Culture

‘ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 15’ ยกทัพบุก ‘เมืองกุ้ยหลิน’ ดินแดนงามล้ำหนึ่งในใต้หล้า

4

April

2022

8

December

2020

ผู้เขียน: เหยียน เฉียวหง นิตยสาร CAP

        ‘ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน’ มีจุดเริ่มต้นมาจากงาน ‘ฟอรั่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 1’ โดยได้มีการยกระดับการจัดงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และกำลังจะพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในงานครั้งที่ 15 หลังจากจัดมา 14 ปีต่อเนื่อง

        โดยปีนี้ได้ยกทัพไปจัดถึงที่กุ้ยหลิน เมืองที่ได้รับการขนานนามว่า ‘ภูผาและธาราเป็นที่หนึ่งในใต้หล้า’ภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วย ‘การสืบทอดและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม และการพัฒนาการท่องเที่ยว’

ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 14

มรดกทางวัฒนธรรมต่อยอดสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ

        วันที่ 19 ก.ย. 2549 ในงานฟอรั่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 1 นักวิชาการจากแวดวงต่างๆได้ร่วมกันแสวงหาโอกาสทางความร่วมมือและการสร้างรากฐานความร่วมมือที่แข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ผ่านการพูดคุยกันภายใต้หัวข้อหลัก ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม แรงขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน-อาเซียน’

        ต่อมาในปี 2550 ในงานฟอรั่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 2 คณะตัวแทนผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกในประเด็นคุณค่าและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ผ่านตัวอย่างอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เช่น อัญมณีสังเคราะห์เมืองอู๋โจว และอุตสาหกรรมเกมแอนิเมชัน หลังจากจบงานยังได้เดินทางไปชมการแสดงหลิวซานเจี่ย (Impression Liu Sanjie) ถึงที่เมืองกุ้ยหลิน สัมผัสกับความไร้พรมแดนทางวัฒนธรรมที่ข้ามผ่านข้อจำกัดด้านภาษา

การแสดงพื้นเมืองกว่างซีช่วงก่อนพิธีเปิดฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 8 (ภาพ/ กง เหวินหยิ่ง ผู้สื่อข่าว NanguoZaobao)

        ในเดือนพ.ย. 2550 เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้น ได้กล่าวถึงงานฟอรั่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียนขณะเข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน (10+1) ที่สิงคโปร์ โดยได้เสนอให้มีการลงนามโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียนระหว่างการจัดงานฟอรั่มฯ พร้อมกับเน้นย้ำว่า แม้จีนจะเป็นผู้เสนอแนวความคิดนี้ แต่ผลลัพธ์และโอกาสเป็นของอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตัวแทนประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมในงานฟอรั่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 3

        ปลายปี 2554 มูลค่าสินทรัพย์รวมของฐานสาธิตอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระดับชาติ 5 แห่งในกว่างซีอยู่ที่ 450 ล้านหยวน รายได้จากการดำเนินงานประจำปี 200 ล้านหยวน มูลค่าสินทรัพย์รวมของฐานสาธิตอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระดับเขตปกครองตนเอง 28 แห่งอยู่ที่ 55,000 ล้านหยวน รายได้จากการดำเนินงานประจำปี 500 ล้านหยวน

ชิ้นงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมได้รับความนิยมในงานฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียนครั้งที่ 13

        เศรษฐกิจเดินหน้าไปพร้อมกับวัฒนธรรม งานฟอรั่มพัฒนาสอดรับกับยุคสมัย ปีถัดมา ‘ฟอรั่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรม’ได้ยกระดับกลายเป็น ‘ฟอรั่มวัฒนธรรม’  ขอบเขตงานขยายจากอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไปยังด้านต่างๆมากขึ้น เช่น ด้านศิลปวัฒนธรรม การสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ การบริการวัฒนธรรมสาธารณะ การฝึกอบรมบุคลากรด้านวัฒนธรรม และศิลปวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม

        ในงานฟอรั่มวัฒนธรรมฯ ครั้งที่ 14 เมื่อปีที่ผ่านมา จากกระแสการท่องเที่ยวตาม ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ ที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในยุคของความเชื่อมโยงระหว่างกันเช่นปัจจุบัน วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้กลายเป็นสองปัจจัยที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมไทยกล่าวว่า การท่องเที่ยวไม่ควรจำกัดอยู่แค่การบุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติใหม่ๆและการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะต้องเสริมสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมร่วมกัน อันจะนำไปสู่เส้นทางแห่งการพัฒนาและเปิดกว้างทางโอกาสร่วมกันในอนาคต

พิธีลงนามข้อตกลงรัฐบาลจีนช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาบูรณะมหาวิหารสัพพัญญูในเมืองพุกาม (ภาพ/ CRI Online)

กาลเวลาผันผ่าน ประวัติศาสตร์บอกเล่าผ่านมรดกทางวัฒนธรรม

        ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมมากขึ้น และได้ทุ่มเทกับการยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งหลายประเทศก็ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

        เดือนพ.ย.2561 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ ‘โขนไทย’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างเป็นทางการ นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติครั้งแรกของไทย ในเดือนเดียวกัน ในการประชุมที่สาธารณรัฐมอริเชียส องค์การยูเนสโกได้ประกาศรับรองให้ ‘Dondang Sayang’ การแสดงพื้นเมืองของรัฐมะละกาในมาเลเซียเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างเป็นทางการ

การแสดงชุดหลิวซานเจี่ย (Impression Liu Sanjie)

        ขณะที่ ‘เมืองพุกาม’ ของเมียนมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนก.ค.2562  นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จหลังจาก ‘ละโคนโขลวัดสวายอันเดต’ (Lkhon Khol Wat Svay Andet) ของกัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ไปเมื่อปี 2561

        ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสืบทอดและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมร่วมกัน และสร้างประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียนที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ‘งานฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 15’ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ณ เมืองกุ้ยหลิน

        โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ  สำนักแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน สำนักสารนิเทศเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และรัฐบาลเมืองกุ้ยหลิน เป็นหน่วยงานผู้ดำเนินงาน

อุตสาหกรรมลูกบอลแพรปัก อำเภอจิ้งซี

        เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด งานฟอรั่มครั้งนี้ได้จัดขึ้นในรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ โดยเชิญผู้ใหญ่ระดับกระทรวงและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียนร่วมกล่าวปาฐกถาผ่านทางวิดีทัศน์ พร้อมทั้งเชิญแขกผู้มีเกียรติต่างชาติบางส่วนในจีนเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมที่เมืองกุ้ยหลิน โดยการประชุมจะจัดผ่านระบบคลาวด์มีทติ้ง ห้องประชุมจะถูกสร้างขึ้นในวันงาน และเปิดให้ผู้ที่สนใจด้านวัฒนธรรมจีน-อาเซียนสามารถเข้าร่วมได้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก มีการถ่ายทอดเสียงบรรยายภาษาจีนควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ เพื่อกระจายการเข้าถึงงานฟอรั่มออกไปได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

        โบราณวัตถุ โบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ล้วนแต่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของมวลมนุษยชาติ มนุษย์เราจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ จึงจะสามารถมองอดีตได้อย่างเฉียบขาด ใช้ชีวิตในวันนี้ได้อย่างคุ้มค่า และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอนาคต

Tags: