‘วัคซีนจีน’ มีดีอะไร? ทำไมชาติอาเซียนถึงพากันแห่ซื้อ?
21
October
2024
9
February
2021
ผู้เขียน: หลี หมิ่น นิตยสาร CAP
ผลงานต่อต้านโรคระบาดของจีนในปีที่ผ่านมาปิดฉากในวันส่งท้ายปีเก่า 2563 ด้วยการแถลงข่าวการอนุมัติให้วางจำหน่ายวัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาขึ้นเองตัวแรกในตลาดแบบมีเงื่อนไขต่อทั่วโลก พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชนชาวจีนทั่วประเทศ แน่นอนว่าข่าวการวางจำหน่ายวัคซีนตัวแรกของจีนนี้ได้จุดประกายความหวังให้กับหลายประเทศที่ยังคงเผชิญกับศึกหนักจากโควิด
เมื่อข่าวแพร่สะพัดออกมา ยอดสั่งซื้อก็ตามมาถล่มทลาย ซึ่งในบรรดากลุ่ม‘ผู้ซื้อ’เหล่านี้ก็มีกลุ่มประเทศอาเซียนรวมอยู่ด้วย โดยขณะนี้มีประเทศอาเซียนเกินกว่าครึ่งที่ได้สั่งซื้อวัคซีนจากจีน เหตุใดวัคซีนของจีนจึงได้รับความนิยมจากประเทศอาเซียน เบื้องหลังวัคซีนเหล่านี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไร
‘จีน’ ผู้นำการวิจัยพัฒนาวัคซีน
“วัคซีนต้านโควิดชนิดเชื้อตาย ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันผลิตภัณฑ์ทางชีววิทยาปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products) สังกัดกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน (CNBG) ในเครือซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ได้รับการอนุมัติจากสำนักบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติจีน (NMPA) ให้วางจำหน่ายในตลาดแบบมีเงื่อนไขได้ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่ผ่านมา” ข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านการแถลงของ เฉิน สือเฟย รองผู้อำนวยการสำนักบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติจีน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นับเป็นเวลาหนึ่งปีกว่าแล้วตั้งแต่จีนพบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ยืนยันรายแรก
ทันทีหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน ทางการจีนได้กำหนดแนวทางด้านเทคโนโลยี 5 ประการในการพัฒนาวัคซีน ประกอบด้วย วัคซีนชนิดเชื้อตาย วัคซีนแบบโปรตีนลูกผสม วัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา วัคซีนที่ใช้เชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีฤทธิ์อ่อนแอเป็นตัวนำพา และวัคซีนชนิดกรดนิวคลีอิก โดยตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2563 วัคซีนชนิดเชื้อตายตัวแรกของโลกได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 และตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา วัคซีนหลายตัวก็ได้เข้าสู่กระบวนการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในต่างประเทศ ก่อนที่วัคซีนตัวแรกจะได้รับการอนุมัติให้วางจำหน่ายในตลาดแบบมีเงื่อนไขเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 กล่าวได้ว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนของจีนอยู่ในแนวหน้าของโลกมาโดยตลอด
ขณะนี้จีนมีวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิก 14 ตัว ในจำนวนนั้นที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว มี 5 ตัว แบ่งออกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย 3 ตัว วัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา 1 ตัว และวัคซีนแบบโปรตีนลูกผสม 1 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มกราคม 2564)
ความปลอดภัยของวัคซีนจากจีนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประเทศที่เกี่ยวข้อง ประชาคมโลกต่างยกย่องการมีส่วนร่วมด้านความร่วมมือด้านวัคซีนระหว่างประเทศอย่างแข็งขันของจีน เมื่อวัคซีนกำลังเป็นที่ต้องการ จะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมยุติธรรม นับเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ องค์การอนามัยโลกจึงได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องมือในการต่อสู้กับโรคโควิด (Access to Covid-19 Tools Accelerator - ACT) และ โครงการ COVAX ขึ้น
ไม่เพียงแต่จีนจะยินดีร่วมมือและสนับสนุนข้อริเริ่มนี้ขององค์การอนามัยโลก ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 73 สี จิ้นผิงยังได้ให้คำมั่นต่อทั่วโลกด้วยว่า “เมื่อจีนสำเร็จในการวิจัยพัฒนาวัคซีน COVID-19 และประยุกต์ใช้ในจีนแล้ว วัคซีนดังกล่าวจะเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก (International Public Product) จีนจะเข้ามามีบทบาทในการรับรองว่าวัคซีนจะเข้าถึงประชาชนและสามารถจับจ่ายซื้อหาได้ในประเทศกำลังพัฒนา”
วัคซีนแดนมังกรล่องสู่ทะเลใต้
ช่วงเช้าของวันที่ 13 มกราคม 2564 โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดเป็นคนแรกของประเทศที่ทำเนียบประธานาธิบดี ท่ามกลางการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ตามคำที่เขาเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเข้ารับการฉีดเป็นคนแรก เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้
วัคซีนที่โจโกได้รับคือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ของจีน สำนักงานอาหารและยาอินโดนีเซีย (BPOM) แถลงเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ว่า วัคซีนตัวนี้สิ้นสุดการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ที่เมืองบันดุงแล้ว ประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50% และได้อนุมัติการใช้งานในกรณีฉุกเฉินของวัคซีนตัวนี้แล้วในอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากจีนที่อนุมัติการใช้วัคซีนโคโรนาแวคในกรณีฉุกเฉิน
เมื่อวัคซีนของจีนออกสู่ตลาด นานาประเทศต่างต่อคิวรอซื้อวัคซีนจากจีน ในจำนวนนั้นมีประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย
นอกเหนือจากการสั่งซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต ในประเทศมาเลเซีย บริษัทจีนและมาเลเซียยังได้มีความร่วมมือด้านการผลิตวัคซีนร่วมกัน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ฟาร์มาเนียกา (Pharmaniaga) บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติมาเลเซียได้ลงนามความร่วมมือด้านวัคซีนกับบริษัทซิโนแวค ไบโอเทคของจีน โดยในสัญญาระบุว่าซิโนแวคจะทยอยส่งมอบผลิตภัณฑ์วัคซีนกึ่งสำเร็จ (semi-finished products) จำนวน 14 ล้านโดสให้กับทางมาเลเซีย แล้วมอบหมายให้ฟาร์มาเนียกาดำเนินการผลิตวัคซีนขั้นสุดท้ายในมาเลเซีย
‘วัคซีนจีน’ แสงแห่งความหวัง?
การประเมินคุณภาพวัคซีนจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งความปลอดภัย ประสิทธิผล การเข้าถึง และความสามารถในการจับจ่ายซื้อหา หากเปรียบเทียบวัคซีนโดยขาดปัจจัยด้านใดด้านหนึ่งไปย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง วัคซีนของจีนมีผลการประเมินโดยรวมทั้ง 4 ด้านค่อนข้างดี จึงได้รับความสนใจจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในอาเซียน
ด้านความปลอดภัย วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกันย่อมมีข้อเด่นและข้อด้อยแตกต่างกัน แต่จากผลการทดลองในสัตว์และการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 2 และ 3 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ปัจจุบันวัคซีนชนิดเชื้อตายของจีนมีความปลอดภัย นอกจากนี้จีนยังได้เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ไปแล้วรวมกว่า 15 ล้านโดส ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความปลอดภัยของวัคซีนของจีนได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าในด้านประสิทธิผล วัคซีนของจีนจะไม่ได้มีประสิทธิผลสูงสุดในปัจจุบัน แต่วัคซีนของจีนอาจเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดในราคาเอื้อมถึงได้มากที่สุดของหลายๆประเทศในขณะนี้
ศาตราจารย์ Anna Yeung-Cheung ภาควิชาชีววิทยา วิทยาลัยแมนฮัตตันวิลล์ในนิวยอร์ก ระบุว่า วัคซีน mRNA ของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นาของสหรัฐฯ มีข้อด้อยด้านกำลังการผลิตและต้นทุน เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -70°C ซึ่งหมายถึงต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น “ประเทศเหล่านี้ไม่มีกำลังทรัพย์พอจะจ่ายให้ประชาชนของพวกเขาได้มากขนาดนั้น ถึงคุณจะส่งวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาไปให้ พวกเขาก็จำเป็นต้องมีตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำพิเศษซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากในการเก็บรักษาวัคซีน” Anna Yeung-Cheung กล่าว
จากสถิติของธนาคารซิตี้แบงก์ 85% ของวัคซีนทั่วโลกถูกจับจองโดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษและญี่ปุ่น โดยต่างสั่งซื้อวัคซีนเกินกว่าความต้องการของคนในประเทศไปมาก เช่น แคนาดาที่สั่งซื้อวัคซีนในปริมาณมากเพียงพอที่จะฉีดให้กับคนในประเทศได้ถึง 5 ครั้ง
วันที่ 15 ธันวาคม 2563 รายงานเรื่องการสั่งจองวัคซีนของประเทศทั่วโลก เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องรอนานถึงปี 2566-2567 กว่าจะได้เริ่มฉีดวัคซีนให้คนในประเทศ ขณะที่ช่วงหนึ่งในรายงานของ The Wall Street Journal ของสหรัฐฯ ระบุว่า “สิ่งเดียวที่อาจจะเปลี่ยนสภาพความไม่สมดุลนี้ได้คือวัคซีนจากจีน” “สำหรับประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ จีนจะมีแนวทางช่วยเหลือด้านการเข้าถึงและซื้อหาวัคซีนให้แก่ประเทศเหล่านี้”
วัคซีนของจีนซึ่งเป็น ‘ตัวเลือกเดียว’ ที่มีอยู่ ด้านหนึ่งนับว่ามีคุณภาพดีเยี่ยม ทั้งยังประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพราะสามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8°C ได้ แถมยังมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบต่อวัคซีนในฐานะเป็นสินค้าสาธารณะของโลก และสร้างโอกาสแห่งโชคชะตาในการรับมือโรคระบาดให้กับประเทศกำลังพัฒนา กล่าวได้ว่าปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ประเทศอาเซียนเลือกใช้วัคซีนของจีน
วัคซีนเป็น‘อาวุธ’สำคัญสำหรับมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคระบาด เป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญาและวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ ขณะที่เบื้องหน้าทุกประเทศกำลังเผชิญกับห้วงวิกฤตการแพร่ระบาด การถกเถียงถึงข้อเด่นข้อด้อยของวัคซีน ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการเลือกว่าจะกินหมั่นโถวหรืออาหารอันโอชะก่อนในยามที่เผชิญกับความอดอยาก ซึ่งไม่ใช่หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา เพราะสุดท้ายแล้ว การวิจัยพัฒนาวัคซีนนั้นไม่ใช่การขับเคี่ยวกันระหว่างประเทศหรือการแข่งขันทางธุรกิจ แต่เป็นศึกใหญ่ที่มนุษยชาติต้องร่วมกันต่อกรกับศัตรูที่มีชื่อว่า COVID-19