่ ก่อนจะกระตุกเชือกเป็นสัญญาณให้คนบนฝั่งช่วยดึงเชือกพาขึ้นฝั่ง ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่เสี่ยงมาก ภาวะร่างกายขาดออกซิเจน ภาวะตัวเย็นจากการที่อยู่ในน้ำนาน ๆ  หรือถูกโจมตีจากปลาและสัตว์ดุร้ายใต้น้ำเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง

เกาะเหวยโจวเป็นเกาะที่เกิดขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

        เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการหาหอยมุก ชาวบ้านจึงได้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือและเสาะหาวิธีต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถจับหอยมุกได้ง่ายขึ้น ต่อมาเมื่อการทำฟาร์มหอยมุกเริ่มแพร่หลาย ที่อำเภอเหอผู่เองก็เริ่มหันมาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยมุกแทนการลงไปจับใต้ท้องทะเลแบบเดิมที่เคยทำมา จนปัจจุบันถือเป็นแหล่งผลิตไข่มุกที่สำคัญให้กับทั้งตลาดจีนและต่างประเทศ

ไข่มุกเม็ดงามแฝงไว้ด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์

        พืชผลทางการเกษตรหลักของเกาะเหวยโจว คือ ‘กล้วย’  ที่นี่มีการเพาะปลูกกล้วยเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตเร็ว ก่อเกิดเป็นภูมิทัศน์ทางนิเวศวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะ ถัดไปจากดงกล้วยเป็นที่พักโฮมสเตย์และอาคารบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่นี่มีร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งชื่อว่า “ชีเหนียนอู่ปันเถียนผิ่น”  (七年五班甜品) หน้าร้านมีป้ายเขียนไว้ว่า “เกาะเหวยโจวเป็นเกาะที่มีวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เวลาที่นี่เดินช้ามาก ช้าจนชั่วชีวิตที่เหลือนี้ เพียงพอแค่รักคนได้แค่คนเดียว”

ธรณีสัณฐานของเกาะภูเขาไฟเหวยโจว (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)

        ปี พ.ศ. 2134 หลังจาก ทัง เสียนจู่ (汤显祖) นักประพันธ์บทอุปรากรจีนในสมัยราชวงศ์หมิงถูกลดตำแหน่งและกำลังย้ายไปประจำที่ใหม่ ระหว่างทางเขาได้หยุดแวะพักที่เกาะเหวยโจวซึ่งไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยอยู่ แล้วแต่งบทกวีทิ้งไว้บทหนึ่งความว่า “แสงอาทิตย์สาดส่องลงบนเกาะเหวยโจว ลมพัดโชยแผ่วเบาเหนือผืนทะเล” (日射涠洲廓,风斜别岛洋)  ปัจจุบันบนเกาะเหวยโจวมีสถานที่แห่งหนึ่งชื่อว่า “แท่นทังกงไถ” (汤公台) เหนือแท่นเป็นรูปปั้นขนาดยักษ์ของ ‘ทัง เสียนจู่’ ซึ่งถือตำราหนังสือไว้ในมือขวา หันหน้าออกสู่ทะเล บทกวีที่เขาทิ้งไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน ชาวบ้านบนเกาะเหวยโจวยังคงจดจำท่องได้มาจนถึงทุกวันนี้

โบสถ์คาทอลิกบนเกาะเหวยโจว Photo: beihai.gov.cn

        แต่การมาเยือนของ ทัง เสียนจู่ ก็เป็นเพียงแค่การหยุดแวะพักช่วงสั้น ๆ เท่านั้น  จนกระทั่งถึงช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีผู้คนกลุ่มแรกเริ่มอพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนเกาะ โดยตั้งถิ่นฐานอยู่แถบบริเวณโบสถ์คาทอลิกหมู่บ้านเซิ่งถังและโบสถ์เซนต์แมรีหมู่บ้านเฉิงจื่อ  ทั้งนี้ โบสถ์คาทอลิกหมู่บ้านเซิ่งถัง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2423 โดยกลุ่มมิชชันนารีฝรั่งเศส โดยใช้วัสดุที่หาได้ภายในท้องถิ่น ผ่านมาแล้วกว่า 100 ปี ปัจจุบันโบสถ์เก่าที่สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติอย่างหินปะการังและหินภูเขาไฟแห่งนี้ ยังคงตั้งตระหง่านซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางดงกล้วยเขียวขจี เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่เหนือกาลเวลา

นักท่องเที่ยวเดินทางกลับจากเกาะเหวยโจวด้วยเรือเฟอร์รี่ Photo: beihai.gov.cn

ปกป้องท้องทะเล ร่วมกันอนุรักษ์วาฬ

        ช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนของทุกปี ที่เกาะเหวยโจวจะมีฝูงวาฬลึกลับปรากฏตัวให้เห็น วาฬบาลีนหรือวาฬไม่มีฟันขนาดเล็กซึ่งมีช่วงลำตัวยาว 9-11 เมตรเหล่านี้ คือหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของวาฬบรูด้า (布氏鲸, Bryde's whale) มีชื่อเรียกว่า “วาฬอีเดน” (Eden's whale) ซึ่งภาษาจีนเรียกวาฬชนิดนี้ว่า “วาฬบรูด้าขนาดเล็ก” (小布氏鲸) หรือ “วาฬถีจิง” (鳀鲸)

        โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถพบเห็น ‘วาฬอีเดน’ หรือ ‘วาฬบรูด้าขนาดเล็ก’ ได้ในแถบน่านน้ำเขตร้อนและเขตอบอุ่น พวกมันกินปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร โดยวาฬบรูด้าถือเป็นวาฬจำพวกสายพันธุ์ที่ค่อนข้างหายาก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองระดับ 1 ของจีนเมื่อปี พ.ศ. 2564

Photo: Splendors of Guangxi

        มาถึงเกาะเหวยโจวทั้งที อาจโชคดีมีโอกาสได้เห็นภาพการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างฝูงวาฬกับนกนางนวลปากเหลือง (海鸥, Mew Gull) เมื่อมองไปยังผืนทะเลที่กว้างใหญ่ไร้ขอบเขต จะเห็นเหล่านกนางนวลกำลังบินโฉบไปมาตามเสียงการเคลื่อนไหวของฝูงวาฬอยู่ไกล ๆ บนผืนน้ำที่อยู่ห่างออกไป 400 เมตร วาฬบรูด้ากำลังไล่ต้อนเหยื่อ หลอกล่อให้เหยื่อมาอยู่รวมกันด้วยปากที่เหมือนกับอวนขนาดยักษ์ของมัน

หอประภาคารเกาะเหวยโจว Photo: Splendors of Guangxi

        ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฝูงวาฬบรูด้าสามารถอาศัยอยู่ในแถบน่านน้ำใกล้กับเกาะเหวยโจวได้อย่างสงบสุขไร้การรบกวน เรือลาดตระเวนออกสำรวจอ่าวเป่ยปู้ โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณน่านน้ำที่พบเห็นฝูงวาฬเป็นประจำ รวมทั้งมีการจำกัดการเดินเรือ และจัดการกับพฤติกรรมการชมวาฬที่ไม่เป็นระเบียบ ขณะเดียวกันยังได้กวดขันการบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลพื้นที่ทะเลและเกาะ เพิ่มความพยายามในการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย และปกป้องระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างครอบคลุม

วาฬบรูด้าหาอาหารในน่านน้ำใกล้กับเกาะเหวยโจว Photo: Xinhua news

        จากผลการศึกษาวิจัยของกลุ่มวิจัยร่วมด้านสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมบริเวณอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ปัจจุบันอ่าวเป่ยปู้มีวาฬบรูด้าที่ได้รับการยืนยันแล้วทั้งสิ้น 32 ตัว ทุกตัวมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง สภาพแวดล้อมที่ดีของเกาะเหวยโจว ทำให้พวกมันแวะเวียนกลับมาเยือนพื้นที่แถบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

เกาะเหวยโจวเป็นเกาะที่เกิดขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟ Photo: Splendors of Guangxi

        สายลมพัดผ่าน เกลียวคลื่นสาดกระทบฝั่ง วิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะเริ่มต้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และสิ้นสุดลงเมื่อตะวันลับขอบฟ้าในยามพลบค่ำ เหล่าบรรดาสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลต่างออกหาอาหาร เติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ต่อเนื่องไปเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ......

อำเภอเหอผู่แหล่งผลิตไข่มุกที่สำคัญให้กับทั้งตลาดจีนและต่างประเทศ Photo: beihai.gov.cn
Tags:
No items found.