จีนมาแน่ ! ลงทุนไทยระลอกใหม่หลัง COVID-19
21
October
2024
15
February
2021
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราคงไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นธุรกิจบริการสัญชาติจีนอย่างร้านอาหาร โลจิสติกส์ รวมไปถึงสินค้าเทคโนโลยีแบรนด์ดังๆจากจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทย แต่ภาพนี้กำลังจะมีแนวโน้มปรากฏให้เห็นมากขึ้น ในยุคที่โครงสร้างการลงทุนจากจีนในไทยมีทิศทางที่เปลี่ยนไป
จากการเปิดเผย“รายงานส่องทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยหลัง COVID-19”จัดทำขึ้นโดยธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อเร็วๆนี้ ชี้ให้เห็นว่า คลื่นการลงทุนระลอกใหม่จากจีนจะหลั่งไหลเข้าไทยอย่างเหนือความคาดหมายหลัง COVID-19 และจะเปลี่ยนจากการลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิตมาเป็นขยายตลาดในไทยและอาเซียน นอกจากนี้จะมีมูลค่าเม็ดเงินต่อโครงการขนาดเล็กลงและกระจายตัวไปสู่ธุรกิจบริการและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
หลัง COVID-19 คาดจีนลงทุนไทยเกินความคาดหมาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับวันการลงทุนจากจีนยิ่งเติบโตและมีบทบาทมากขึ้น จากที่ไม่เคยติดอยู่ในอันดับ TOP5 ของไทย แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนของจีนได้มีการเร่งตัวขึ้นแบบมาแรงแซงโค้ง จนก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งครั้งแรกในปี 2018 และในปี 2019 ติดต่อกัน
มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า แม้ในปี 2020 ที่ผ่านมา COVID-19 จะเป็นอุปสรรคให้การลงทุนมีการชะลอตัวไปบ้าง แต่จากการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยภายหลัง COVID-19 โดยจัดทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั้งที่อยู่ในประเทศจีนและในประเทศไทยจำนวน 170 ราย พบว่านักลงทุนจีนมากกว่า 2 ใน 3 หรือราว 66% มีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นภายในอีก 2 ปีข้างหน้า
ที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจนี้ ประกอบด้วยนักลงทุนจีนที่ลงทุนหรือมีธุรกิจในไทยอยู่แล้วประมาณ 60% ส่วนอีก 40% เป็นนักลงทุนจีนที่ยังไม่ได้มาที่ไทย แต่มีความสนใจและมุ่งหาโอกาสอยู่
จากการประเมินของผู้บริหาร SCB เมื่อ COVID-19 จบแล้ว จะมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI)จากจีนเข้ามาไทยอย่างล้นหลามเกินความคาดหมาย ส่วนหนึ่งมาจากดีมานด์ที่อั้นไว้จากในปีก่อนและปีนี้ ประกอบกับปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนกับประเทศตะวันตก ทำให้มีเม็ดเงินการลงทุนจากจีนที่จะผันมาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โรคระบาดครั้งนี้จะทำให้มีการเปลี่ยนขั้วเรื่องแนวคิดของนักธุรกิจจีนต่อประเทศตะวันตกเป็นอย่างมาก และไทยก็เป็นประเทศเป้าหมายหลักของธุรกิจจีนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า เม็ดเงินลงทุนจากจีนจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมาก จากเดิมที่เน้นลงทุนเพื่อเป็นฐานการผลิตสำหรับส่งออกเป็นหลัก เปลี่ยนมาเป็นเน้นเจาะตลาดไทยมากขึ้น โดยมองว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพและตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เพื่อเป็นศูนย์กลางขยายตลาดสู่อาเซียน ส่วนปัจจัยด้านนโยบายภาครัฐของไทยนับเป็นปัจจัยระดับรองลงมา ขณะที่ปัจจัยต้นทุนที่ถูกกว่าไม่ใช่เหตุผลสำคัญของการตัดสินใจมาลงทุนที่ไทย
เม็ดเงินลงทุนต่อโครงการเล็กลง แต่กระจายตัวมากขึ้น
ผลสำรวจครั้งนี้ยังระบุถึงอีกหนึ่งแนวโน้มที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างการลงทุน จากเดิมที่การลงทุนจากจีนในไทยจะกระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงและมุ่งเน้นเพื่อการส่งออก เปลี่ยนมาสู่โครงการที่มีมูลค่าเงินลงทุนเล็กลง แต่จะมีจำนวนมากขึ้น และกระจายตัวไปในหลากหลายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจบริการ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจโลจิสติกส์
“ เมื่อ 5 ปีก่อน เราคงไม่คาดคิดว่าจะมีเชนร้านอาหารจากจีนที่เริ่มเข้ามาเปิดมากขึ้นในไทยและขายดีด้วยอย่างในวันนี้ หรือแม้แต่การขยายตัวของสำนักงานทนายความจากจีนตามแนวโน้มนักธุรกิจจีนที่ขยายตัวมากขึ้น” มาณพยกตัวอย่างธุรกิจบริการใหม่ๆจากจีนที่เริ่มเข้ามาปักธงในไทย โดยจากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 57% สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยมีมูลค่าการลงทุนต่อโครงการต่ำกว่าระดับ 500 ล้านบาทลงมา ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนมาสู่โครงการที่มีขนาดเล็กลง จากเดิมในอดีตที่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ล้านบาท เช่น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ และแผงพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้เป็นเพราะบริษัทจีนในกลุ่มเอสเอ็มอีต้องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า อีกทั้งต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของสายการผลิตให้กับอุตสาหกรรมหลัก (Supply Chain Integration) ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในช่วงแรกน้อยลงเพื่อเรียนรู้ตลาดก่อนขยายธุรกิจในอนาคตตามโอกาสและทิศทางการเติบโต โดยภาคธุรกิจบริการและเทคโนโลยี เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป
โอกาสและความท้าทาย
แม้แนวโน้มการเข้ามาของนักลงทุนจีนจะก่อให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ที่สร้างคุณค่าต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีความท้าทายไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการไทย
“ เราจะเห็นนักธุรกิจจีนเข้ามาในไทยมากกว่านี้อีกเยอะ และจะกระจายตัวไปในหลากหลายธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้ามาหาช่องทางการตลาดในไทยเพิ่มมากขึ้น ในแง่หนึ่งจึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปเป็นพันธมิตรร่วมทุนหรือจับมือทำการค้าต่างๆร่วมกัน รวมถึงการให้บริการให้กับนักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเป็นทวีคูณ”
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญ คือ “สมการการแข่งขันที่เปลี่ยนไป” จากเดิมที่นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจในไทยเท่าไหร่ จึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อดีมานด์ซัพพลายในประเทศ
แต่เมื่อทิศทางการลงทุนกำลังเปลี่ยนมาโฟกัสที่ตลาดไทยมากขึ้น จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการไทยจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะนักธุรกิจจีนโดยทั่วไปมักมีความรวดเร็ว มีความได้เปรียบด้านเงินทุน และเทคโนโลยีของตัวเอง อีกทั้งยังมีประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูงในประเทศจีน ประกอบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแบรนด์จีนที่ก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงระดับโลกมากขึ้น สินค้าจีนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในด้านคุณภาพ ดีไซน์สินค้า และเทคโนโลยี
ความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องตื่นตัวและปรับตัว เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะทวีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแสวงหาแนวทางการร่วมเป็นคู่ค้ากับนักลงทุนจีนเพื่อต่อยอดโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องความเข้าใจตลาดผู้บริโภค กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบ
ขณะที่ทักษะทางด้านภาษาจีน ความเข้ารู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและแรงงานไทยให้สามารถคว้าโอกาสจากกระแสการเข้ามาลงทุนระลอกใหญ่จากนักลงทุนจีนได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น
เจาะลึกการลงทุนจีนในไทย
นับตั้งแต่ปี 2015 การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของจีนในไทยไต่อันดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งครั้งแรกในปี 2018 จากข้อมูลสถิติการลงทุนสะสมจากต่างประเทศที่ยื่นขอบีโอไอ ในช่วงปี 2017-2019 พบว่านักลงทุนจีนมีมูลค่าการลงทุนสะสมอยู่ที่ 3.45 แสนล้านบาท รั้งอยู่ในอันดับ 2 รองจากสหรัฐที่มีมูลค่าอยู่ที่ 3.66 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมโครงการที่มีเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ของ Exxon Mobil สัญชาติสหรัฐ ที่มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ถือได้ว่าจีนได้ขยับบทบาทขึ้นมาเป็นประเทศที่มีมูลค่าการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนสะสมมากที่สุด โดย 3 หมวดอุตสาหกรรมที่จีนยื่นขอบีโอไอมากที่สุด ได้แก่ 1.หมวดบริการและสาธารณูปโภค จากการขยายตัวของโครงการขนส่งทางรางและกิจการโรงแรม 2.หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จากการขยายตัวกิจการผลิตยางล้อและกิจการผลิตรถยนต์ และ 3. หมวดแร่ เซรามิกส์ และโลหะ โดยเป็นการขยายตัวของกิจการผลิตเหล็ก
ขณะที่ในช่วง 9 เดือนของปี 2020 แม้ผลกระทบจาก COVID-19 จะทำให้การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของจีนปรับตัวลดลง 53% มาอยู่ที่ 2.13 หมื่นล้านบาท แต่ยังคงรั้งอยู่ในอันดับ 2 รองจากจากญี่ปุ่นที่มีมูลค่า 3.75 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน กลับพบว่าจีนเป็นประเทศได้รับการอนุมัติการลงทุนมากที่สุดโดยมีมูลค่าอยู่ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 20% สูงกว่าญี่ปุ่นซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติ 4.76 หมื่นล้านบาท โดยกิจการที่จีนเข้ามาลงทุนในไทยมูลค่าสูงที่สุดได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร (สัดส่วน 42%) 2.แร่และเซรามิกส์ (35%) และ 3.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (8%)
จุดที่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบภาพโครงการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2020 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าคือเริ่มเห็นเทรนด์การลงทุนจากจีนที่มีการขยายตัวในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หมวดธุรกิจบริการและสาธารณูปโภค และหมวดอุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอมากขึ้น ขณะที่หมวดอุตสาหกรรรมหนักอย่างผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักรเริ่มมีสัดส่วนที่ลดลง
ด้านภาพรวมการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่จีนออกไปลงทุนในต่างประเทศทั่วโลก จากข้อมูลในปี 2015-2019 การลงทุนของจีนในภูมิภาคเอเชียและไทยยังคงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยปี 2019 ยอด FDI สะสมของจีนในอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ขณะที่ในไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.3%
แม้จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์อันดีและสัดส่วนปริมาณการค้าระหว่างไทยจีน และยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV ที่จีนเข้าไปลงทุนในสัดส่วน 3-4%
“ เรามองว่ายังมีโอกาสที่สัดส่วนการลงทุนจากจีนในไทยจะขยายตัวเพิ่มกว่านี้ แม้โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ CLMV จะพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากจีนค่อนข้างมาก และมีพรมแดนติดต่อกันกับจีนทำให้มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิด แต่เชื่อว่าไทยยังมีจุดแข็งและศักยภาพที่จะวางตำแหน่งของตัวเองที่แตกต่างออกไปจาก CLMV ที่มีจุดแข็งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยใช้การเป็นจุดยุทธศาสตร์ของไทยที่มีโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนความพร้อมของบุคลากรและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวต่อยอดให้กับนักธุรกิจจีน ” มาณพ ผู้บริหาร SCB ระบุ