Focus

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ จีน-ไทยครอบครัวเดียวกัน จับมือกันร่วมก้าวไปข้างหน้า

16

November

2024

30

April

2021

        ศาสตราจารย์ ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก นักการศึกษาและนักการเมืองอาวุโส ถ่ายทอดบทความย้อนมองความสัมพันธ์จีน-ไทยในยุคโควิด-19 ระบาด จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเขียนไว้ ณ เดือนเม.ย.2564 โดยมีเนื้อหาดังนี้  

ความสัมพันธ์ฉันมิตรของจีน-ไทยแน่นแฟ้น

        ด้านภูมิศาสตร์ประเทศจีนและประเทศไทยมีตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้กัน มีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน และทั้ง 2 ประเทศก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมกันพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ จนก่อเกิดเป็นเรื่องราวดีๆ มากมายที่เล่าขานกันมา “จีน-ไทยครอบครัวเดียวกัน” นับวันก็จะยิ่งทวีความแนบแน่นและแน่นแฟ้น สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านความร่วมมือในทุก ๆ ด้านของทั้ง 2 ประเทศ

อดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ของไทยเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน

        ในเดือนก.ค. 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลจีนเดินทางไปเยี่ยมเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง ท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และท่านรองนายกรัฐมนตรีเติ้งเสี่ยวผิง ได้ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง พร้อมกันนั้นตัวผู้แทนของทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทยขึ้นอย่างเป็นทางการ และจากการเยือนจีนในครั้งนี้ได้ทำให้ ท่านนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความเข้าใจในนโยบายและแนวคิดการปกครองประเทศของจีนมากขึ้น เป็นผลให้ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมา

การไปมาหาสู่กันของจีน-ไทย นับวันยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

        นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2518 ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และสังคมนับวันยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

        ความสัมพันธ์จีน-ไทย รุ่งเรืองและรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นต้นแบบความสัมพันธ์อันดีภายใต้ความแตกต่างทางการปกครองของประเทศ และยังเป็นต้นแบบที่ดีด้านการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่างๆ ที่มีความร่วมมือกับจีนและไทย

        ในเดือนมิ.ย. 2547 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่ยอมรับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดของจีน และเป็นประเทศแรกในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่ทำความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับจีน

        นอกจากนั้นในระหว่างจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกที่ลงนามความร่วมมือการค้าผลไม้และผักสดแบบปลอดภาษีกับจีน อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกที่ร่วมซ้อมรบกับกองทัพจีน จนในปี 2564 ประเทศจีนได้กลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทย ในขณะเดียวกันประเทศจีนก็กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นผลให้ประเทศไทยเป็นคู่ค้าในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน

ผู้นำจีน-ไทย เยี่ยมเยือนและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

        นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นต้นมา ผู้นำประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนต่างเคยเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย และพระบรมวงศานุวงศ์ไทย ผู้นำรัฐบาลไทย ผู้นำรัฐสภา ผู้นำกองทัพไทย ก็ต่างเคยเสด็จฯเดินทางไปเยือนประเทศจีนบ่อยครั้งด้วยเช่นกัน ก่อเกิดเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแน่นแฟ้นและยั่งยืน

        สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งสิ้น 49 ครั้ง ถือได้ว่าเป็นทูตแห่งมิตรภาพจีน-ไทยโดยแท้ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2562 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “รัฐมิตราภรณ์” แด่พระองค์ ด้วยพระองค์ทรงมีคุณูปการมหาศาลต่อการเสริมสร้างมิตรภาพจีน-ไทย และเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2562 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้รับคำเชิญจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2

        ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวว่า จีน-ไทยเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน และความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศจะพัฒนาสืบไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง และหวังว่าการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์จีน-ไทยรุดหน้าขึ้นไปอีกก้าว เพิ่มพูนมูลค่าความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ

ความร่วมมือทางการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมของจีน – ไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

        เดือนพ.ย. 2555 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ จัดพิธีเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ นอกจากนั้น ประเทศจีนยังได้จัดตั้งสถาบันขงจื่อในประเทศไทยทั้งสิ้น 16 แห่ง และห้องเรียนขงจื่อในโรงเรียนของไทยกว่า 2,000 ห้อง โดยปัจจุบันมีนักเรียนไทยที่ศึกษาภาษาจีนกว่า 1,000,000 คน และมีนักเรียนจีนที่เดินทางมาศึกษาในประเทศไทยกว่า 40,000 คน และในปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวนกว่า 10,980,000 คน

ท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ส่งเสริมนโยบาย “One Belt One Road”

        เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในช่วงที่ท่านสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศจีน ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยในด้านสาขาต่างๆ มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย “One Belt One Road” ที่ท่านได้ส่งเสริมนั้น ทำให้การพัฒนาของประเทศไทยและประเทศจีน มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้น

        นโยบาย “One Belt One Road” เป็นการสร้างกรอบความร่วมมือแบบหนึ่งต่อหนึ่งและหนึ่งต่อหลายประเทศ มีส่วนช่วยในการส่งเสริม ยกระดับ ขยายพื้นที่และขอบเขต โดยเฉพาะทางด้านการลงทุนและด้านเทคโนโลยีของจีน-ไทย ความร่วมมือทางด้านการลงทุนและด้านการเงินมีการพัฒนาอย่างรุดหน้า

        สอดคล้องกับความต้องการการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาของจีน-ไทยทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันเป็นการมอบพื้นที่ว่างที่กว้างขวาง เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจโลก และผลักดันการพัฒนาด้านการค้าในอีกหลายๆ ประเทศ

        ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในช่วงเวลาที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ จะสามารถเขียนหนังสือเกี่ยวกับการแนะนำผู้นำของประเทศจีนที่นำพาประชาชนจีนไปแสวงหาความสุข มาให้ผู้นำของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน

ผลกระทบต่อความสัมพันธ์จีน-ไทยจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

        เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งทางด้านการค้าของทั้งสองประเทศก็มีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ การแย่งชิงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของจีนกับอเมริกา การฟื้นคืนค่านิยมการปกป้องการค้าภายในประเทศของอเมริกาและกลยุทธ์ที่จะควบคุมประเทศจีนของอเมริกา ความขัดแย้งทางการค้าส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองประเทศอย่างมาก

        นับตั้งแต่อเมริกาเปิดสงครามการค้ากับจีน เศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัวอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วยทั้งด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผันผวน สงครามการค้ายืดเยื้อ ทางอเมริกาเองด้านหนึ่งส่งออกเงินดอลลาร์ไปทั่วโลก อีกด้านหนึ่งก็พยายามหลีกเลี่ยงการขาดดุลทางการค้า มุ่งแสวงหาการค้าที่เกินดุลเพียงอย่างเดียว เมื่อได้รับผลกระทบทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนและภาษี นักธุรกิจจีนจำนวนมากจึงเลือกที่จะไปลงทุนและสร้างโรงงานในประเทศไทย และเพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนให้ไปลงทุนที่ประเทศไทยให้ได้จำนวนมากๆ รัฐบาลไทยจึงเสนอนโยบายพิเศษต่างๆ มากมาย เช่น นโยบายปลอดภาษีนานถึง 8 ปี เป็นการดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคให้มาปักหลักลงทุนที่ไทย ช่วยให้มีธุรกิจเกิดเพิ่มขึ้นในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น

ช่วงเวลาระบาดของไวรัสโคโรนา ทางรัฐบาลจีน-ไทย ร่วมแรงร่วมใจ ฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

        จีน-ไทยครอบครัวเดียวกัน ปัญหาพาพบมิตรแท้ ประเทศไทยนับว่าเป็นเพื่อนบ้านและพันธมิตรที่ดีกับประเทศจีนเสมอมา ช่วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานั้นได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนแก่ประเทศจีนเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี รัฐบาลไทย ได้บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ในการรักษาผู้ป่วยให้กับประเทศจีน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บันทึกเทปโทรทัศน์ โบกมือให้กำลังใจพร้อมตะโกนว่า ‘จีน-ไทยร่วมใจ ร่วมสู้ไปด้วยกัน’ และชาวไทยอีกมากมายก็ได้แสดงถึงความหวังดี และส่งมอบความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่างๆ อีกมากมาย

        นับจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดไปทั่วโลก เราทั้งสองประเทศร่วมลงเรือลำเดียวกัน ช่วยเหลือดูแลกันและกัน สัมผัสและรับรู้ได้ถึงมิตรภาพที่จริงใจที่สุดของทั้งสองประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องการวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาอย่างเร่งด่วนนั้น ทางรัฐบาลจีนก็รีบส่งมอบวัคซีนเพื่อช่วยเหลือทางรัฐบาลไทย เหตุการณ์นี้ทำให้พวกเราซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง

        เรื่องราวต่างๆ เป็นการยืนยันว่า “จีน-ไทยครอบครัวเดียวกัน” นั้น ไม่ได้เป็นคำขวัญที่หยิบยกมากล่าวกันทั่วไป หากแต่รับรองด้วยความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจของรัฐบาลและประชาชนทั้งสองประเทศ และในการฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันนั้นเอง มิตรภาพของจีน-ไทยทั้งสองประเทศก็ได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น ประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

        ในช่วงเวลาสองปีที่โรคระบาดคุกคาม รัฐบาลจีนและไทยทั้งสองประเทศยังรักษาการติดต่อสื่อสารกันเป็นอย่างดี ร่วมมือกันต่อสู้กับโรคระบาดอย่างขันแข็ง จนเกิดผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม แม้ช่วงเวลานี้ ช่องทางการติดต่อสื่อสารการไปมาหาสู่ของจีน-ไทยทั้งสองประเทศอาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เศรษฐกิจการค้าของทั้งสองประเทศยังคงรักษาอยู่ในสถานะที่ดูเหมือนนิ่งแต่มีความก้าวหน้า และภายใต้ความขยันขันแข็งของพวกเราทั้งสองประเทศ ไวรัสโคโรนาได้ถูกควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาจนสำเร็จ ผลกระทบจากโรคระบาดนี้กำลังลดลง และเชื่อว่าอีกไม่นานจีน-ไทยทั้งสองประเทศก็จะสามารถไปมาหาสู่กันได้ดังเดิม

เศรษฐกิจฟื้นตัว ไม่นานเกินรอ

        ปัจจุบัน ประเทศไทยคาดหวังว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ลงทุนในภาคการศึกษาและการเปิดกว้างธุรกิจการท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ จะค่อยๆ เป็นจริง ความร่วมมือจีน-ไทยทั้งสองประเทศนับวันยิ่งลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาสถานการณ์ระหว่างประเทศเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สงครามการค้า ความขัดแย้งทางการเมือง การเหยียดชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่พวกเราก็มีความเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และความร่วมมือในด้านต่างๆ ของจีน-ไทยทั้งสองประเทศจะมั่นคงไม่สั่นคลอน มีแต่จะมั่นคงแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น

        ในขณะเดียวกันพวกเราก็เชื่อมั่นว่า สภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยในการลงทุนการค้าในประเทศไทย สถานภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศจีน ความร่วมมือที่เหนียวแน่นของทั้งสองประเทศ จะมีผลช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย จะสร้างความสุขอย่างยิ่งให้กับทั้งสองประเทศ และกลายเป็นประเทศที่มีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูงแห่งใหม่

ภาพความหวังและการรอคอยที่สวยงาม

        ปัจจุบันข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก และดำรงแหน่งนายกสภาของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีความปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นทั้ง 2 ประเทศ จับมือร่วมก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนในการผลักดันการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมจีน-ไทย และในอนาคตข้าพเจ้าจะใช้ความสามารถที่ตนมี ผลักดันสนับสนุนงานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) และงานเส้นทางสายไหมทางทะเลอย่างเต็มความสามารถ

        ข้าพเจ้าเชื่อว่าภายใต้การร่วมแรงร่วมใจของจีน-ไทย และกลุ่มประชาคมอาเซียน เราจะสามารถเอาชนะไวรัสโคโรนาได้ในเร็ววัน และเศรษฐกิจจะฟื้นฟูโดยเร็ว โดยเรามีความสามารถและความเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าเดิมได้

        ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขออำนวยอวยพรให้ความสัมพันธ์จีน-ไทยยืนยาว อนาคตรุ่งเรืองสดใส และสร้างสุขให้กับประเทศที่มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน

ศาสตราจารย์ ดร. นพ. กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์ ดร. นพ. กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก นักการศึกษาและนักการเมืองอาวุโสมากความสามารถ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไทย, กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งประเทศไทย

        นอกจากชีวิตนี้จะไม่เคยมีคำว่า “เกษียณ” แล้ว ในวัย 87 ปี ของ ศ.ดร.นพ.กระแส ยังคงไฟแรงอุทิศตนทำงานเพื่อพัฒนาแวดวงการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นงานที่ทำด้วยความรักและศรัทธา

Tags:
No items found.