RCEP จะมีประสิทธิผลสูง จำเป็นต้องยกระดับการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจ
31
March
2022
20
January
2021
ผู้เขียน: หลี หมิ่น นิตยสาร CAP
สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์เจิ้ง เซียนอู่ รองคณบดี คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนานกิง
ในปี 2020 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือที่เรียกย่อๆว่า RCEP ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว RCEP เป็นการปรับปรุงเขตการค้าเสรีอาเซียนบวกหนึ่งที่มีอยู่ให้มีความครอบคลุมขึ้น คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นกรอบการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย ครอบคลุม มีประสิทธิผลสูงและเป็นประโยชน์ร่วมกัน
หลังจากบรรยากาศการเฉลิมฉลองการลงนาม RCEP สิ้นสุดลง ก้าวต่อไปที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ จะทำอย่างไรให้ RCEPเกิดประสิทธิผลได้จริง และจะรับมือกับความท้าทายต่างๆที่จะตามมาอย่างไร เมื่อเร็วๆนี้ นิตยสาร CAP (China-ASEAN Panorama) มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์เจิ้ง เซียนอู่ รองคณบดีและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนานกิง เกี่ยวกับประเด็นการผลักดัน RCEP ความร่วมมืออนุภูมิภาคจีน-อาเซียนและประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยศ.เจิ้ง ซึ่งเคยเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจการเงินได้สะท้อนมุมมองที่แตกต่างทางด้านเศรษฐศาสตร์และอีกหลากหลายแง่มุมไว้อย่างน่าสนใจ
จาก ‘Trade Diversion’ สู่ ‘Trade Creation’
แน่นอนว่า ความตกลง RCEP นี้ก็เหมือนกับความตกลงเขตการค้าเสรีอื่นๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือนำพาผลประโยชน์การพัฒนามากมายมาสู่ประเทศสมาชิก เอื้อประโยชน์ต่อระบอบการค้าพหุภาคีโลก ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความท้าทายใหม่ๆบางประการ ในมุมมองของศ.เจิ้ง การจะประเมินว่าความตกลงทางการค้าเสรีหนึ่งๆ เอื้อต่อการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จาก 2 แง่มุมด้วยกัน คือ 1.การเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) และ 2.การสร้างการค้า (Trade Creation)
“สิ่งที่เรียกว่า ‘การเบี่ยงเบนทางการค้า’ (Trade Diversion) จริงๆแล้วก็คือ การที่คุณขายของให้ฉัน ฉันขายของให้คุณ โดยผ่านความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย ทำให้สินค้าที่โดดเด่นของประเทศหนึ่งๆมีศักยภาพความได้เปรียบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่ด้อยกว่าก็อาจจะมีศักยภาพด้อยลงไปอีก สุดท้ายแล้วก็จะเกิดสินค้าที่มีความเหนือกว่าขึ้นภายใต้สถานการณ์ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) แต่ถึงกระนั้นการเบี่ยงเบนทางการค้าก็มีข้อเสียบางประการ กล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เหมือนกับการที่เงินย้ายจากกระเป๋าหนึ่งไปอยู่อีกกระเป๋าหนึ่ง โดยที่ความมั่งคั่งโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น รูปแบบการพัฒนานี้จึงไม่ใช่หนทางการพัฒนาที่ดีที่สุดในระยะยาว ทั้งยังจะต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นระหว่างประเทศสมาชิก แม้นี่จะเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยในแวดวงการค้าระหว่างประเทศ แต่อาจจะไม่ใช่รูปแบบการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าคุณภาพสูงที่ RCEP รวมถึงจีนและอาเซียนกำลังมุ่งแสวงหาอยู่” ศ.เจิ้ง กล่าว
ศ.เจิ้งมองว่า การที่ RCEP จะบรรลุประสิทธิผลสูงได้ สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสนใจจริงๆคือ ‘การสร้างการค้า’ (Trade Creation) หรือการสร้างความร่วมมือที่ต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์ และก่อให้เกิดการบ่มเพาะองค์กรธุรกิจชั้นยอด ซึ่งการที่จะทำให้เกิดการสร้างการค้าขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี ความสมบูรณ์ด้านระบบ ทักษะการบริหารจัดการธุรกิจ ฯลฯ
เมื่อพิจารณาถึงประเด็น ‘การสร้างการค้า’ ผ่านมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ศ.เจิ้งมองว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องสร้างการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น “หากประเทศสมาชิกมีการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีห่วงโซ่ที่เชื่อมต่อกันเป็นสายทอดยาว ต่างฝ่ายต่างมีความต้องการในสินค้าของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นนี้เมื่อเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าก็จะเกิดการสร้างการค้าตามมาด้วย ขณะเดียวกันก็จะไม่เกิดการแข่งขันระหว่างกันที่ชัดเจนมากนัก” ศ.เจิ้งมองว่า ในปัจจุบันการส่งเสริมเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและอาเซียนยังไม่ค่อยเห็นเด่นชัด แต่เมื่อมีการดึงประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ RCEP ก็จะช่วยเสริมความร่วมมือของทั้งภูมิภาค และทำให้เกิดการสร้างการค้าขึ้นได้ เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้มีความเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากกับจีนและประเทศอาเซียน
“ดังนั้น สำหรับทิศทางการเติบโตของ RCEP ในอนาคต นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับเรื่องปริมาณทางการค้าแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือจะต้องมองลึกลงไปถึงเรื่องการเบี่ยงเบนทางการค้าและการสร้างการค้าด้วยว่าเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้ามากกว่า หรือการสร้างการค้ามากกว่ากัน” ศ.เจิ้ง กล่าว
นวัตกรรมเทคโนโลยี ยกระดับการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา แต่ศ.เจิ้งมองว่า เราสามารถคาดการณ์แผนงานล่วงหน้าได้โดยดูจากแนวโน้มความเป็นไปทางเศรษฐกิจ เช่น การที่ RCEP จะบรรลุประสิทธิผลสูงได้ในอนาคต การเสริมสร้างการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แล้วจะเสริมสร้างการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจได้อย่างไร? สิ่งที่เราต้องทำคือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาจาก ‘ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ’ (Comparative Advantage) มาสู่ ‘การประหยัดต่อขนาด’ (Economies of scale) หรือ EOS
“ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐได้ทำให้เห็นแล้วว่า ‘ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ’ (Comparative Advantage) ไม่ใช่แต้มต่ออีกต่อไป หากคุณยังผลิตสินค้าที่คนอื่นเลิกผลิตกันแล้ว และเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำก็ยิ่งจะได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศได้ง่าย” ศ.เจิ้งอธิบายเสริมว่า “คำว่า‘ขนาด’ ของการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) หรือ EOS ที่ว่านั้น ไม่ใช่แค่ในแง่ของสเกลการผลิตที่ใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงการประหยัดต่อขนาดที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนช่วยเสริม ทั้งยังครอบคลุมไปถึงความได้เปรียบของการผูกขาด หรือ Monopolistic Advantage ด้วย”
ปัจจุบันจีนมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี 5G รถไฟความเร็วสูง ระบบดาวเทียมนำทางและอีกหลายสาขาอยู่ในระดับชั้นแนวหน้าของโลก มีความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมที่นับวันยิ่งโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลมาจากการที่จีนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนวัตกรรมตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ระบุว่า จีนจะยกระดับการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้กลายเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ชาติ และจะยืนหยัดให้นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความทันสมัยของจีนต่อไป พร้อมทั้งมีการบัญญัติบทพิเศษเรื่องเทคโนโลยีขึ้นมาโดยเฉพาะ จากการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วยเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดั้งเดิมและอุตสาหกรรมเกิดใหม่ จีนและอาเซียนจะยังสามารถเสริมการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจระหว่างกันเพิ่มเติมได้อีก
ศ.เจิ้งยังชี้ให้เห็นอีกว่า ในระหว่างที่กระบวนการยกระดับการเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจกำลังดำเนินไป อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องไม่หยุดที่จะเปิดกว้างสู่ภายนอกและเรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปพร้อมๆกับการปรับปรุงระบบการทำงานและแนวคิดในการทำธุรกิจ “อย่าทำธุรกิจที่พึ่งพาความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบแบบเหวี่ยงแห แต่จงทำธุรกิจโดยยึดหลัก ‘1 สองประการ’ (两个一/เหลี่ยงเก้ออี) อย่างแรกคือ ‘หนึ่งเดียว’ [唯一/เหวยอี] ไม่ทำในสิ่งที่ใครๆต่างก็ทำกัน และสองคือ ‘หนึ่งความมุ่งมั่น’ [专一/จวนอี] คือ เมื่อเลือกทำสิ่งใดแล้วก็ให้ทุ่มเทลงมือทำเต็มที่ อย่าเพิ่งใจร้อนต้องการเห็นผลสำเร็จในทันที เมื่อมีครบทั้งสองอย่างนี้แล้ว ก็จะค่อยๆก้าวสู่การเป็น ‘อันดับ 1’ [第一/ตี้อี] ได้ในที่สุด”
“การลงนามความตกลง RCEP เป็นการเริ่มต้นที่ดี ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางศึกสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐ จีนและญี่ปุ่นสามารถมองข้ามความขัดแย้งที่มีอยู่ แล้วเดินหน้าขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบจริงๆจังๆร่วมกันได้ ซึ่งความร่วมมือเช่นนี้ของจีนและญี่ปุ่น ส่งผลอย่างมากต่อทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียรวมถึงอาเซียน”
เชื่อมต่อความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคแบบ ‘เส้นเลือดฝอย’
ความไม่แน่นอนในทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ทุกวันนี้ทั่วโลกต่างต้องจับตามอง ท่ามกลางศึกของสองขั้วมหาอำนาจ ทำให้เราได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยทั้งในแง่มุมของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นและอาเซียน และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่นและอาเซียน
เมื่อเดือนกันยายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เลขาธิการอาเซียน และสตีเฟน บีกัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้ร่วมกันเปิดตัว ‘กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ’ (Mekong-U.S. Partnership - MUSP) ความเคลื่อนไหวที่ตามมาหลังจากการเข้ามามีอิทธิพลของจีนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่าน ‘กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง’ (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) ครั้งนี้ของสหรัฐ คงไม่ต้องบอกก็รู้ได้ว่าสหรัฐมีเจตนาอะไร
ท่ามกลางความท้าทาย การพัฒนากรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยสติปัญญาความสามารถและการทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างได้เชื่อมโยงเข้ากับ ‘ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่’ (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) แล้วเป็นที่เรียบร้อย
สำหรับประเด็นนี้ ศ.เจิ้งมองว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างมีความเจาะจงทางภูมิศาสตร์ หากนำมาผสานรวมกับยุทธศาสตร์ระเบียง ILSTC ก็จะเท่ากับเป็นการขยายตัวในแนวราบ (Horizontal Integration) “ระเบียง ILSTC เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังทางใต้ ครอบคลุมบางประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เช่นนี้ก็จะทำให้เกิดการส่งเสริมกันของทั้งการขยายตัวในแนวราบ (Horizontal Integration) และการขยายตัวในแนวดิ่ง (Vertical Integration)”
ประการต่อมา กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และระเบียง ILSTC มีจุดร่วมในประเด็นและสาขาความร่วมมือซึ่งสามารถนำมาเกื้อหนุนกันได้ เช่น หนึ่งใน ‘3 เสาหลัก’ ของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง คือ การเมืองและความมั่นคง สาขาความร่วมมือที่สำคัญครอบคลุมด้านทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการลดความยากจน ขณะที่ยุทธศาสตร์ระเบียง ILSTC มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระหว่างกัน การค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือเฉพาะด้าน (functional cooperation) บางประการ การผสานทั้งสองโครงการนี้เข้าด้วยกันจะช่วยเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกัน และช่วยให้ผลประโยชน์เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น
“เมื่อมองในแง่ของการสร้าง ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง และยุทธศาสตร์ระเบียง ILSTC ถือเป็นกรอบความร่วมมือในระดับเล็กที่สุด ถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเส้นเลือดฝอยในร่างกายของคนเรา หากเราสามารถทำให้เส้นเลือดพวกนี้มาเชื่อมต่อกัน เปิดช่องให้ไหลเวียนถึงกันได้สะดวก การสร้าง‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ซึ่งเป็นภาพใหญ่ก็จะเป็นไปได้ด้วยดี” ศ.เจิ้งยังเสริมอีกด้วยว่า การเชื่อมโยงกันของทั้งสองโครงการนี้ ในระยะสั้นจะนำพาโอกาสการพัฒนาใหม่มาสู่ตลาดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ขณะที่ในระยะกลางและระยะยาวจะช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนในภูมิภาคได้
แต่เนื่องจากรากฐานการพัฒนาที่อ่อนแอ ศ.เจิ้งจึงมองว่า ในอนาคตการดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคไม่จำเป็นจะต้องเน้นดึงดูดการลงทุนจากองค์กรระดับโลกหรือบริษัทติด TOP500 ของโลกเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถหันมามองภาคธุรกิจในประเทศได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากการรูปแบบการพัฒนาใหม่ ‘วงจรคู่’ (dual circulation) ของจีน ซึ่งยึดตลาดในประเทศเป็นแกนหลัก ขณะที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ ในการเร่งแสวงหาโอกาสทางความร่วมมือใหม่ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับพื้นที่ซึ่งมีพลังขับเคลื่อนภายใน (Inner Drive) ที่แข็งแกร่ง เช่น เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta)
และแน่นอนว่า ตลาดซึ่งมีความคึกคักและเปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนภายในอย่าง ‘กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง’และ ‘ระเบียง ILSTC’ ย่อมจะได้รับการขานรับที่ดีจากประเทศอาเซียนมากขึ้นตามไปด้วย