สัมมนา ‘จีนร่วมสมัยกับโลก’ การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ ไทย-จีน

26

April

2023

26

April

2023

        เมื่อวันที่ 24 เม.ย.  ศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน ร่วมกับ สถาบันวิจัยประเทศจีนและโลกร่วมสมัย และศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน ร่วมกันจัดงาน “สัมมนาจีนร่วมสมัยกับโลก การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน” ขึ้นเพื่อเรียนรู้ผลการพัฒนาระหว่างไทยจีนในยุดสมัยใหม่ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยได้รับเกียรติจากนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” มุ่งสู่ชัยชนะที่งดงามร่วมกัน” โดยมีเนื้อหาดังนี้

        “ หัวข้อหลักของการสัมมนาในวันนี้คือ "สายแถบและเส้นทาง" สำหรับข้อริเริ่ม "สายแถบและเส้นทาง" เป็นข้อริเริ่มสำคัญที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเมื่อปี 2556 โดยมีจุดมุ่งหมายคือ อาศัย "เส้นทางสายไหม" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาร่วมกัน และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง  

        ข้อริเริ่ม "สายแถบและเส้นทาง" จะเป็นประโยชน์ต่อคนในปัจจุบันและรุ่นหลัง ประเทศไทยตั้งอยู่ในชัยภูมิที่สำคัญของ "สายแถบและเส้นทาง" และเป็นผู้มีส่วนร่วมและผู้รับประโยชน์ที่สำคัญ

        ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่ม "สายแถบและเส้นทาง" เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับคนหนุ่มสาวจากจีนและไทยที่จะรวมตัวกันและพูดคุยเกี่ยวกับ "สายแถบและเส้นทาง" กว่า 10 ปีที่ผ่านมา จีนและพันธมิตรระหว่างประเทศได้ยึดมั่นในหลักการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมรับประโยชน์ และยึดมั่นในมาตรฐานระดับสูง ความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งได้เปลี่ยน "สายแถบและเส้นทาง" จากพิมพ์เขียวให้เป็นความจริง และนำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาประเทศต่าง ๆ และสร้างประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

        จนถึงปัจจุบัน ข้อคิดริเริ่ม "สายแถบและเส้นทาง" ได้ดึงดูด  151 ประเทศและ 32 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือ ขับเคลื่อนการลงทุนเกือบหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อให้เกิดโครงการความร่วมมือมากกว่า 3,000 โครงการ สร้างงาน 420,000 ตำแหน่งสำหรับประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง และช่วยให้ผู้คนเกือบ 40 ล้านคนพ้นจากความยากจน

        จีนและไทยมีภูมิประเทศเชื่อมต่อกัน มีสายเลือดที่ใกล้ชิดกัน และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีประวัติศาสตร์การไปมาหาสู่กันยาวนานกว่าพันปี และเป็นพี่น้องที่ดี เพื่อนบ้านที่ดี และหุ้นส่วนที่ดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การร่วมสร้าง "สายแถบและเส้นทาง" ระหว่างจีนและไทยได้ประสบผลสำเร็จมากมาย

        ความร่วมมือระดับนโยบายเพื่อร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” ช่วยชี้ชัดถึงทิศทางการพัฒนาในอนาคต จีนดำเนินการตามแนวคิดการพัฒนาใหม่ สร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ สร้างระบบเศรษฐกิจแบบเปิดระดับสูงใหม่อย่างครอบคลุม และส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง

        รัฐบาลไทยได้เปิดตัวแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา 20 ปีและแผนพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่รูปแบบเศรษฐกิจ "สีเขียวหมุนเวียนทางชีวภาพ" ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาและเป้าหมายของข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” ยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติและแนวคิดด้านนโยบายของทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประสบความสำเร็จในการเยือนประเทศไทยและได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ และพบปะกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาตามลำดับ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศจัดตั้งชุมชนแห่งโชคชะตาร่วมระหว่างจีน-ไทย และลงนามใน “แผนความร่วมมือจีน-ไทยว่าด้วยการร่วมสร้าง สายแถบและเส้นทาง” อันเป็นการร่วมกันเขียนพิมพ์เขียวเพิ่มเติมและชี้ชัดถึงทิศทางของการร่วมสร้าง "สายแถบและเส้นทาง"

        การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานช่วยอัดฉีดแรงผลักดันที่แข็งแกร่งสำหรับการร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงในประเทศตามเส้นทางเป็นทิศทางหลักของข้อริเริ่ม "สายแถบและเส้นทาง" รถไฟจีน-ไทยเป็นโครงการสัญลักษณ์สำหรับการร่วมสร้าง "สายแถบและเส้นทาง" ระหว่างสองประเทศ ปัจจุบัน การก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยระยะแรกเข้าสู่ขั้นเดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการเตรียมการก่อสร้างในของระยะที่สองก็อยู่ระหว่างการผลักดันอย่างเต็มที่  คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2571 การเปิดทางรถไฟจีน-ลาวและการเชื่อมต่อกับทางรถไฟขนาดหนึ่งเมตรในไทยช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างจีน ลาว และไทยได้ 30% ถึง 50% ในอีก 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า เมื่อรถไฟความเร็วสูงคาบสมุทรอินโดจีนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้การเชื่อมต่อของภูมิภาคก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ในประวัติศาสตร์

        การค้าไร้ข้อจำกัดจะช่วยให้การร่วมสร้าง "สายแถบและเส้นทาง" เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทยได้เอาชนะผลกระทบจากโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆโดยยังคงรักษาแดนบวกอย่างสวนกระแส 

        จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน ปริมาณการค้าทวิภาคีสูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าเกษตรของไทย และ 96% ของการส่งออกทุเรียนของไทยขายให้กับจีน

        จีนและไทยยังคงกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หลังจากเริ่มต้นความร่วมมือ RCEP สินค้าไทย 39,000 รายการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ในจำนวนนี้ มี 29,000 รายการได้รับการยกเว้นภาษี โดยจีนเป็นประเทศที่ไทยใช้ RCEP ในการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์มากที่สุด จีนกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเวอร์ชัน 3.0 กับกลุ่มประเทศอาเซียน และไทยเป็นประเทศผู้นำในอาเซียน เชื่อว่าชุดการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในระดับสูงจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงจีนและไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของแต่ละประเทศ

หาน จื่อเฉียง เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

        การไหลเวียนของเงินทุนเป็นแรงสนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับการร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” จีนเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนหลักของไทยมาโดยตลอด ในปี 2565 จีนมีการลงทุนในโครงการความร่วมมือ 158 โครงการในประเทศไทย มูลค่าการลงทุน 77,381 ล้านบาท คิดเป็น 18% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของไทย 

        นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ได้ดึงดูดผู้ผลิตของจีน 180 บริษัทและบริษัทสนับสนุนอีกกว่า 30 บริษัทให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 45,000 ตำแหน่ง 

        ธนาคารกลางระหว่างสองประเทศได้ร่วมกันลงนามต่ออายุสัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่นในระดับทวิภาคีหลายครั้ง ฝ่ายจีนได้จัดตั้งธนาคารหักบัญชีเงินหยวนในกรุงเทพฯ (RMB Clearing Bank) Bank of China และ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) มีสาขาในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย สัดส่วนของการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในการค้าและการลงทุนทวิภาคีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีการเงินและการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสองประเทศมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Alipay และ WeChat Pay ได้เข้าสู่ประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

        ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนได้วางรากฐานสำคัญสำหรับการร่วมสร้าง "สายแถบและเส้นทาง"  เมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนและไทยได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ ในยามวิกฤต ประชาชนของทั้งสองประเทศต่างเห็นถึงคุณค่าของคำว่า "จีน-ไทยครอบครัวเดียวกัน" เพิ่มมากขึ้น มิตรภาพระหว่างสองฝ่ายก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ 

        นับตั้งแต่ต้นปีนี้ การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้ฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว โดยจีนจัดให้ไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศนำร่องชุดแรกที่ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวได้หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้ในไตรมาสแรกนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยแล้วมากกว่า 500,000 คน เทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากร่วมเล่นน้ำกับชาวไทยอย่างครึกครื้น อันเป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

        ท่านทูตหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า หากมองไปในอนาคต จะเห็นภาพของ "สายแถบและเส้นทาง" ที่มีความร่วมมือในเชิงลึกและเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ในความร่วมมือระหว่างสองประเทศ สร้างประโยชน์ใหม่ ๆ สำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ และจะส่งเสริมจีน-ไทยให้เป็นชุมชนร่วมอนาคตที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น 

        เราต้องใช้ความพยายามร่วมกัน เพื่อให้โอกาสที่สดใสของ "สายแถบและเส้นทาง" กลายเป็นความสำเร็จของการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องมีการเชื่อมโยงกลยุทธ์การพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ในระดับทวิภาคี ทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตามฉันทามติสำคัญที่ผู้นำของสองประเทศบรรลุร่วมกัน เร่งความร่วมมือรถไฟไตรภาคี จีน-ลาว-ไทย และส่งเสริม "แนวคิดการพัฒนาการเชื่อมโยง จีน-ลาว-ไทย" อย่างแข็งขัน ค้นหาศักยภาพความเชื่อมโยงระหว่าง "ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" ของไทยกับ “เขตอ่าวเศรษฐกิจกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” และ “เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง” ของจีน ในระดับภูมิภาค เพิ่มการหารือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ระหว่างข้อริเริ่ม "สายแถบและเส้นทาง" กับกลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง กลไกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ "แผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียนปี 2025" เป็นต้น

        ร่วมกันสร้างจุดเติบโตใหม่ ทั้งสองประเทศต้องส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล เสริมสร้างความร่วมมือด้านอินเทอร์เน็ต คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ 5G อีคอมเมิร์ซ และอื่นๆ และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในการเป็น "ศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน"

        ต้องส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียว เพิ่มการประสานงานและทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจ "สีเขียวหมุนเวียนชีวภาพ" ของประเทศไทยผ่านความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า โซล่าเซลล์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ 

        ต้องส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมด้านสุขภาพ เสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีน และการฝึกอบรมบุคลากร ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนโบราณระหว่างทั้งสองประเทศ และร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

        ต้องขจัดการแทรกแซงจากภายนอกอย่างเด็ดเดี่ยว ภายใต้สถานการณ์ใหม่ การร่วมสร้าง "สายแถบและเส้นทาง" ระหว่างจีน-ไทยกำลังเผชิญกับโอกาส รวมทั้งความเสี่ยงกับความท้าทายบางประการที่ไม่เคยมีมาก่อน เราควรดำเนินการบนพื้นฐานของผลประโยชน์พื้นฐานของชาติและของประชาชนของทั้งสองประเทศ ไม่คล้อยตามความผันผวนของสถานการณ์ และไม่ถูกรบกวนโดยเรื่องที่มิใช่สาระสำคัญ ขจัดการแทรกแซงของอำนาจฝ่ายที่สาม ยึดมั่นในความร่วมมือที่เป็นมิตรและการได้ประโยชน์ร่วมกัน (win-win) และเขียนประวัติศาสตร์มิตรภาพจีน-ไทยให้ดี เพื่อให้ "สายแถบและเส้นทาง" เป็น "ถนนแห่งความสุข" ที่จะทำให้ประชาชนจีนและไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง

        ข้อริเริ่ม "สายแถบและเส้นทาง" ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน แต่เป็นของทั่วโลก ถือได้ว่าเป็นโครงการการพัฒนาความรุ่งเรืองที่เห็นผลชัดเจนที่สุดและเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางที่สุดในโลกปัจจุบัน จีนยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการสร้าง "สายแถบและเส้นทาง" ที่มีคุณภาพสูงร่วมกับประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ตามหลักการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมรับประโยชน์

        ขนาดเศรษฐกิจของจีนแตะ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และจะเติบโต 4.5% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่งในระยะยาว ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยมีเลขาธิการใหญ่ สี จิ้นผิง เป็นแกนหลัก ชาวจีนกำลังส่งเสริมการสร้างประเทศที่เข้มแข็งและการฟื้นฟูชาติด้วยความทันสมัยในแบบของจีนอย่างกว้างขวาง 

        ประเทศจีนบนเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติย่อมหมายถึงโอกาสครั้งประวัติศาสตร์และอนาคตที่สดใสสำหรับประเทศเพื่อนบ้านและแม้กระทั่งทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

        ในหนึ่งปีที่ผ่านมา ชุดกิจกรรม "แพนด้าคัพ" ประจำปี 2565  ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับจีนสำหรับเยาวชนไทยได้ประสบความสำเร็จในประเทศไทย และฟอรั่มผู้นำไทยรุ่นใหม่ก็ประสบความสำเร็จในกรุงเทพฯ มีตัวแทนเยาวชนไทยจำนวนมากเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม ทุกคนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกระตือรือร้น พูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาของจีน ความสัมพันธ์จีน-ไทย และความสัมพันธ์จีน-อาเซียนจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ อันเป็นการร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่วมสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” แสดงให้เห็นถึงพลังและความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่

        คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่มีพลวัตและมีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด และเป็นความหวังสำหรับการพัฒนาในอนาคตของทุกประเทศ ผลสำเร็จจากการร่วมสร้าง "สายแถบและเส้นทาง" ระหว่างจีนและไทยนั้นแยกไม่ออกจากการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและการสนับสนุนที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ของทั้งสองฝ่าย คนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศมีภาระหน้าที่ในการจะส่งเสริมอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนของ "สายแถบและเส้นทาง" อย่างไม่อาจทดแทนได้ หวังว่าคนหนุ่มสาวของทั้งสองประเทศจะยังคงเติมความมีชีวิตชีวาให้กับมิตรภาพที่มีมายาวนานระหว่างจีนและไทย  เสริมเติมภูมิปัญญาของเยาวชนในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรม และแบกรับความรับผิดชอบทางสังคมอย่างกล้าหาญ และสร้างผลงานของเยาวชนในชุมชนแห่งโชคชะตาร่วมจีน-ไทยร่วมกัน

Tags:
No items found.