Focus

จับตาสถานการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2022

29

April

2022

22

March

2022

        ส่องทิศทางเศรษฐกิจจีนปีเสือผ่านมุมมอง 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน หลิว หยวนชุน มหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University of China) , เผิง เหวินเซิง นักเศรษฐศาสตร์จาก China International Capital Corporation (CICC) และเสิ่น เจี้ยนกวง นักเศรษฐศาสตร์ของ JD.com ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของในจีนในปี 2022

        รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ได้สรุปประเด็นสำคัญจากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ ในภาพรวมทั้ง 3 ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในทิศทางที่ดี และจะมีนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในอนาคตมีโอกาสในการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดทุนของจีนยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญผ่าน 3 มุมมองผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ได้แก่

        1) แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคของจีนในปี 2022 จะยังคงมีเสถียรภาพ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับสัญญาณเชิงลบ เช่น การหดตัวของอุปสงค์ ภาวะอุปทานตึงตัว และความคาดหวังต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคของจีนในปีนี้ จะยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในทิศทางที่ดี เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง มีนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีความความก้าวหน้ามากขึ้น มีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ และมีการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2022 จีนจะยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

        นอกจากนี้ ในระยะกลางและระยะยาว จีนจะยังคงมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจีนจะกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจรอบด้าน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ที่เศรษฐกิจจีนได้รับแรงกดดันจากหลายทิศทาง แต่ยังคงมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และคาดการณ์ว่าในปี 2022 การส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนสีเขียว การลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และเศรษฐกิจดิจิทัลที่รองรับการเติบโตเศรษฐกิจจีน การปฏิรูปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

        2) จีนจะมีนโยบายสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการปฏิรูป และการปรับเปลี่ยนนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบาย เช่น นโยบายด้านการเงิน ให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม เพิ่มวงเงินการลงทุนในทุกพื้นที่มากถึง 1.46 ล้านล้านหยวน เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นได้คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของการลงทุนในปี 2022 จะมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนยังได้กำหนดให้ปี 2022 เป็นปีแห่งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรักษาอุปสงค์จากนักลงทุนในต่างประเทศ

        3) จีนจะสนับสนุนและสร้างโอกาสในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยที่จะช่วยผลักดันโอกาสที่สำคัญ ได้แก่ (1)นวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีน (2)การพัฒนารูปแบบใหม่ที่ช่วยปรับปรุงห่วงโซ่อุปสงค์ และอุปทานอุตสาหกรรมภายในประเทศ (3)แผนการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการหลักต่างๆ กว่า 102 แห่งทั่วประเทศ (4)จีนสามารถขจัดปัญหารายได้ปานกลาง ทำให้การบริโภคมีคุณภาพที่สูงขึ้น และมีการให้บริการสาธารณะที่หลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และ (5)มีการพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันตกให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งมีการขยายตัวของเมืองให้รองรับการลงทุนที่มีคุณภาพ

        นอกจากนี้ การที่จีนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ มีการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม และยกระดับการบริโภค ก็เป็นปัจจัยที่จะสร้างโอกาสในการลงทุนได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสถานีฐาน 5G การเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองต่างๆ รวมทั้งจัดทำสถานที่สำหรับชาร์จไฟฟ้ารถยนต์พลังงานใหม่ การมีศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ และนวัตกรรมสำหรับการทดแทนแรงงานคน การเพิ่มขึ้นของการลงทุนภายใต้โครงสร้างพื้นฐานใหม่ของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเพิ่มโอกาสด้านการลงทุนให้แก่จีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

        4) จีนจะมีความมั่นคงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุปสงค์ของที่อยู่อาศัยภายใน ประเทศยังคงมีทิศทางที่ดี นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะที่รัฐบาลให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอุปสงค์และนโยบายดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

        5) จีนจะมีโอกาสในการพัฒนาตลาดทุนที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสถาบันด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่คาดการณ์ว่าในปี 2022 GDP ของจีนจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.2 – 5.6 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วถึงร้อยละ 1.3 – 1.5 ส่งผลให้เศรษฐกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น ทำให้โดยภาพรวมตลาดทุนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากกว่าในปี 2021

        นอกจากนี้ จะมีการปฏิรูปเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงให้แก่ระบบตลาดทุนของจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจมหภาค และตลาดทุนของจีนจะยังคงมีความเป็นเป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม มูลค่าโดยรวมของตลาดหุ้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงแต่ก็ยังคงมีสภาพคล่อง ในขณะที่การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี และนโยบายการพัฒนาตลาดทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว

        ไม่เพียงเท่านั้น การใช้นโยบายของรัฐบาล และระบบที่ไม่แทรกแซงการขยายตัวของตลาด ทำให้กลไกตลาดดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และคาดการณ์ว่าในอนาคตตลาดทุนของจีนจะดึงดูดการลงทุนมากขึ้น และเงินหยวนจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากขึ้นในโลกอีกด้วย

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัว

        รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงานของจีนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2022 จะยังคงมีเสถียรภาพ และเติบโตอยู่ในทิศทางที่ดี ขณะที่“การลงทุน”จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน

        นอกจากนี้ ในปี 2022 จีนจะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อปรับปรุง และยกระดับโครงสร้างการบริโภคของประชาชนภายในประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการบริโภครูปแบบใหม่ เช่น การบริโภคสีเขียว และการใช้ระบบอัจฉริยะในการทดแทนแรงงานคน เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจดังกล่าวของจีน และนโยบายต่างๆ ที่จีนให้ความสำคัญ ย่อมมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบาย และแผนการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายในการแสวงหาโอกาสในการเจาะตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเตรียมการรับมือเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการค้าของไทยในตลาดจีนด้วยเช่นกัน

Tags: