ไม่หวั่น!จีนเผย GDP 3 ไตรมาสแรกโตถึง 5.2%
20
October
2023
20
October
2023
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 จีนเผยข้อมูลเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP อยู่ที่ 91.3027 พันล้านหยวน หรือ เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบสัญญาณเชิงบวกหลายประการของจีน ทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของการจ้างแรงงาน การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านการค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจในภาคเอกชน รวมถึงทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน
เซิง ไหลหยุน รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในช่วง 3 ไตรมาสแรกในปี 2566 เป็นรากฐานที่ดีต่อการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งอยู่ประมาณ 5% ต่อปี โดยผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่า ข้อมูลตัวเลขนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกินคาด และหวังว่าเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
GDP จีนในช่วง 3 ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี
จากข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็น GDP ในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากหักผลกระทบของฐานแล้ว อัตราการเติบโตเฉลี่ยภายใน 2 ปี อยู่ที่ 4.4% ซึ่งเร็วกว่าไตรมาสที่สอง 1.1% ทั้งนี้ จากมุมมองรายไตรมาสต่อไตรมาส การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อยู่ที่ 1.3% ซึ่งเร็วกว่าไตรมาสที่สอง 0.8 เปอร์เซ็นต์ และการเติบโตยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
เซิง ไหลหยุน กล่าวว่า ทั้งอัตราการเติบโตปีต่อปีในไตรมาสที่ 3 และอัตราการเติบโตสะสมใน 3 ไตรมาสแรกนั้น จัดอยู่ในกลุ่มที่ดีที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ จากการสำรวจอัตราการว่างงานของคนเมืองโดยเฉลี่ยในช่วง 3 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 5.3% ลดลง 0.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และในเดือนกันยายนอยู่ที่ 5% ซึ่งลดลง 0.2% จากเดือนสิงหาคม จึงแสดงให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในทุก ๆ เดือน
การอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดเติบโต
ในช่วง 3 ไตรมาสแรก มูลค่าของอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึง 4.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเร็วกว่าครึ่งปีแรก 0.2% และเมื่อเทียบโดยประเภทผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตผลของพลังงานแสงอาทิตย์ เสาชาร์จ และยานพาหนะพลังงานทางเลือกใหม่ เพิ่มขึ้น 63.2%, 34.2% และ 26.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกัน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของประเทศเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี หากไม่รวมผลกระทบของปัจจัยด้านราคา การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ถาวรเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ 6% ในแง่ของภาคส่วนต่าง ๆ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น 6.2% การลงทุนด้านการผลิตเพิ่มขึ้น 6.2% และการลงทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลดลง 9.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 6.8% และยอดค้าปลีกของงานบริการเพิ่มขึ้น 18.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในเดือนกันยายนยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนสิงหาคม 0.9% ทำให้เห็นว่าอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเวลาสองเดือนติดต่อกัน
“สุดท้ายแล้ว การบริโภคจะต้องพึ่งพาปัจจัยทางด้านรายได้ จากสถานการณ์การจ้างงานโดยทั่วไปในปีนี้ดีขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสแรก โดยรายได้ของประชากรเพิ่มขึ้นจริง 5.9% และจะยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จึงเป็นการวางรากฐานที่ดีในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตของการบริโภคในอนาคต” เซิงไหลหยุนกล่าว
มุ่งเป้าปี 2566 เศรษฐกิจจีนยังคงโตอย่างมีเสถียรภาพ
ทั้งรัฐบาลกลางที่ได้ส่งเสริมการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเอกชน รวมทั้งหน่วยงานและภูมิภาคที่เกี่ยวข้องที่ได้นำเสนอนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคเอกชนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ในมุมของการลงทุน ช่วง 3 ไตรมาสแรก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคเอกชนลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าจะยังคงเป็นการเติบโตที่ติดลบ แต่การลดลงนั้นแคบกว่าช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม 0.1%
หากไม่รวมการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 9.1% และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในไตรมาสที่แล้ว
ด้านการค้าต่างประเทศ การนำเข้าและส่งออกของภาคเอกชนในช่วง 3 ไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบเป็นรายปี แต่การนำเข้าและส่งออกของภาคเอกชนยังคงเติบโตโดยคิดเป็นสัดส่วน 53.1% ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมด และมีส่วนแบ่งสูงกว่าปีที่แล้ว
“เราจะต้องดำเนินการตามนโยบายและมาตรการในการพัฒนาและเสริมสร้างเศรษฐกิจภาคเอกชนของรัฐบาลกลาง เสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินนโยบาย ตลอดจนรวบรวมและสร้างรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชน” เซิงไหลหยุนกล่าว
จากมุมมองของเซิงไหลหยุน เศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในไตรมาสที่ 4 และผลจากนโยบายและมาตรการที่นำมาใช้ในระยะแรกเพื่อรักษาเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยังคงแสดงให้เห็นต่อไป ประกอบกับฐานตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้เขามั่นใจมากว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ 5% ตลอดทั้งปี 2566 นี้