China-ASEAN Panorama

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกระทบแค่ไหน? หลังเจอพิษ COVID-19

5

April

2022

10

August

2020

ผู้เขียน: เฉิน ลี่ปิง นิตยสาร CAP

        COVID-19 กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไร?

        “มันเหมือนกับคุณกำลังขับรถมาบนทางด่วน แล้วเหยียบเบรกกะทันหัน” จาง ซิงไห่ ประธานบริษัท Chongqing Sokon Motor Holdings Co., Ltd. ให้คำจำกัดความ

        ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ตลาดยานยนต์ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ อุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายประเทศทรุดหนัก ไม่เพียงแต่ในจีน แต่ไทยที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากสถิติของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของไทย เดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 29,894 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 68.64% อีกทั้งการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์จากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กำลังการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยปีนี้หดตัวลงตามไปด้วย อาจกล่าวได้ว่าปี 2563 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในรอบ 30 ปีของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์ระส่ำ เจอศึกหนักทั้งใน-นอกประเทศ

        เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลให้ยอดขายของมิตซูบิชิ มอเตอร์สในไทยช่วงไตรมาสแรกปี 2563 อยู่ที่ 17,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 30% เพื่อรับมือกับผลกระทบจากยอดขายที่ตกลง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เตรียมยื่นขอกู้เงินจากธนาคารเป็นจำนวน 3 แสนล้านเยน หรือประมาณ 90,000 ล้านบาท และตัดสินใจที่จะใช้แผนปลดพนักงานในอนาคตอันใกล้นี้

บริษัทรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในไทยหลายแห่งทยอยหยุดไลน์การผลิตบางส่วนในโรงงาน

        เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกบังคับใช้มาตรการควบคุมการเข้าออกประเทศที่เข้มงวดขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยหลายรายทยอยหยุดพักสายการผลิตชั่วคราว ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์ไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 300,501 คัน ลดลง 35% จากปีก่อน ทำให้รายได้ที่คาดการณ์ไว้ลดลงประมาณ 75,110 ล้านบาท และหากนับรวมเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าไปด้วย จะพบว่ามูลค่าการส่งออกรวมในช่วง 5 เดือนแรกลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.37% ทำให้กำไรที่คาดการณ์ไว้หายไป140,521 ล้านบาท

        ด้านกำลังการผลิตรถยนต์ของไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยอดผลิตรถยนต์ของไทยอยู่ที่ 534,400 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40%

        ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในเรื่องของการส่งออก การจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งสิ้นประมาณ 750,000 คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ “จากการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในไทยหลายรายหยุดการผลิตชั่วคราวในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ปรับลดลงจากยอดเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคันมาอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน และอาจปรับลดลงมาอยู่ที่ 1 ล้านคัน หากมีการหยุดพักการผลิตยาวไปถึงเดือนก.ย.-ต.ค. ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สุรพงษ์ กล่าว

ตลาดยานยนต์จะกลับมาฟื้นตัวเมื่อไหร่

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ที่ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2563 จะเหลือเพียง 1,520,000-1,590,000 คัน ลดลง 21%-25% จากปี 2562 ที่เคยผลิตได้ 2,010,000 คัน  ขณะเดียวกันยอดรวมการผลิตรถยนต์ที่ลดต่ำลง อาจทำให้ปีนี้ส่งออกได้เพียง 750,000-780,000 คัน ลดลง 26%-29% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ส่งออกได้ 1,050,000 คัน

26 พ.ค.63 อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง และคณะเข้าเยี่ยมชมบริษัท Great Wall Motors

        ปัจจุบันแม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ทำให้ตลาดยานยนต์ภายในประเทศพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย โดยคาดการณ์ว่า COVID-19 จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในไทยลดลงอย่างน้อยครึ่งปี

        นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นผู้เล่นที่สำคัญในตลาดยานยนต์โลก ทำให้ไทยได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ตามมาเป็นโดมิโน โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับไทย อย่างโรงงานในจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากน้อยแตกต่างกันไป จึงเป็นการยากที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

        ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่า หลังสิ้นสุดวิกฤตการระบาด เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกจะยังคงอยู่ในขั้นตอนการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงตลาดรถยนต์ทั่วโลกและในไทยที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงปลายปี 64 ถึงต้นปี 65

พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า หลังวิกฤต COVID-19 ผ่านพ้นไป อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอาจกลับเข้าสู่ทิศทางที่ดี อันเนื่องมาจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลกอาจเร่งเปลี่ยนฐานการผลิต เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่อย่างฉับพลันในบางฐานการผลิต และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินงาน ซึ่งไทยเองก็ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ

        อย่างที่ทราบกันดีว่า ไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรยางพารา ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ บวกกับความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมและนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด ทำให้ไทยกลายเป็นฐานที่มั่นของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ภาพโรงงาน GM Thailand ในระยอง ที่ GreatWall Motors บรรลุข้อตกลงการซื้อขาย เมื่อวันที่ 17 ก.พ.63 

        จากรายงานผลการประเมินแนวโน้มการลงทุนและสภาพแวดล้อมการลงทุนในตลาดรถยนต์ไทย ประจำปี 2561-2565 โดยศูนย์วิจัยอุตสาหกรรม New Sijie ชี้ให้เห็นว่า ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้  ซึ่งปัจจุบันได้ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายรายเข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานในไทย ทั้ง Toyota, Suzuki, Nissan, Mitsubishi, Honda, Mazda, Mercedes-Benz, BMW, Ford ฯลฯ

        นอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม รัฐบาลไทยยังเตรียมเดินหน้าผลักดันไทยสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 ปี ตั้งเป้าให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2568 โดยได้ออกนโยบายและมาตรการล่อตาล่อใจต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและสร้างศูนย์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

        ภายใต้ปัจจัยที่เอื้ออำนวยเหล่านี้ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังมีศักยภาพน่าลงทุน ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่า ท่ามกลางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจทั่วโลกและห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ทั่วโลกที่นับวันยิ่งเชื่อมโยงกันมากขึ้น รัฐบาลไทยควรมีมาตรการพิเศษต่างๆ ออกมา เพื่อดึงดูดธุรกิจยานยนต์ที่เตรียมการโยกย้ายฐานการผลิต พร้อมกับสร้างให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี่อาจเป็นหนทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หลังยุค COVID-19 ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

Tags: