Focus

'มะเขือเทศ' ออกแบบรสชาติได้ จีนทำได้ถึงขนาดนี้!!

17

February

2023

17

February

2023

        ชอบแบบออกเปรี้ยว หรือ ออกหวาน ฟาร์มมะเขือเทศที่นี่จัดให้ได้ !เดี๋ยวนี้ จีนไฮเทคถึงขั้นปลูกมะเขือเทศออกแบบรสชาติได้แถมยังให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหลายเท่า

        ฟาร์มอัจฉริยะแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองเต๋อโจว มณฑลซานตง ฐานการผลิตเกษตรไฮเทคที่สำคัญของจีน

        ภายในฟาร์มที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 200 กว่าไร่ มีการปลูกมะเขือเทศมากกว่า 300,000 ต้นในเรือนกระจก

        มีการติดตั้งระบบเซนเซอร์ตามจุดต่างๆถึง 700 ตัว พร้อมด้วยอุปกรณ์ควบคุมต่างๆ อีกกว่า 1,700 ตัว ทำให้สามารถเก็บข้อมูล BigData ในแต่ละวันได้ถึงกว่า 20 ล้านรายการ เพื่อนำมาวิเคราะห์และควบคุมการผลิตได้อย่างแม่นยำ

        ฟู่ เหวินฉี (Fu Wenqi) วิศวกรด้านเทคนิคเผยเคล็ดลับว่า การจะปลูกมะเขือเทศให้ได้รสชาติดีที่สุดต้องคุมอัตราส่วนของน้ำตาลและกรด (sugar-acid ratio) ให้มีค่าความหวาน 5 ส่วนและความเปรี้ยว 1 ส่วน

        ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสร้างน้ำตาลคือ น้ำ ปุ๋ย และแสง

        ทุกๆเช้าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับรังสีดวงอาทิตย์ในฟาร์มจะเริ่มทำงาน ทันทีที่มีตัวเลขสะสมถึงระดับ 100จูลต่อตารางเซนติเมตร ระบบน้ำจะทำงานโดยอัตโนมัติ มะเขือเทศทั้งหมดจะได้รับน้ำที่มีสารธาตุอาหาร 100 มิลลิลิตรภายใน 3 นาที

        ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตคือ การควบคุมระดับคาร์บอนไดออกไซด์

        ภายในโรงเรือนยังมีการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดทิศทางและความเร็วลม มีการควบคุมอุณหภูมิและการไหลเวียนของอากาศ

        ถ้าเมื่อไหร่ที่อากาศเริ่มร้อนขึ้นและความชื้นลดลง อย่างเช่นใกล้เที่ยง ระบบบังแดดบนหลังคาจะทำงานด้วยตัวเองเครื่องพ่นแรงดันสูงจะเริ่มโปรยน้ำเพื่อเพิ่มความชื้น

        พอถึงช่วงกลางคืนระบบให้น้ำให้ปุ๋ยจะทำงานโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้มีระบบระบายอากาศใต้ดินเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิ

        การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาช่วยแบบนี้ทำให้ฟาร์มมะเขือเทศที่นี่ สามารถควบคุมรสชาติได้อย่างแม่นยำและยังมีผลผลิตมากกว่าฟาร์มทั่วไป 3-4 เท่า

        โหว ลี่เสีย (Hou Lixia) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพืชผักสำนักวิชาการเกษตรซานตง บอกว่า โดยทั่วไปรสชาติของมะเขือเทศจะมี 2 ตระกูลหลักๆ คือแบบหวานนำ กับแบบเปรี้ยวนำ

       โดยปัจจุบันรสชาติเปรี้ยวอมหวานของมะเขือเทศสายพันธุ์ Jiahong 100 (嘉红100) ที่ โหว ลี่เสีย และคณะได้วิจัยและพัฒนาขึ้นถือเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในท้องตลาด และยังสามารถทำเงินจากการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับผู้ที่สนใจได้ถึง1.5 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 7.5 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ที่มา: China Face, 科技日报、Sdchina

Tags:
No items found.