China 360°

‘ฟาร์มเลี้ยงผึ้ง’ อาชีพทำเงินของชาวบ้านในทิเบต

30

July

2024

30

July

2024

        ท่ามกลางหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์ ได้ยินเสียงสายน้ำใสไหลเอื่อย บนเกสรตัวเมียของดอกแอสทรากาลัส มีผึ้งตัวเล็กๆ กำลังรวบรวมละอองเกสรอย่างคล่องแคล่ว

ผึ้งกำลังรวบรวมน้ำหวานจากดอกแอสทรากาลัส (ภาพถ่ายโดยผู้ให้สัมภาษณ์)

เมืองซานหนาน สวรรค์ของผึ้ง

        เมืองซานหนาน ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของเขตปกครองตนเองทิเบต พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยป่าดงดิบ แหล่งน้ำบริสุทธิ์ และแสงแดดอันอุดมสมบูรณ์ เพียบพร้อมไปด้วยสมุนไพรและพืชพรรณกว่า 2,000 ชนิด ทำให้ที่นี่กลายเป็น “แหล่งน้ำหวานชั้นดี” ของเหล่าผึ้ง

        “สภาพอากาศของที่นี่ช่วยปกป้องผึ้งจากโรคอะคาริน (acarapisosis หรือ acarine disease) ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการเลี้ยงผึ้ง สามารถทำลายล้างผึ้งได้ทั้งรัง” จาง เลี่ยงฟู่ หัวหน้าฟาร์มผึ้งแห่งหนึ่งในเมืองซานหนานอธิบาย พร้อมกับเน้นย้ำว่า “ผึ้งที่นี่สามารถเอาชนะโรคนี้ได้โดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาปฏิชีวนะ”

        ในช่วงฤดูร้อนของปี 2559 จางได้เดินทางไปยังหุบเขาแห่งหนึ่งในซานหนานพร้อมกับรังผึ้ง 20 รัง และเต็นท์ เพื่อเริ่มต้นภารกิจในการเลี้ยงผึ้งและผลิตน้ำผึ้ง

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการเจริญเติบโตของผึ้งที่ฟาร์มผึ้งในเมืองซานหนาน (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

‘ฟาร์มเลี้ยงผึ้ง’ อาชีพทำเงิน

        ปัจจุบัน จางเป็นเจ้าของรังผึ้งมากกว่า 8,000 รัง อย่างไรก็ตาม เขาต้องใช้เวลามากกว่า 80 วันในการดูแลรังผึ้งทั้งหมดในฟาร์มด้วยตัวเอง

        เขาเชิญชวนชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงให้เข้ามาทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงผึ้ง เช่น การดูแลผึ้ง และปกป้องผึ้งจากปศุสัตว์และสัตว์ป่า 

อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้ให้กับผู้คนในท้องถิ่นกว่า 6 ล้านหยวนต่อปี (ราว 30 ล้านบาท) โดยชาวบ้านไม่เพียงแต่เลี้ยงผึ้ง แต่ยังปลูกพืชที่ให้น้ำหวานชนิดต่างๆ ด้วย

        “เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความเขียวขจีเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความสวยงามให้กับหมู่บ้านอีกด้วย” จางกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

สวนผึ้งเมืองซานหนาน (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

        ในปี 2566 ได้มีการจัดตั้งสวนประสบการณ์เชิงนิเวศที่มีธีมหลักเป็นผึ้งในเมืองซานหนาน

        สวนผึ้งแห่งนี้ตั้งอยู่ในสวนแอปเปิลที่มีพื้นที่กว่า 83 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพืช และได้ทดลองทำขี้ผึ้ง กิจกรรมต่างๆ ที่สวนจัดเตรียมไว้ เช่น ทริปครอบครัว ทริปการศึกษา และกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ ล้วนมีส่วนช่วยในการพัฒนาพื้นแห่งนี้

        “ปัจจุบัน การทำฟาร์มเลี้ยงผึ้งได้แทรกซึมเข้าไปในกว่า 50 หมู่บ้าน เราหวังว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของทิเบต จะทำให้ผึ้งเข้าถึงหมู่บ้านต่างๆ ได้มากขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนท้องถิ่นให้ดีขึ้นผ่านอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง" จาง กล่าว

ที่มา: People’s Daily

Tags:
No items found.