จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไทย-จีน กระชับความร่วมมือด้านท่าเรือ ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
16
August
2024
12
October
2020
ผู้เขียน: เฉิน ลี่ปิง นิตยสาร CAP
การประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 และการประชุมสุดยอดความร่วมมือท่าเรือสากลอ่าวเป่ยปู้ 2020 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ณ นครหนานหนิง กว่างซี ประเทศจีน
ในฐานะเนื้อหาความร่วมมืออนุภูมิภาคที่สำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียน เวทีการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือจีน-อาเซียนอย่างไร?
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ท่าเรือระหว่างไทยและจีน มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง?
ก่อนงานประชุมจะมาถึง เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษในประเด็นดังกล่าวกับ ฯพณฯจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
Q: ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 อาเซียนได้แซงหน้ายุโรปขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย ท่านมองความสำเร็จนี้อย่างไร และมองภาพทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนและอาเซียนในอนาคตอย่างไรบ้าง?
A: อาเซียนและจีนเชื่อมโยงถึงกันทั้งทางบกและทางทะเล ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน มีความร่วมมือที่นับวันยิ่งกระชับแน่นแฟ้น ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนอยู่ที่ 2.99 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.6% อาเซียนสร้างปรากฏการณ์แซงยุโรปขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนเป็นครั้งแรก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สะเทือนไปทั่วทั้งโลก ผลสำเร็จนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพและความยืดหยุ่นในการปรับตัวด้านความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองฝ่าย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายเปิดเสรีของทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นแนวโน้มกระแสการพัฒนาที่ไม่อาจกีดกั้นได้
Q: ท่านมองว่ากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ มีส่วนช่วยผลักดันความร่วมมือจีน-อาเซียนอย่างไร? และขณะนี้ไทยได้มีความร่วมมือกับประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ด้านโลจิสติกส์ท่าเรือแล้วอย่างไรบ้าง?
A: ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกับโครงข่ายความร่วมมือเมืองท่าจีน-อาเซียน และได้ร่วมมือกับท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในกว่างซีเพื่อขยายความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ท่าเรือร่วมกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือลาดกระบังของไทยได้ทยอยเปิดเส้นทางเดินเรือมุ่งตรงสู่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกที่ติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในเดือนเม.ย. 2562 ยังได้มีการเปิดตัวขบวนรถไฟขนส่งผลไม้รูปแบบ ‘เรือ+ราง’ ด้วยระบบการขนส่งห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain Management) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้การส่งออกผลไม้สดและสินค้าเกษตรของไทยไปจีนเป็นเรื่องที่สะดวกมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ท่าเรือระหว่างสองประเทศที่กำลังมีแนวโน้มพัฒนาไปอย่างมั่นคง
Q: ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 การขนส่งทางทะเลและท่าเรือถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกยังคงขับเคลื่อนไปได้ ในมุมมองของท่าน ไทยและจีนควรจะมีมาตรการส่งเสริมความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ท่าเรือ เพื่อกระตุ้นการค้าระหว่างสองประเทศอย่างไร?
A: ในยุคโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน ประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้านับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเห็นว่า ประการแรก เราควรเปิดหรือขยายเส้นทางเดินเรือในไทยไปยังท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าระหว่างกัน
ประการต่อมา ขยายช่องทางรวบรวมสินค้าจากจีน เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าช่วงขากลับจากอ่าวเป่ยปู้มายังไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับภาคธุรกิจ และประการสุดท้ายคือ ส่งเสริมการสร้าง ‘เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่’ พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงไปยัง ‘เส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจ’ และ ‘เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21’ เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดภาคตะวันตกของจีน รวมถึงตลาดในยุโรปและเอเชียกลางได้ง่ายขึ้น