‘ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนลาซาด้า’ ในนครหนานหนิง ตัวอยู่ที่กว่างซี ไลฟ์สดตรงถึงอาเซียน
21
August
2024
27
May
2021
ผู้เขียน: สวี่ จวิ้นหาว นิตยสาร CAP
ขณะที่บรรดาไลฟ์สตรีมเมอร์ชื่อดังอย่าง ‘เจ้าแม่ไลฟ์สด’ เวยย่า (Viya) และ ‘ราชาลิปสติก’ หลี่ เจียฉี (Li Jiaqi) กำลังสร้าง ‘ตำนานการขาย’ บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับหลายประเทศในอาเซียน ‘การไลฟ์สดขายของออนไลน์’ ยังคงถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ ทว่าทุกวันนี้ได้เริ่มมีคนหันมาเจาะกลุ่มลูกค้าอาเซียนผ่านการขายสินค้าผ่านไลฟ์แล้ว ทั้งยังเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสามารถสร้าง ‘ตำนานการขาย’ แบบเดียวกันนี้ขึ้นได้ในอาเซียน
‘ไลฟ์สด’ เทรนด์ใหม่อีคอมเมิร์ซอาเซียน โตเร็วกว่าจีนยุคแรกเริ่ม
“เดือน พ.ย. 2562 เป็นช่วงที่เราเพิ่งเริ่มไลฟ์สดเป็นครั้งแรก ตอนนั้นมีผู้ชมเพียงหลักสิบ จนปัจจุบันก้าวมาสู่หลักพัน และบางครั้งก็ถึงหลักหมื่น” จาว ฮุ่ย ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท Guangxi Tus-Innovation Cross Border E-commerce Co., Ltd. หรือ TusCBEC กล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร China-ASEAN Panorama (CAP) ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ปริมาณการรับชมไลฟ์สดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอาเซียนพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอัตราการเติบโตนี้ อาจเร็วกว่าสมัยที่ไลฟ์สดเพิ่งบูมในประเทศจีนช่วงแรกๆ
เดือน มิ.ย. 2563 “ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนลาซาด้า” (Lazada Cross-border Eco-innovation Service Center) ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่นครหนานหนิง โดยความร่วมมือระหว่าง TusCBEC กับ Alibaba Group มุ่งเน้นพัฒนาเครือข่ายการบริการเจาะตลาดอาเซียน อาทิ การบ่มเพาะธุรกิจ การไลฟ์สดอีคอมเมิร์ซข้ามแดน ฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนให้กับผู้ประกอบการจีน
ตามรายงาน หลังจากดำเนินการมาได้ครึ่งปีกว่า ศูนย์ลาซาด้าหนานหนิงสามารถดึงดูดผู้ประกอบการเข้าร่วมได้มากกว่า 80 ราย ฝึกอบรมการไลฟ์สดอีคอมเมิร์ซข้ามแดนไปมากกว่า 1,000 ครั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามแดนต่างๆ อาทิ การแข่งขันไลฟ์สดข้ามแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 1 และการแข่งขันไลฟ์สดเทศกาล 11.11 โดยในการแข่งขันไลฟ์สดข้ามแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าแข่งขันจากทั้งเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เข้าร่วมกว่า 700 ราย จากการขับเคี่ยวดุเดือดเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน สตรีมเมอร์เหล่านี้ได้ช่วยผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามแดนกว่า 200 ราย โปรโมทสินค้าจำพวกเสื้อผ้า เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 100 รายการ เพิ่มยอดรับชมไลฟ์ให้กับลาซาด้ามากกว่า 1.14 ล้านวิว
ในมุมมองของ จาว ฮุ่ย การไลฟ์สดยังไม่ถือว่าแพร่หลายมากนักในอาเซียน ดังนั้นปัจจุบันการไลฟ์สดข้ามแดนจึงยังเป็นเหมือนแค่ช่องทางโปรโมทสินค้าอย่างหนึ่งเท่านั้น การที่หวังจะให้ผลตอบรับดีเท่ากับการไลฟ์สดในประเทศจีนเองนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก
“การไลฟ์สดข้ามแดนยังอยู่แค่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ในระยะยาว เมื่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนหันมาใช้ช่องทางไลฟ์สดมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความเคยชินของผู้บริโภคในอาเซียนที่เปลี่ยนไป เราเชื่อว่าในอีกปีสองปีต่อจากนี้ การขายของผ่านไลฟ์ในอาเซียนจะบูมพอๆ กับที่จีน”
‘บุคลากรด้านภาษา’ หัวใจสำคัญของไลฟ์สดข้ามแดน
เหตุใด ‘ลาซาด้า’ ซึ่งถูกมองว่าเป็น ‘เถาเป่าเวอร์ชั่นอาเซียน’ ถึงเลือกตั้งศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซแห่งแรกในจีนขึ้นที่นครหนานหนิง? จาว ฮุ่ยให้คำตอบว่า บุคลากรที่มีทักษะด้านภาษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
“ความพิเศษของตลาดอาเซียนคือภาษาที่มีความหลากหลายต่างกันของ 10 ประเทศ หากผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจีนคิดจะเจาะตลาดอาเซียน ภาษาถือว่าเป็นด่านขั้นพื้นฐานที่สุด ผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะที่อยู่ในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ล้วนแต่อยากจะทำไลฟ์สดข้ามแดนกันทั้งนั้น สิ่งที่พวกเขาขาดนั้นอาจไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านภาษา”
อย่างไรก็ตาม TusCBEC พบว่า ปัญหานี้จะหมดไปหากเป็นที่นครหนานหนิง เนื่องจากหนานหนิงมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดสอนในสาขาวิชาเอกกลุ่มภาษาอาเซียน ทั้งยังเปิดรับนักศึกษาต่างชาติจากประเทศอาเซียนมากที่สุดในจีน มีความโดดเด่นในแง่ของบุคลากรด้านภาษาอย่างมาก
ช่วงแรกของการเตรียมการเปิดศูนย์ลาซาด้าในนครหนานหนิง TusCBEC และลาซาด้าได้เปิดรับสมัครเฟ้นหาผู้มีความสามารถมาร่วมงาน ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ที่มีทักษะด้านภาษาตรงตามต้องการมาสัมภาษณ์ได้มากถึง 200 คน ภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ถือเป็นตัวเลขมากที่สุดเมื่อเทียบกับการเปิดรับสมัครในเมืองอื่นของจีน
นอกจากการมีบุคลากรด้านภาษาจำนวนมากแล้ว หนานหนิงยังมีจุดเด่นด้านต้นทุนค่าจ้างที่ต่ำกว่าด้วย “การจะจ้างไลฟ์สตรีมเมอร์เก่งๆ สักคนที่พูดได้ 3 ภาษา ทั้งจีน อังกฤษและอาเซียน หากเป็นที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจวหรือเซินเจิ้น มักจะหาได้แต่ชาวต่างชาติที่เป็นคนอาเซียนเท่านั้น ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ราว 10,000 - 12,000 หยวน แต่หากเป็นที่หนานหนิง คุณแค่ไปหาที่มหาวิทยาลัยก็ได้แล้ว ต้นทุนค่าจ้างจึงลดลงไปมาก” จาว ฮุ่ย กล่าว
อบรมไลฟ์สดข้ามแดน สอนแค่เทคนิคอย่างเดียวไม่พอ
“ฉันไม่เคยไลฟ์สดมาก่อน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำยังไง แต่พอได้มาอบรมที่นี่ปีเดียว ฉันก็ได้เรียนรู้เคล็ดลับอะไรดีๆมากมาย ทั้งการแต่งหน้า ภาษา ท่าทาง การจัดการแพลตฟอร์ม ฯลฯ และทำให้ได้รู้ว่าต้องสื่อสารกับผู้ที่มารับชมไลฟ์อย่างไร” เฉิน ฉุยเหม่ย สาวชาวเวียดนามที่เข้ารับการอบรมสตรีมเมอร์ที่ศูนย์แห่งนี้กล่าว โดยเธอเคยเข้าร่วมการไลฟ์สดอีคอมเมิร์ซข้ามแดนโปรโมทสินค้าให้กับผู้บริโภคอาเซียนในงาน “China-ASEAN Silk Road E-Commerce Forum 2020”
จากเท่าที่ทราบมา เทคนิคการไลฟ์สดที่สตรีมเมอร์หลายรายในอาเซียนใช้ยังถือว่าไม่สมบูรณ์แบบ หลายคนใช้เพียงมือถือเครื่องเดียวในการไลฟ์ ทำให้บางครั้งได้ยินไม่ชัดว่ากำลังพูดอะไร ขณะที่สตรีมเมอร์ชาวจีนจะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า ใส่ใจกับเรื่องความคมชัดของภาพและเสียง การจัดวางสินค้า และคำโฆษณาสินค้ามากกว่า ทำให้สตรีมเมอร์ที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานการไลฟ์แบบจีนจากศูนย์ลาซาด้าหนานหนิง มีความได้เปรียบกว่าสตรีมเมอร์ทั่วไปในอาเซียนอย่างเห็นได้ชัด
แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘เทคนิคการไลฟ์สดแบบจีน’ จะสามารถนำไปใช้กับการไลฟ์สดในอาเซียนได้ในทุกกรณี “ที่จีน เวลาไลฟ์เรามักจะพูดเสียงดังและเร็ว เพื่อกระตุ้นผู้คนที่กำลังรับชม แตกต่างจากไทยซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ชีวิตค่อนข้างสโลว์ไลฟ์ มีสตรีมเมอร์ไทยหลายคนที่นี่บอกว่า ‘หากมีคนพูดแบบนี้ในไลฟ์ ฉันคงรีบกดปิดทิ้งทันที’”
ดังนั้น ที่นี่เราจึงจัดให้มีอาจารย์ผู้ฝึกอบรม 2 ท่าน ท่านหนึ่งรับหน้าที่สอนเรื่องเทคนิคการไลฟ์โดยเฉพาะ ส่วนอีกท่านคอยให้คำแนะนำเรื่องวัฒนธรรม
เมื่อปีที่ผ่านมา จิน หย่าลี่ อาจารย์ชาวไทยท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยกว่างซีได้เข้ามาเป็นครูผู้ฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซที่ศูนย์ลาซาด้าหนานหนิง เธอมักจะเน้นย้ำกับนักเรียนในคลาสเสมอว่า เวลาไลฟ์ให้คนไทยดู ห้ามซีเรียสจริงจังเด็ดขาด แต่ต้องเน้นดึงดูดผู้ชมด้วยภาพลักษณ์ที่มีอารมณ์ขันและมีชีวิตชีวา
‘ความร่วมมือการค้า’ ควบคู่ ‘การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม’
“เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ปีที่ผ่านมานักเรียนที่เข้ารับการอบรมไลฟ์กับเราส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวจีน” แต่ด้วยความพยายามตลอด 1 ปีกว่า ประกอบกับการจัดกิจกรรมแข่งขันไลฟ์สดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 1 ทำให้ผู้คนในอาเซียนเริ่มมองเห็นลู่ทางทำเงินผ่านไลฟ์สดกันมากขึ้น “เมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป เราเชื่อว่าจะมีบุคลากรจากอาเซียนเข้ามายังศูนย์ลาซาด้าหนานหนิงเพิ่มขึ้น” จาว ฮุ่ย กล่าว
ปัจจุบันศูนย์ลาซาด้าหนานหนิงได้ทำข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกว่างซี และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกกว่า 20 แห่ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซข้ามแดนและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติให้แก่นักศึกษา ตลอดจนร่วมมือกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่างซี จัดตั้ง ‘ฐานผู้ประกอบการและนวัตกรรมนอกอาณาเขตสำหรับผู้ที่มีศักยภาพจากต่างประเทศ’ (Overseas Talent Offshore Innovation and Entrepreneurship Base) ขึ้น ภายใน ‘เขตนำร่องแบบบูรณาการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนหนานหนิง’ สนับสนุนให้องค์กรธุรกิจจากอาเซียนเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore Company) และดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศภายในเขตนำร่องฯ โดยมุ่งเน้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบ่มเพาะบุคลากรด้านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนควบคู่ไปกับการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ
“ด้านหนึ่ง เมื่อเราสามารถดึงดูดให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนรู้โมเดลอีคอมเมิร์ซและวัฒนธรรมจีนที่นี่ได้แล้ว เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม พวกเขาสามารถออกไปตั้งบริษัทให้บริการไลฟ์สดของตัวเองได้ ขณะเดียวกัน มีนักเรียนต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจจะกลับไปเริ่มต้นกิจการที่บ้านเกิด เราก็สามารถอาศัยโอกาสนี้ ส่งต่อประสบการณ์และทรัพยากรของจีนออกไปได้ด้วยเช่นกัน” จาว ฮุ่ย กล่าวขณะอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างศูนย์ลาซาด้าหนานหนิงกับฐานผู้ประกอบการนอกอาณาเขตฯ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ลาซาด้าหนานหนิงจึงไม่ได้มีบทบาทแค่ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมด้วย
อ.จิน หย่าลี่ กล่าวเสริมว่า จีนเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ในฐานะคนไทย หวังว่าอนาคตประเทศไทยจะเจริญขึ้นเรื่อยๆได้เหมือนอย่างจีน ทุกวันนี้การไลฟ์สดในจีนบูมมาก ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนสะดวกสบายมากขึ้น นักเรียนชาวไทยหลายคนก็ให้ความสนใจ “หวังว่าการไลฟ์สดในไทยจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยทำให้ผู้คนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น”