PR News

หลักสูตร วทน.2 เปิด 5 รายงานวิชาการ เสนอแนวทางแก้ปัญหาระดับประเทศ

24

March

2023

24

March

2023

        หลักสูตร วทน.2 เปิด 5 รายงานวิชาการ เสนอแนวทางแก้ปัญหาระดับประเทศ ใช้กฎหมายขับเคลื่อนสังคมให้หลุดพ้นข้อจำกัดต่างๆ ประเด็น พัฒนาสมาร์ทซิตี้ มีกฎหมายแล้วแต่ต้องให้เวลา 3 ปีสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้พร้อมพัฒนาไปด้วยกัน ส่วนประเด็นคืนคนดีสู่สังคม ยกกฎหมาย 3 ประเทศ “ อังกฤษ-สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น” รองรับคนพ้นคุก แนะไทย ต้องให้ภาคธุรกิจ สังคมรับรองกฎหมายกับกรมคุมประพฤติ ส่วนเรื่องการหาหลักฐานเอาผิดคดีออนไลน์ เน้นที่พนักงานสอบสวนต้องเข้าถึงที่เกิดเหตุและอุปกรณ์ทันสมัยที่จะเอาผิดคนก่อเหตุ ขณะที่ ปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยกเรื่องน้ำท่วมสะสมยาวนาน 70 ปี ยังแก้ไม่ได้ เสนอแนะให้มีกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของท้องถิ่น สำหรับ ปมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แยกเป็นด้านการเมือง ต้องบังคับใช้กฎหมายเป็นธรรม ด้านเศรษฐกิจ แก้ปัญหาว่างงาน ค่าแรงเท่าเทียม และด้านการศึกษา จัดให้มีการศึกษาทุกระดับเสมอภาค

        เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง รุ่นที่ 2 (วทน.2) วิทยาลัยทนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอบทความทางวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้เข้าอบรม 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่ม 1 กริฟฟิน นำเสนอหัวข้อเรื่องกฎหมายกับการพัฒนา Smart City โดยมี ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ศ.จรัญ ภักดีธนากุล นายนันทน อินทนนท์ และ ผศ.ณชัชชญา ทองจันทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  กลุ่ม 2 ฟีนิกซ์ นำเสนอหัวข้อเรื่องการส่งต่อผู้กระทำความผิดภายหลังพ้นโทษ (คืนคนดีสู่สังคม) โดยมี นางพงษ์สวาท  กายอรุณสุทธิ์ ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ร.ท.ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ น.ส.ณปภัช นธกิจไพศาล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา    

        กลุ่ม 3 ยูนิคอร์น นำเสนอหัวข้อเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยมี รศ.สุเมธ จานประดับ ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ ผศ.ณชัชชญา ทองจันทร์ ดร.ธนสาร จองพานิช เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่ม 4 พีกาซัส นำเสนอหัวข้อเรื่อง การแสวงหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยมี รศ.ณัฐพงศ์  โปษกะบุตร นายสราวุธ เบญจกุล ดร.ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ดร.ปวีณา เอี่ยมศิริกุลมิตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา กลุ่ม 5 สฟริงซ์ นำเสนอหัวข้อเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยมี รศ.ดร.ประสาน บุญโสภาคย์ นายประภาศ  คงเอียด นายธีรศักดิ์  เงยวิจิตร น.ส.ณปภัช นธกิจไพศาล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

        โดยหัวข้อเรื่องกฎหมายกับการพัฒนา Smart City มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมของประเทศไทยในปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้พื้นที่ในพื้นที่รอบเมืองบางส่วนกลายเป็นเมืองที่ใช้ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพื้นที่สู่การกลายเป็นเมืองจนมีการผลักดันนโยบาย Smart City ให้เป็นกลไกที่สามารถสร้างโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

        อย่างไรก็ดีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะยังไม่สามารถนำมาใช้ในการรองรับได้มากนักและการใช้กฎหมายในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะถือเป็นมิติใหม่ที่สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ  โดยรายงานนั้น พบว่าการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะต้องวางแผนครอบคลุมผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับอุตสาหกรรม และเลือกใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะตามประโยชน์ที่เกิดขึ้นมากกว่าการเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย

        การสร้างความร่วมมือและการพัฒนาหุ้นส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะ จะช่วยลดข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและปัญหาด้านการเงิน ซึ่งส่งผลให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และการสนับสนุนเชิงนโยบายกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น การจัดงบประมาณให้กับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย การตรากฎหมายที่เอื้อกับภาคส่วนเอกชน และการให้ความรู้กับประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ และการบริหารจัด โดยกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา 3 ปีเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงาน เอกชน และประชาชน

        สำหรับหัวข้อเรื่องการส่งต่อผู้กระทำความผิดภายหลังพ้นโทษ (คืนคนดีสู่สังคม) มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เราศึกษามาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีการตั้งคำถามการศึกษาขึ้นว่า ประเทศไทยจะกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนขึ้นได้อย่างไร โดยจากผลการศึกษา พบว่า หลักการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดและรวมถึงการสงเคราะห์หลังปล่อยโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคสังคมนี้ ได้รับการยอมรับในสากลว่าเป็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอย่างบูรณาการและยั่งยืน ดั่งที่ปรากฎอยู่ในข้อกำหนดแมนเดลลาและข้อกำหนดโตเกียว แต่ทว่าพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย กลับไม่ปรากฎมาตรการทางกฎหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคสังคมหรือชุมชน หรือแม้กระทั่งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง คงมีเพียงมาตรการกำกับติดตามผู้พ้นโทษใน 13 มาตรการ ที่ให้กรมคุมประพฤติเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงหน่วยงานเดียวเป็นสำคัญเท่านั้น

        นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้สามารถนำเอามาตรการคุมขังผู้พ้นโทษมาใช้ได้อีกด้วย โดยไม่ปรากฎมาตรการคั่นกลางในเชิงทางเลือกให้ใช้บังคับแก่กรณีแต่อย่างใด ซึ่งจากการศึกษามาตรการการมีส่วนร่วมในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในต่างประเทศนั้น ปรากฏว่าตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ ได้รับรองให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ร่วมกับงานคุมประพฤติ มาตรการให้โอกาสการทำงานและการเปิดเผยข้อมูลการต้องโทษจำคุกของผู้พ้นโทษต่อผู้ประกอบการเมื่อจะเข้าทำงานมาใช้อยู่ด้วย ซึ่งเป็นมาตรการเชิงสังคมที่มีประสิทธิภาพอย่างเด่นชัด ส่วนกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ได้รับรองมาตรการการควบคุมตัวโดยชุมชนหรือบ้านกึ่งวิถีมาใช้แก่กรณีเพื่อเป็นทางเลือกแทนการคุมขังได้อยู่ด้วย สำหรับกรณีของประเทศญี่ปุ่น กฎหมายได้รับรองให้มี     กลุ่มประสานความร่วมมือระหว่างนายจ้าง เข้ามารับผิดชอบในการประสานระหว่างผู้ประกอบการกับผู้พ้นโทษเพื่อให้ได้รับโอกาสการทำงานต่อไป

        จากผลการศึกษาเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นทางกฎหมาย ดังนี้ 1) การรับรองโดยกฎหมายให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างกรมคุมประพฤติกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ 2) การรับรองโดยกฎหมายให้เกิดการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยการจัดตั้งกลุ่มประสานความร่วมมือระหว่างนายจ้าง เพื่อเข้ามารับผิดชอบในการประสานระหว่างผู้ประกอบการกับผู้พ้นโทษให้ได้รับโอกาสการทำงาน และ 3) การรับรองให้มีมาตรการการควบคุมตัวโดยชุมชนหรือบ้านกึ่งวิถี มาใช้บังคับเป็นมาตรการทางเลือกก่อนที่จะนำมาตรการคุมขังผู้พ้นโทษมาใช้บังคับต่อไป

        ส่วนในหัวข้อเรื่องปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ มองเรื่องปัญหาน้ำท่วมที่มีมานานกว่า 70 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2485 และในปี 2565 ก็ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมอยู่ ส่วนหนึ่งถูกมองว่าเป็นปัญหาจากโครงสร้างการกระจายอำนาจส่วนราชการในท้องถิ่น โดยงานศึกษาวิจัยนี้จึงทำการศึกษาปัญหาการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยทำการศึกษาความเป็นมาและพัฒนาการของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป ในปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี พ.ศ. 2550 สามารถกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่ง มีความอิสระในการบริหารพอสมควร แต่ยังคงมีปัญหาความอิสระด้านการคลัง ซึ่งกระทบต่อทำให้มีข้อจำกัดการบริหารจัดการ

        จากผลการศึกษานี้จึงมีข้อเสนอแนะให้มีกฎหมายรองว่าด้วยระเบียบวิธีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของท้องถิ่น โดยมีส่วนหนึ่งของกฎหมายรองนั้นระบุที่มาและสัดส่วนของงบประมาณที่ท้องถิ่นพึงต้องใช้ หรือใช้ได้ รวมทั้งวิธีการและแหล่งสนับสนุนทางงบประมาณหากรายได้จากการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นไม่เพียงพอ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารทั้งส่วนท้องถิ่น ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

        ในเรื่องที่ 4 นั้น หัวข้อเรื่อง การแสวงหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ในชั้นพนักงานสอบสวน มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีการศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ในชั้นพนักงานสอบสวนตลอดถึงอุปสรรคเกี่ยวในการรวมรวมพยานพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ชั้นพนักงานสอบสวน จากการศึกษาพบว่าการรวบรวบพยานหลักฐานชั้นพนักงานสอบสวนยังขาดกฎหมายที่สนับสนุนในการทำงานโดยเฉพาะในการรวบรวมพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ทางคณะผู้ศึกษาจึงเสนอแนะให้พนักงานสอบสวนสามารถเข้าถึงสถานที่หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานและควรพัฒนาบุคลากรด้านการสอบสวนให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป

        และเรื่องสุดท้าย หัวข้อที่ 5 เรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มีประเด็นที่น่าสนใจ คือเพื่อศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย และเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย โดยทำการสืบค้นข้อมูลจาก ตำรา หนังสือ วารสารทางวิชาการ รายงานการวิจัย เอกสารทางวิชาการต่างๆ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อมูลจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วนำข้อมูลต่างๆ ที่สืบค้นได้มาจัดระเบียบข้อมูลและทำการวิเคราะห์โดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้ทั้งความหมายทางภาษาและความหมายทางความรู้สึกหรือนัยที่แอบแฝงอยู่

        จากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษา จึงนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว สามารถสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะดังนี้ โดยพบว่า มีความเหลื่อมล้ำในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีปัญหาเกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ด้านเศรษฐกิจ มีปัญหาในระบบทุนนิยมมีความได้เปรียบมากและมีระดับช่องว่างความห่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก และด้านการศึกษา

        ซึ่งผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ในด้านการเมือง รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน ในด้านเศรษฐกิจ รัฐต้องกำหนดนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาการจ้างงาน ความยากจน การจ้างแรงงานทุกส่วนให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในด้านการศึกษา รัฐต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายหรือแรงจูงใจ เพื่อให้คุณภาพการจัดการศึกษาทุกระดับเป็นไปอย่างมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้รัฐต้องส่งเสริมการฝึกอบรมให้แก่ผู้ว่างงานเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมถึงต้องสร้างจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม.

Tags:
No items found.