“เหอ ซ่าวเหว่ย”เลขาฯพรรคคอมมิวนิสต์นิคมฯฉงจั่ว โชว์ศักยภาพ สร้างแพลตฟอร์มใหม่ความร่วมมืออุตสาหกรรมจีน-ไทย
7
April
2022
30
June
2020
ผู้เขียน: เฉิน ลี่ปิง นิตยสาร CAP
นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ทว่าเมืองชายแดนจีน-เวียดนามอย่าง ‘เมืองฉงจั่ว’ กลับไม่พบผู้ติดเชื้อสักราย ด้วยมาตรการควบคุมแบบ ‘ฮาร์ดคอร์’ ของเมืองฉงจั่ว ทำให้ปัจจุบันเมืองฉงจั่วกลายเป็นนครระดับจังหวัดเพียงหนึ่งเดียวของกว่างซีที่มียอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ จากข้อได้เปรียบนี้ ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย ฉงจั่ว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองฉงจั่ว สามารถกลับมาเดินสายการผลิตและเริ่มดำเนินงานอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นสำคัญ สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับธุรกิจการค้าในเมืองฉงจั่ว ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียนกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
ในฐานะนิคมอุตสาหกรรมระหว่างประเทศที่มุ่งเชื่อมโยงความร่วมมือกับอาเซียน นับตั้งแต่ก่อตั้งมานิคมฯฉงจั่วได้ฝากผลงานโดดเด่นอะไรไว้บ้าง? มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมความร่วมมือจีน-ไทยอย่างไร? รวมทั้งมีวิธีการอะไรที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของนิคมฯเติบโตได้อย่างมั่นคงในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้? ติดตามคำตอบได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ เหอ ซ่าวเหว่ย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย ฉงจั่ว และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย ฉงจั่ว โดยนิตยสาร CAP (China-ASEAN Panorama)
ปลูกต้นอู๋ถง รอหงส์มาทำรัง
“ปัจจุบัน ผลงานด้านต่างๆของนิคมฯเป็นไปตามทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาที่ตั้งไว้ โดยในขณะนี้ ภารกิจสำคัญทั้ง 4 ด้านของนิคมฯ ทั้งด้านการเวนคืนรื้อถอนที่ดิน การสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ดึงดูดเงินทุนและธุรกิจ รวมไปถึงงานด้านการจัดหาเงินทุนต่างประสบผลสำเร็จเด่นชัด” เหอ ซ่าวเหว่ยกล่าว ในอดีตบริเวณที่ตั้งของนิคมฯเคยเป็นพื้นที่รกร้างมาก่อน ภาพความเจริญรุ่งเรืองที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ถือว่าเกินความคาดหมายไปมาก
- ด้านการเวนคืนและรื้อถอนที่ดิน : ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นิคมฯเวนคืนที่ดินได้ทั้งสิ้น 28,000 ไร่จีน (ราว 18.67 ตารางกิโลเมตร)
- ด้านการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน : หลายปีมานี้ นิคมฯได้เสริมการก่อสร้างสาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น สร้างโรงบำบัดน้ำเสีย 2 แห่ง สร้างโรงงานมาตรฐานพื้นที่เกินกว่า 1 ล้านตารางเมตร และสร้างตึกพักอาศัยเพิ่มกว่า 3,700 ห้อง
- ด้านการดึงดูดเงินทุนและธุรกิจ : ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีธุรกิจเซ็นสัญญาเข้าร่วมนิคมฯแล้วมากกว่า 70 ราย โดยเป็นธุรกิจที่มีรายได้ 20 ล้านหยวนต่อปีขึ้นไป มากถึง 44 ราย นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการดึงดูดการลงทุน
- ด้านการจัดหาเงินทุน : ‘บริษัทลงทุนด้านการก่อสร้างอุตสาหกรรม’ ที่มีอยู่เดิมของนิคมฯ ได้ยกระดับจากบริษัทไปสู่กลุ่มบริษัท เป็น ‘กลุ่มบริษัทลงทุนด้านอุตสาหกรรม’ (ความน่าเชื่อถือระดับ 2A) เสริมศักยภาพในการระดมทุนของนิคมฯ ทั้งยังช่วยให้นิคมฯสามารถบริหารจัดการเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“จนถึงปัจจุบันเราระดมทุนมาได้แล้วกว่า 3 พันล้านหยวน นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรการลงทุนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น และพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระดับมณฑลเพื่อการปรับปรุงพื้นที่ชุมชนแออัด กล่าวได้ว่าผลงานด้านการจัดหาทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของนิคมฯ มีประสิทธิผลโดดเด่น” เหอ ซ่าวเหว่ยกล่าว
จากการที่สิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ของนิคมฯ ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้ธุรกิจจากทั้งในและต่างประเทศทยอยเข้ามาลงทุนในนิคมฯอย่างต่อเนื่อง เหอ ซ่าวเหว่ย กล่าวว่า “นับตั้งแต่การก่อตั้งนิคมฯจนถึงปัจจุบัน นิคมฯประสบความสำเร็จในการดึงดูดธุรกิจจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งบริษัท Guangxi Chongzuo East Asia Sugar Co., Ltd. ในเครือมิตรผล, บริษัท COFCO Tunhe Chongzuo Sugar Co., Ltd. ในเครือ COFCO Group, บริษัท CHINALCO Guangxi Guosheng Rare Earth Development Co., Ltd. , บริษัท Jin Wu Tong Food และธุรกิจอื่นๆรวมกว่า 100 ราย โดยธุรกิจเหล่านี้มีอัตราเติบโตของมูลค่าการผลิตเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี ถือเป็นแรงผลักดันการพัฒนาที่สำคัญของนิคมฯ”
“ในปี 2562 มูลค่าการผลิตโดยรวมของนิคมฯฉงจั่ว ขยับขึ้นจากปี 2558 ที่ 5,100 ล้านหยวนมาอยู่ที่ 1 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว การลงทุนในทรัพย์สินถาวรขยับขึ้นจากปี 2558 ที่ 100 ล้านหยวนมาอยู่ที่ 5,100 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า จากความพยายามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนิคมฯฉงจั่วได้ค่อยๆเคลื่อนเข้าสู่ทิศทางการพัฒนาในเชิงบวก” เหอ ซ่าวเหว่ย กล่าว
โชว์ศักยภาพแพลตฟอร์ม มุ่งเชื่อมโยงความร่วมมือจีน-ไทย
โครงการโรงงานน้ำตาลแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัท Guangxi Chongzuo East Asia Sugar Co., Ltd. ซึ่งตั้งอยู่ในโซนนิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลกว่างซีจีนภายในนิคมฯฉงจั่ว ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2,748 ล้านหยวน โดยโรงงานน้ำตาลของบริษัท Chongzuo East Asia Sugar ได้ย้ายเข้ามาตั้งในนิคมฯตั้งแต่ปี 2561 ถือเป็นก้าวที่สำคัญของโซนนิคมฯน้ำตาลกว่างซีจีน ในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฉงจั่ว 'เมืองแห่งน้ำตาล' ทั้งยังยกระดับของนิคมฯฉงจั่วขึ้นไปอีกขั้น อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นโครงการสำคัญของกลุ่มบริษัทมิตรผลที่เข้าลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลของจีน โดยกลุ่มมิตรผลถือเป็นกลุ่มบริษัทน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในไทย
“ปัจจุบัน Chongzuo East Asia Sugar ถือเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในนิคมฯ ทั้งยังมีมาตรฐานการก่อสร้างและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในนิคมฯ นอกจากนี้ โรงงานของ Chongzuo East Asia Sugar ยังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทางฝั่งไทย ก่อนหน้านี้ได้มีบุคคลสำคัญทางการเมือง องค์กรธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆจากไทยเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาดูงานที่นี่ด้วย” เหอ ซ่าวเหว่ย กล่าว
ในฐานะแพลตฟอร์มสำคัญทางความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย ปัจจุบันนิคมฯฉงจั่วกำลังเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น อุตสาหกรรมอ้อยหมุนเวียนและแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมทรัพยากรหมุนเวียน, อุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุใหม่ และ อุตสาหกรรมบริการธุรกิจโลจิสติกส์
ด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ตามคำบอกเล่าของเหอ ซ่าวเหว่ย ปัจจุบันนิคมฯฉงจั่วได้จัดให้มีโซนแปรรูปอาหารอาเซียนโดยเฉพาะ โดยจะผลักดันอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอาเซียนรวมถึงอาหารไทยอย่างเต็มที่ ในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุใหม่ นิคมฯฉงจั่วได้จัดสรรเนื้อที่เกือบ 1 หมื่นไร่จีน (ราว 6.67 ตารางกิโลเมตร) สร้างเป็นโซนอุตสาหกรรมด้านเคมีภัณฑ์ เพื่อรองรับธุรกิจแปรรูปหรือรีไซเคิลยางพาราจากไทยที่สนใจเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯ
เหอ ซ่าวเหว่ย กล่าวว่า ขณะนี้นิคมฯฉงจั่วกำลังใช้ข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและความพร้อมด้านทรัพยากรของนิคมฯ เพื่อพัฒนาธุรกิจคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นิคมฯฉงจั่วกลายเป็นพื้นที่การลงทุนแห่งใหม่ของบริษัททั้งในและต่างประเทศ
มองไปข้างหน้า เร่งสร้างเขตสาธิตความร่วมมือจีน-ไทย
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายพื้นที่ต้องหยุดชะงัก การกลับมาดำเนินงานอีกครั้งของภาคธุรกิจต้องพบกับความท้าทายต่างๆนานา ทว่าสิ่งที่เมืองฉงจั่วมีคือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่การติดเชื้อเป็น‘ศูนย์’ นิคมฯฉงจั่วพร้อมที่จะอาศัยข้อได้เปรียบนี้ เพื่อกลับมาเดินหน้าธุรกิจก่อนใคร พร้อมสร้างการเติบโตแบบสวนกระแสให้ได้
“จากปัจจัยแวดล้อมที่ดีเช่นนี้ นิคมฯฉงจั่วได้ทุ่มกำลังอย่างเต็มที่ในการกลับมาดำเนินงานอีกครั้ง ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก เราเริ่มกลับมาทำการผลิตอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา บริษัททั้งหมดสามารถกลับเข้าสู่สภาวะการผลิตตามปกติก่อนการแพร่ระบาดได้ในช่วงกลางเดือนมี.ค. มูลค่าการผลิตของนิคมฯฉงจั่วจึงยังคงเติบโตในทิศทางที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง”
ไตรมาสที่ 1/2563 มูลค่าการผลิตของนิคมฯฉงจั่วยังคงโต 10% ตามเป้า แม้จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19
“ฉะนั้น ด้านหนึ่งเราจะต้องไม่หยุดที่จะ ‘ก้าวออกไป’ ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนของไทย ชักชวนให้พวกเขาเข้ามาศึกษาดูงาน ทำความเข้าใจกับสิทธิประโยชน์ด้านนโยบายของนิคมฯ สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็จะต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ เพื่อทำให้นิคมฯเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งใช้วิธีการ ‘ดึงดูดธุรกิจด้วยธุรกิจ’ อาศัยชื่อเสียงของกลุ่มบริษัทมิตรผล ในการดึงดูดพาร์ทเนอร์ของมิตรผลเข้ามาลงทุนในนิคมฯด้วยเช่นกัน” เหอ ซ่าวเหว่ยกล่าว
นิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทย ฉงจั่ว ถือเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือที่สำคัญด้านอุตสาหกรรมระหว่างจีน-ไทย ฉะนั้นก้าวต่อไปเราจะพยายามใช้ทุกช่องทาง เพื่อชักชวนธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนสร้างกิจการในนิคมฯให้มากขึ้น ผลักดันให้นิคมฯกลายเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างจีน-ไทยได้สมดังชื่อของนิคมฯ