เปิดผลสำรวจ 300 นักธุรกิจหอการค้าไทย-จีน : ‘ท่องเที่ยว’พระเอกดันเศรษฐกิจไทยปี 66
8
March
2023
2
March
2023
‘หอการค้าไทย-จีน’ นำโดย ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากการสอบถามความคิดเห็น 300 นักธุรกิจไทย-จีน เพื่อคาดการณ์ถึงทิศทางเศรษฐกิจไตรมาส2 ปี 2566 หลังจีนเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนและเศรษฐกิจไทย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
‘ท่องเที่ยว’ พระเอกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
การกลับมาของ “ตลาดนักท่องเที่ยวจีน” นับเป็นสัญญาณบวก และมีนัยยะสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยก่อนการระบาดของโควิด ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 18-20% ต่อ “จีดีพี” (GDP) ของประเทศไทยและมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนประเทศไทยปีละประมาณ 11 ล้านคน
จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย พบว่า ผู้ตอบการสำรวจร้อยละ49.3 และร้อยละ 41.8 คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะมาเยือนไทยระหว่าง 7 – 8 ล้านคน และมากกว่า 8 ล้านคน ตามลำดับซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนน่าจะเกินเป้ากว่าที่ทางการคาดไว้
ในมุมมองของนักธุรกิจไทย-จีน ส่วนใหญ่มองว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ประการแรกที่ไทยต้องปรับปรุงเร่งด่วนเพื่อรองรับและดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ได้แก่ การปรับปรุงการให้บริการการเข้าเมืองและอำนวยความสะดวกที่สนามบิน และการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างไทยและจีน
ส่วนอีก 3 ประการที่ได้รับความสำคัญที่พอๆกันมาเป็นลำดับรอง คือ การจัดทำมาตรการทางด้านความสะอาด และความปลอดภัยในการเดินทางในประเทศ การจัดเตรียมความพร้อมของโรงแรมและระบบการขนส่งให้คล่องตัวมากขึ้น และการจัดให้มีศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาให้กับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะเช่น สามารถสื่อสารและให้ข้อมูลเป็นภาษาจีนได้
มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นก่อนสิ้นปี – เตรียมบินติดต่อธุรกิจในจีน
การสำรวจครั้งนี้ ยังได้ถามถึงโอกาสที่นักธุรกิจจากหอการค้าไทย-จีน จะเดินทางไปติดต่อธุรกิจในจีน พบว่าร้อยละ 23.2 จะเดินทางไปติดต่อธุรกิจภายในเดือนมี.ค.นี้ร้อยละ 30.7 จะเดินทางไปในไตรมาสที่สอง และร้อยละ 11.1 จะเดินทางไปยังครึ่งปีหลังของปีนี้ กล่าวได้ว่า ร้อยละ 67 ได้วางแผนที่จะเดินทางไปติดต่อธุรกิจในจีนเป็นที่เรียบร้อยในปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคำถามถึงความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก่อนสิ้นปี 2566 โดยเกือบทุกคน (ร้อยละ 91.8) มีความมั่นใจในการฟื้นตัวในปีนี้ โดยพบว่าร้อยละ 34.6 มีความมั่นใจมาก ร้อยละ 8.6 มีความมั่นใจมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 48.6 มีความมั่นใจมากพอควร
จึงมีคำถามต่อเนื่องถึงแผนการลงทุนและจ้างงานในปี2566 พบว่า ร้อยละ 30 จะมีการลงทุนใหม่และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.3 จะมีการลงทุนใหม่แต่ยังไม่เพิ่มจำนวนการจ้างงาน และอีกร้อยละ 28.6 ยังประกอบกิจการเช่นเดิมและมีการจ้างงานจำนวนเดิม
เงินเฟ้อ-ความผันผวนค่าเงิน ปัจจัยเสี่ยง ปี 2566
ด้านมุมมองต่อปัจจัยเสี่ยงในการทำธุรกิจในปี 2566 มีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่มาจากในประเทศคืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีผลต่อค่าครองชีพ หนี้สินของครัวเรือนและหนี้เสียของสถาบันการเงินมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานและอัตราค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศคือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการชะลอตัวของการส่งออกเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย
นักธุรกิจสมาชิกหอการค้าไทย-จีน มีความเห็นว่าในปี 2566 รัฐบาลควรมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อที่จะฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย จากการสำรวจพบว่ามี 4 มาตรการ เรียงตามลำดับดังนี้
(1) มาตรการแก้ไขการขาดแคลนแรงงานและการดึงคนไทยให้กลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน
(2) มาตรการสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
(3) มาตรการที่ควบคุมราคาสินค้าและบริการ เพื่อดูแลค่าครองชีพและรวมถึงการเพิ่มสวัสดิการที่ภาครัฐจัดให้ประชาชน
(4) มาตรการใหม่ๆเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
การค้าการลงทุนไทย-จีนยังสัมพันธ์แนบแน่น
สำหรับผลการสำรวจการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 โดยเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ ร้อยละ60.4 ลงความเห็นว่า เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนโดยรวมของจีนดีขึ้น และร้อยละ 62.1 มีความเห็นว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้นและร้อยละ 63.6 คาดว่าจะมีการลงทุนจากจีนในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนที่เริ่มกลับมาดี
ขณะเดียวกันร้อยละ 65 คาดว่า ไทยจะนำสินค้าจากจีนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้นยังมีความแนบแน่นอย่างใกล้ชิด