Focus

เศรษฐกิจไทยเดินหน้าหลังเปิดประเทศ แต่การฟื้นตัวยังเต็มไปด้วยโจทย์ท้าทาย

12

January

2022

2

November

2021

        1 พ.ย. 2564 ดีเดย์ไทยเปิดประเทศวันแรกต้อนรับนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศ/พื้นที่กลุ่มเสี่ยงต่ำ อาทิ จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในยุโรป ทยอยเดินทางเข้าเมืองไทยอย่างคึกคัก ประเดิมวันแรก 91 เที่ยวบิน ด้วยจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 6,613 คน

        การเปิดประเทศครั้งนี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญของปรับเปลี่ยนทิศทางเชิงนโยบายของภาครัฐในรอบเกือบ 2 ปีไปสู่การ“อยู่ร่วมกับโควิด” (Living with Covid) พร้อมกับความหวังในการฟื้นท่องเที่ยวซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจราว 1 ใน 5 ของ GDP

        อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นประเทศในลำดับต้น ๆ ในภูมิภาคที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่หลายฝ่ายประเมินว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าผลบวกที่ชัดเจนน่าจะได้เห็นในปีหน้า ท่ามกลางโจทย์ท้าทายของการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลายปัจจัยที่ยังต้องจับตา

ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 เดือนสุดท้ายปีนี้ เพิ่มขึ้น 64%

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลจากการเปิดประเทศ น่าจะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีมาตรการ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.8 แสนคน (จากคาดการณ์เดิมที่ 1.5 แสนคน) สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท โดยรายได้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ยังกระจายอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

        ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานการณ์ต่างๆ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง คงจะช่วยหนุนให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยมีความชัดเจนมากขึ้นอีกในช่วงปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสำคัญอย่างจีนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกลับมาท่องเที่ยว

        อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ทางการไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีโจทย์สำคัญในการที่จะต้องควบคุมการระบาดของโควิด และลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เพื่อทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยจากโควิด รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด ให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนครบโดสให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่หรือเข้าถึง 70% ในพื้นที่ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่

เศรษฐกิจไทยเดินหน้าหลังเปิดประเทศ…แต่ท้องฟ้ายังมีเมฆมาก

        KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตอยู่ที่อัตรา 3.9% โดยเศรษฐกิจจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด จนถึงปี 2566 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าเริ่มฟื้นตัว หลังเปิดเศรษฐกิจและเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้อย่างช้า ๆ และการฟื้นตัวยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยความเสี่ยงสำคัญในปี  2565 คือการระบาดในประเทศรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทย

        KKP Research ระบุว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศในลำดับต้น ๆ ในภูมิภาคที่เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่มาก ทั้งมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศต้นทาง จำนวนเส้นทางบินที่ลดลงจากธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงโควิด รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนที่จะยังคงหายไปตลอดช่วงครึ่งปีแรกเป็นอย่างน้อย จะส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นไปได้อย่างจำกัดในระยะแรก ก่อนที่การท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาคึกคักมากขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปีประมาณ 5.8 ล้านคน ต่ำกว่าระดับ 40 ล้านคนในปี 2562

ความเสี่ยงสำคัญในปี 2565 คือการระบาดในประเทศรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทย

        ทั้งนี้ 3 ปัจจัยหลักซึ่งส่งผลให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยยังมีข้อจำกัดหลังเปิดประเทศ ได้แก่ (1) การคงมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศหรือดินแดนในฝั่งเอเชียส่วนใหญ่ที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวหลักของไทยและคิดเป็นถึง 75% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อนโควิด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเอเชียจะยังคงเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก และจะยังเข้ามาไทยในสัดส่วนที่น้อยกว่าช่วงสถานการณ์ปกติมาก

        (2) นักท่องเที่ยวจีนที่จะหายไปตลอดครึ่งปีแรกและอาจยังไม่กลับมากระทั่งปลายปี จากนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของทางการจีน ในห้วงเวลาที่จีนจะจัดกิจกรรมสำคัญซึ่งรวมถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ และการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

        (3) การเดินทางโดยเครื่องบินที่จะยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ทั้งจากจำนวนและเส้นทางเที่ยวบินที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะเส้นทางบินระยะไกล และความกังวลต่อการเดินทางโดยเครื่องบินของนักท่องเที่ยวบางส่วน

การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย เผชิญหน้า 3 ปัจจัยเสี่ยง

        นอกจากนี้ KKP Research ยังวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเพิ่มเติมที่ต้องจับตาอีก 3 ประการ ได้แก่ (1) ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ (3) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยไทยที่อาจถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา

        ทั้งนี้ KKP Research มองว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว การส่งออกสินค้าไทยยังพึ่งพาตลาดจีนสูงถึง 14% ของมูลค่าการส่งออกรวม หรือคิดเป็น 6% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

        ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มแผ่วลงจากการตึงตัวด้านพลังงาน การขาดแคลนตู้ขนส่งและสภาพคล่องทางการเงินในภาคธุรกิจ และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และสินค้าขั้นกลาง ที่ไทยส่งออกไปจีนในสัดส่วนสูง

        ขณะที่ในระยะต่อไปความเสี่ยงในด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนจะยังมีอยู่ จากการปรับเปลี่ยนนโยบายเชิงโครงสร้างของทางการจีนเพื่อสนับสนุนการพึ่งพาตนเองทั้งในด้านการผลิตและตลาด ตลอดจนการส่งเสริม ‘ความมั่งคั่งร่วมกัน’ (Common Prosperity) ที่อาจกระทบต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจจีนและธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในจีน

        นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดยังคงมีอยู่ และด้วยนโยบายกดโควิดให้เป็นศูนย์ การปิดเมืองและการปิดกั้นการเดินทางอาจจำเป็นต้องนำมาใช้อีกครั้งหากการระบาดระลอกใหม่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้

Tags: