‘เศรษฐกิจจีน’ ไตรมาสแรกขยายตัว 18.3% คาดทั้งปี 2564 เติบโต 8-8.5%
12
January
2022
1
May
2021
เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกปี 2564 เติบโตร้อยละ18.3 สูงสุดในรอบ 29 ปี เมื่อเทียบจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ปีก่อน เศรษฐกิจจีนหดตัวถึงร้อยละ 6.8 จากการล็อกดาวน์ทั่วประเทศในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากเปรียบเทียบการเติบโตเศรษฐกิจรายไตรมาสที่อาจสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า จะเห็นว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงร้อยละ 0.6 (QoQ) จากความเปราะบางของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการผลิตและการลงทุนที่ฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละหมวดหมู่อุตสาหกรรม รวมถึงภาพรวมการส่งออกที่ยังถูกกดดันจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่
- ภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคภาคเอกชนของจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดโควิด แม้จะมีคำสั่งปิดเมืองในบางพื้นที่ ในช่วงต้นปี 2564 และระงับการเดินทางข้ามเขตในช่วงเทศกาลปีใหม่จีน แต่การค้าปลีกออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่องหนุนการขยายตัวของตัวเลขการค้าปลีก (Retail Sale) ในไตรมาสแรกของปี 2564 ให้เติบโตร้อยละ 33.9 (YoY)
- ภาคการผลิตของจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่เติบโตในอัตราที่ต่างกันในแต่ละภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นขับเคลื่อนด้วยภาคการผลิตที่ใช้อุตสาหกรรมขั้นสูงเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนฉบับที่ 14 ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ในแง่ของการเติบโตรายอุตสาหกรรม มูลค่าเพิ่มของการผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.9 และ 31.2 (YoY) ตามลำดับ หรือนับเป็นการเติบโตเฉลี่ยสองปีที่ร้อยละ 9.7 และ 12.3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ หุ่นยนต์ไมโครคอมพิวเตอร์และวงจรรวม ล้วนขยายตัวมากกว่าร้อยละ 60.0 (YoY)
- ภาพรวมการส่งออกของจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง หากเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอดการส่งออกยังต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยการส่งออกในไตรมาส 1/2564 ขยายตัวร้อยละ 48.81 (YoY) ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 27.62 (YoY) แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน การส่งออกหดตัวร้อยละ 9.8 (QoQ) ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.1 (QoQ)
- ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 2564 คาดว่าจะฉายภาพการเติบโตต่อเนื่อง แต่ต่ำกว่าที่คาดไว้ จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังล่าช้า โดยข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย. 2564 ประชากรจีนได้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 164.5 ล้านโดส ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการได้รับวัคซีนครอบคลุม 560 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากรภายในเดือนมิ.ย. 2564 และครอบคลุม 70% ของประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในเดือนธ.ค. 2564
ในขณะที่การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจเร็วเกินไป ท่ามกลางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนยังไม่กลับมา อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจีนในระยะข้างหน้า
ขณะที่ทิศทางการส่งออกของจีนในปี 2564 ยังเผชิญความท้าทาย ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามทางการค้าที่อาจขยายเป็นวงกว้าง จากท่าทีของกลุ่ม G7 ที่มีทิศทางในการรวมกลุ่มเพื่อตอบโต้จีน และกล่าวหาจีนในการใช้นโยบายแทรกแซงกลไกตลาด (non-market oriented policies)
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจจีน 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี ไว้ในกรอบประมาณการเดิมที่ร้อยละ 8.0 – 8.5 แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกจะขยายตัวสูงกว่าที่คาด ซึ่งมาจากปัจจัยฐานที่ต่ำเป็นหลัก
ในขณะที่เส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะถัดไป ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในประเด็นความคืบหน้าและประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน รวมไปถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่คลี่คลายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งของไบเดน รวมถึงมาตรการที่กลุ่มประเทศคู่ค้าจะออกมาตอบโต้จีนเพิ่มเติม ทำให้ตัวเลขต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังรุมเร้า คาดว่าทางการจีน ยังมีเครื่องมือและทรัพยากรทางการเงินและการคลังมากเพียงพอ ที่จะประคับประคองให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้ ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวที่คาดการณ์ไว้