ฟังจากกูรู อาเซียนได้ประโยชน์ไหม? จาก CAFTA
16
August
2024
29
January
2020
ผู้เขียน: หลี หมิ่น นิตยสาร CAP
ปัจจุบัน กลุ่มประเทศต่างๆมีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งสำคัญที่จะชี้วัดว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีดังกล่าวก่อให้เกิดคุณูปการอย่างแท้จริงหรือไม่? ก็คือผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการและประเทศสมาชิกได้รับ
ในช่วงที่ผ่านมา ผลจากการเปิดเสรีทางการค้าจีน-อาเซียน (CAFTA) ซึ่งมีทั้งการลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Program) และการลดภาษีสินค้าทั่วไป ส่งผลให้สินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่มีความสำคัญของการค้าระหว่างจีน-อาเซียนเป็นสินค้ากลุ่มแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ด้วยราคาที่ซื้อง่ายขายคล่องขึ้น รวมไปถึงสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งที่มีความหลากหลายมากขึ้นในตลาด ทำให้ CAFTA กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้บริโภค
ในมุมมองของ ศาสตราจารย์ ทัง จือหมิ่น คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา ความตกลง CAFTA ได้ส่งผลดีโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยอย่างมาก
“เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่า อัตราภาษีที่จัดเก็บภายใต้กรอบข้อตกลง CAFTA อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราภาษีปกติ (MFN) ขององค์การการค้าโลก (WTO)” ศาสตราจารย์ ทัง กล่าวและบอกว่า “ปัจจุบัน จีนและอาเซียนได้ประกาศยกเว้นภาษีสินค้าระหว่างกันมากกว่า 7,000 รายการ แต่ถึงแม้จะไม่ได้มีการยกเลิกการเก็บภาษี อัตราภาษีที่จัดเก็บภายใต้กรอบ CAFTA ก็ยังนับว่ามีอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษี MFN ของ WTO ตัวอย่างเช่น สินค้าธัญพืชที่อัตราภาษีตามข้อตกลง CAFTA จะอยู่ในกรอบ 5%-50% เมื่อเทียบกับอัตราภาษี MFN ซึ่งอยู่ที่ 65%”
ศาสตราจารย์ ทัง กล่าวว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนถึงการใช้สิทธิประโยชน์การค้าจากข้อตกลงการค้าเสรี คือ ภาพรวมของการยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า “เนื่องจากหากต้องการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลง CAFTA จำเป็นจะต้องยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าก่อน ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิลดภาษีในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในอัตราที่สูงถึง 70-90% มาตั้งแต่ปี 2554 โดยในปี 2561 มีอัตราอยู่ที่ 89% สะท้อนให้เห็นว่า มีสินค้าเกษตรของไทยจำนวนมากที่ได้รับสิทธิประโยชน์การค้าจาก CAFTA” โดย ศาสตราจารย์ ทัง กล่าวเสริมว่า “ ในบรรดาสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน จากสถิติพบว่า สินค้าเกษตรกลุ่มหลักๆที่ได้รับประโยชน์จาก CAFTA ได้แก่ ยางพารา วัสดุไม้ ผลไม้ ผักสด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้ง ธัญพืช ปลา และสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก เป็นต้น”
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความนิยมของผลไม้ไทยในตลาดผู้บริโภคจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรไทย สถานการณ์การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนยังคงสดใส โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย
จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ Global Times ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้จีนปรับขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าผลไม้จากสหรัฐฯเป็น 30% ยอดผลไม้นำเข้าจากสหรัฐที่ลดลงถูกแทนที่ช่องว่างในตลาดด้วยสินค้าทดแทนจากอาเซียน ด้วยความชื่นชอบในผลไม้อาเซียนของผู้บริโภคชาวจีน ประกอบกับแรงสนับสนุนจากเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนได้ช่วยผลักดันการส่งออกผลไม้อาเซียนไปยังจีนได้เป็นอย่างมาก ทำให้หลายประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยได้กลายเป็นผู้ท้าชิงที่ทรงพลังในตลาดผลไม้ของจีน
ศาสตราจารย์ ทัง กล่าวว่า “จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯในปัจจุบัน เรามองเห็นถึงโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้านความสัมพันธ์ทางการค้าจีน-อาเซียน เช่น การนำเข้าเนื้อหมู เนื้อวัว ซึ่งต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในอนาคต นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาเซียนค่อนข้างให้ความสำคัญในการเปิดเสรีการค้าจีน-อาเซียน
ในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯได้ทำให้เกิดแนวโน้มใหม่บางอย่างเกิดขึ้นต่อการลงทุนในจีน-อาเซียน “ผู้ประกอบการจีนจำนวนไม่น้อยต่างต้องการจะมาลงทุนในอาเซียน หรือย้ายฐานบางอุตสาหกรรมมายังอาเซียน แต่พวกเขายังคงลังเลว่าควรจะเลือกลงทุนที่เวียดนามหรือไทย หลังจากได้เห็นความต้องการมาลงทุนเหล่านี้ของผู้ประกอบการจีน ไทยจึงได้ออกนโยบายยกเว้นภาษีในหลายๆเรื่อง เพื่อเป็นการดึงดูดธุรกิจจากจีน” ศาสตราจารย์ ทัง กล่าว
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2562 ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทย (คิดจากจำนวนโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน) มีมูลค่าสูงถึง 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 2.1 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยจีนเป็นประเทศอันดับสองรองจากญี่ปุ่นที่มาลงทุนโดยตรงกับไทย มูลค่าลงทุนราว 24,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปีก่อนหน้า มีทั้งโรงงานแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมโลหะ และยางรถยนต์จากจีนที่กำลังวางแผนเข้าสู่ตลาดไทย
ภายใต้สถานการณ์การลงทุนที่ร้อนแรงเช่นนี้ ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากต่างหวังที่จะอาศัยความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่ยกระดับขึ้นอีกขั้น เพื่อเข้ามาบุกเบิกตลาดการค้า และคว้าโอกาสการพัฒนาใหม่ๆที่ไทย แต่เนื่องด้วยการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เพียงพอ จึงมักจะทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ลำบาก “เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ไทยกำลังเดินหน้าผลักดันเต็มที่ มีการประกาศนโยบายออกมาใหม่หลายเรื่อง แต่เมื่อเราไปถามผู้ประกอบการจีน ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ค่อยเข้าใจนโยบายเหล่านั้นสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีนโยบายหลายเรื่องที่ยังไม่มีฉบับแปลเป็นภาษาจีน” ศาสตราจารย์ ทัง กล่าว “แม้สิ่งเหล่านี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่ายมาก แต่ทั้งจีนและไทยยังจำเป็นต้องยกระดับการสื่อสารในระดับสถาบันวิจัย ภาคธุรกิจ และรัฐบาล เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจมีความเข้าใจในเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) มากยิ่งขึ้น เข้าใจถึงนโยบายของสองประเทศในด้านการลงทุน เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง”