‘สื่อสิ่งพิมพ์จีน’ ตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์จีน-อาเซียน
6
June
2023
6
June
2023
ภายในร้านหนังสือ Union Book ที่สิงคโปร์ พนักงานค่อยๆ หยิบหนังสือภาษาจีนขึ้นจัดเรียงบนชั้นวางทีละเล่ม ลูกค้าต่างมองหาหนังสือเล่มที่ตัวเองสนใจ ที่ร้านแห่งนี้มีหนังสือออกใหม่จากประเทศจีนมากกว่า 200 ประเภท ครอบคลุมทั้งเนื้อหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา ศิลปะ ฯลฯ นอกเหนือจากการจำหน่ายหนังสือภายในร้านแล้ว ร้านหนังสืออีกหลายแห่งในสิงคโปร์ก็สั่งซื้อหนังสือภาษาจีนนำเข้าผ่านทาง Union Book ด้วยเช่นกัน
Union Book เป็นสำนักพิมพ์จากฮ่องกงที่เข้ามาตั้งสำนักงานที่ชั้น 2 ของร้านหนังสือนานาชาติ ตรงข้ามท่าเรือ Clifford ในสิงคโปร์ เมื่อปี 1952 มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 71 ปี โดย Union Book ไม่ใช่แค่ร้านจำหน่ายหนังสือ แต่ยังผลิตสื่อการเรียนการสอนและตีพิมพ์นิตยสารด้วย “ร้านของเรามักจะจัดงานแนะนำหนังสือหรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้กับผู้อ่านในแต่ละช่วงอายุ เพื่อช่วยผลักดันให้สื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนเข้าถึงผู้อ่านในสิงคโปร์มากขึ้น” หม่า เสี่ยวหมิ่น กรรมการผู้จัดการ Union Book กล่าว
ในมุมมองของ หม่า เสี่ยวหมิ่น ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นยุคทองของการพัฒนาตลาดสื่อสิ่งพิมพ์จีนในสิงคโปร์ “จากการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของจีน ทำให้วัฒนธรรมจีนได้รับความสนใจจากสังคมสิงคโปร์มากขึ้น พ่อแม่ยุคใหม่ต้องการให้ลูกได้สัมผัสกับวัฒนธรรมจีน หนังสือสำหรับเด็กที่เรานำเข้ามาทำยอดขายได้ดีมาก โดยเฉพาะหนังสือภาพเล่าเรื่องวัฒนธรรมจีนที่ขายดีเป็นพิเศษ”
เช่นเดียวกันกับหลายประเทศในอาเซียนที่สื่อสิ่งพิมพ์จีนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ปี 2022 นิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 6 ได้จัดขึ้นในหลายประเทศอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย และสปป.ลาว โดยนิทรรศการหลักจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ช่วงเวลาเดียวกันกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ภายในงานมีสำนักพิมพ์มากกว่า 100 สำนักพิมพ์ และ 10 พับลิชชิ่งกรุ๊ปยักษ์ใหญ่ของจีน ขนทัพหนังสือมาเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 6,000 ปก จำนวนนับ 10,000 เล่ม
ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลายปีมานี้นิทรรศการสิ่งพิมพ์จีนสัญจรฯ มีส่วนช่วยให้มีหนังสือแปลจากภาษาจีนจำนวนมากถูกป้อนเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าสู่ร้านหนังสือ โรงเรียน สามารถสร้างผลกำไรและได้เสียงตอบรับที่ดีจากสังคมอย่างน่าชื่นชม ทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นภาพสะท้อนของการทำคุณประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ทั้ง 2 ประเทศ
นับตั้งแต่มีการดำเนินโครงการความร่วมมือแปลงานเขียนคลาสสิคของเอเชีย จีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการแปลและตีพิมพ์ผลงานคลาสสิกร่วมกับ สิงคโปร์ สปป.ลาว และหลายประเทศในอาเซียน สื่อสิ่งพิมพ์ของจีนได้รับการแปลและตีพิมพ์ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เข้าร่วมในงานมหกรรมหนังสือนานาชาติและงานนิทรรศการสัญจรต่างๆ ในอาเซียน ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทรัพยากรช่องทางและบุคลากรร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันสร้างสะพานเชื่อมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมแบบสองทางผ่านผลงานที่ยอดเยี่ยม
หนังสือเป็นตัวกลางสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนอารยธรรมมาตั้งแต่โบราณ “งานประชุมฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18” จะจัดขึ้นในวันที่ 19 มิ.ย.2566 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วย “การสร้างห้องสมุดอัจฉริยะและส่งเสริมการอ่าน"
ภายในงาน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมและตัวแทนจากหอสมุดประเทศต่างๆ จะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเรื่องการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะในยุคดิจิทัล การฟื้นฟูและปกป้องหนังสือโบราณ การส่งเสริมการอ่าน และกระชับความร่วมมือด้านห้องสมุดและสื่อสิ่งพิมพ์ระหว่างจีน-อาเซียน เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาห้องสมุดในภูมิภาคจีน-อาเซียนอย่างมีคุณภาพ
ข้อมูลจาก: สำนักข่าวซินหัว, Lianhe Zaobao, Guangming Online
เรียบเรียงโดย: หวง ลี่เสีย China-ASEAN Panorama