China-ASEAN Panorama

COVID-19 ระบาด กระทบความร่วมมือจีน-อาเซียนอย่างไร?

15

March

2022

23

March

2020

ผู้เขียน: หลี หมิ่น นิตยสาร CAP

        การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับวิกฤต นอกเหนือจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจไม่แพ้กันคือแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ด้านอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนและเพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของจีนเมื่อปีที่ผ่านมา ก็พบผู้ป่วยติดเชื้อCOVID-19 แล้วในบางประเทศ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ธุรกิจซบเซา ‘ท่องเที่ยว’เจอศึกหนักก่อนเพื่อน

        จากสถิติของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยช่วงเทศกาลตรุษจีนลดลงมากกว่า 50% จากปีก่อน และจากข้อมูลของกรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงฮานอยประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 3 ก.พ. 2563มีนักท่องเที่ยวยกเลิกการจองห้องพักโรงแรมมากกว่า 13,000 คน กิจกรรมที่จัดโดยหน่วยงานและภาคธุรกิจลดลง 30% - 50% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตต่างๆก็ลดลง 30% - 50% เช่นกัน

        “โรคระบาดจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจีน-อาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบก่อนเพื่อน”เก๋อ หงเลี่ยง รองคณบดีศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี นักวิจัยระดับสูงของChina-ASEAN Panorama Think Tank กล่าวพร้อมเสริมว่า “เดิมทีช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน ถือเป็นช่วงไฮซีซันที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะออกเดินทางไปท่องเที่ยวแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นได้ชัดว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของแต่ละประเทศ ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการท่องเที่ยวในระยะนี้”เมื่อนักท่องเที่ยวยกเลิกทริปเดินทาง ธุรกิจการท่องเที่ยวในจีนและอาเซียนต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับบททดสอบเรื่องการขาดดุล

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

        นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว เก๋อ หงเลี่ยง มองว่า ภาคธุรกิจการค้างานแสดงนิทรรศการ การลงทุน และอุตสาหกรรมบริการอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

         ด้านดร.หลี่ ห่าว รองคณบดี คณะวิชามาร์กซิส โรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์นครเฉิงตูและนักวิจัยประจำศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภูมิภาคจีน-อาเซียน ลงความเห็นว่าโรคระบาดทำให้ยอดนำเข้าส่งออกระหว่างจีน-อาเซียนลดลง

        “การบริโภคของชาวจีนที่ชะลอตัวลงฉับพลัน และอุปสงค์ที่ลดลงอันเนื่องมาจากโรคระบาดย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศในอาเซียนซึ่งพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก หากวิเคราะห์ตามทฤษฎีห่วงโซ่คุณค่า(ValueChain) จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ในภูมิภาค ปัจจุบันโรคระบาดทำให้กำลังการผลิตภายในประเทศจีนลดลงส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากอาเซียนลดลงตามไปด้วย ภาคการผลิตในไทยมาเลเซียและฟิลิปปินส์ มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีนค่อนข้างมาก จึงได้รับผลกระทบมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น”ดร.หลี่ มองว่า มณฑลที่มีพรมแดนติดกับอาเซียนอย่าง กว่างซี ยูนนาน จะได้รับผลกระทบหนักจากการค้าชายแดน

         แต่ ดร.หลี่กลับเห็นว่า ภาคการลงทุนและอุตสาหกรรมอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากนัก“ความล่าช้าในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดจะเพิ่มแรงกดดันให้กับห่วงโซ่อุปทานทั่วภูมิภาคและส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแค่ในระยะสั้นเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายและหมดไป ระบบการผลิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็วจึงไม่น่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิต ดังที่บางประเทศทางฝั่งตะวันตกได้คาดการณ์ไว้”

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมนำมาซึ่งความร่วมมือรูปแบบใหม่

         ปี 2563 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับจีนและบางประเทศในอาเซียนเช่น ครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-พม่า จีน-เวียดนาม และจีน-อินโดนีเซีย ครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย และจีน-ฟิลิปปินส์  และ ครบรอบ 30 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-สิงคโปร์ซึ่งประเทศต่างๆได้เตรียมการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้

         ทว่าโรคระบาดกลับส่งผลกระทบต่อแผนการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่วางไว้“ผลกระทบหลักที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของกำหนดการและการเดินทางของเจ้าหน้าที่ อาจส่งผลให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องถูกบังคับให้ต้องยกเลิกหรือเลื่อนออกไป” เก๋อ หงเลี่ยง กล่าวพร้อมเสริมว่า ทว่าในอีกมุมหนึ่งโรคระบาดครั้งนี้ก็ทำให้เราได้เห็นถึงความเป็น “มิตรแท้ในยามยาก” ที่ประชาชนและรัฐบาลจากประเทศอาเซียนมีต่อจีนทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย

‘ฝ่าวิกฤตโรคระบาด’ จีน-อาเซียนต้องร่วมมือกัน

        “จีนและอาเซียนควรนำเอาจิตวิญญาณของการร่วมกันรับมือSARS เมื่อปี 2556 ออกมารับมือกับโรคระบาดครั้งนี้เสริมสร้างการทำงานด้านการป้องกันควบคุมและรักษาการแพร่ระบาด โดยใช้นโยบายป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดที่มีแนวทางชัดเจนแจ้งความคืบหน้าสถานการณ์อยู่ตลอด รวมถึงดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การกักกันและรักษาโรคให้มีประสิทธิภาพขณะเดียวกันจะต้องมีการประสานความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและข้อมูลด้านต่างๆระหว่างกันเช่น การตรวจและรักษาโรค เป็นต้น” เมื่อพูดถึงว่าจะรับมือต่อความท้าทายของสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันอย่างไร เก๋อ หงเลี่ยง กล่าวว่า “ในการรับมือกับผลกระทบแง่ลบมากมายจากโรคระบาด จีนและอาเซียนควรจะร่วมมือกันขจัดความตื่นตระหนกเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความตื่นตระหนกและการแบ่งแยกเข้ามามีผลกระทบต่อความร่วมมือสองฝ่ายสร้างการแลกเปลี่ยนหารือและจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงเร่งกำหนดระเบียบการใหม่ด้านการค้าสินค้าการบริการ และการลงทุนในช่วงเวลาพิเศษ โดยยึดตามข้อตกลงและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ  กระชับสัมพันธ์ทางการทูต เสริมการติดต่อสื่อสารและไปมาหาสู่ระหว่างกันเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งนำการลงมือปฏิบัติมาใช้ควบคุมวางแผนทรัพยากรทั้งหมดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับงานป้องกันการแพร่ระบาดในปัจจุบัน”

        ในสภาวการณ์พิเศษเช่นนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจกับเรื่องอะไรบ้างแล้วหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย จะมีวิธีเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

         ดร.หลี่ แนะนำว่า “เสถียรภาพของกระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด”หากธุรกิจใดได้รับผลกระทบจากโรคระบาด จนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศได้ต้องเร่งยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน เพื่อออกหนังสือรับรองเหตุสุดวิสัยโดยเร็วที่สุดนอกจากนี้ จะต้องแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงลองมองธุรกิจประเภทที่ไม่ประสบปัญหาเรื่องการผันผวนของกระแสเงินสดแม้จะมีผลกำไรต่ำ ทั้งยังต้องประเมินความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลกระทบมาจากโรคระบาดอย่างจริงจัง เพื่อหาจุดร่วมในตลาดความร่วมมือใหม่ให้ได้

        “หลังจากการแพร่ระบาด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ มีแนวโน้มที่จะก้าวมาเป็นเทรนด์ใหม่ด้านการลงทุน ความร่วมมือระหว่างจีนกับนานาประเทศ เช่น สิงคโปร์มาเลเซีย และไทย ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพและโอกาสทางความร่วมมืออยู่อีกมาก ขณะที่กลุ่มธุรกิจประเภทE–Learningและช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับโอกาสอย่างมหาศาล” ดร.หลี่ อธิบายเพิ่มเติมว่า “วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ถือเป็นบททดสอบมาตรฐานด้านการจัดการเมืองแบบองค์รวม ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างเมืองอัจฉริยะด้วยวิธีการทางเทคโนโลยี ความร่วมมือเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคจีน-อาเซียนมีแววคืบหน้าอย่างรวดเร็วโดยภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ เช่น นวัตกรรมด้านคมนาคมและการแพทย์จะได้รับโอกาสใหม่จากความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนนี้เช่นกัน”

Tags: