China-ASEAN Panorama

‘ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน’ แห่งใหม่ในกว่างซี สร้างโอกาสอย่างไร? ให้ภาคธุรกิจ

12

January

2022

12

July

2021

ภาพ : กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

ผู้เขียน หลี หมิ่น นิตยสาร CAP

        ด้านหน้าอาคารกระจกสูงตระหง่าน ธงชาติจีนและประเทศอาเซียนกำลังโบกปลิวไสว ท่ามกลางแสงแดดและสายลมโชยอ่อนในฤดูใบไม้ผลิ พิธีเปิดอาคารที่ทำการ ‘ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน’ (China-ASEAN Business Center – CABC) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ณ เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง ในฐานะโครงการนำร่องที่สำคัญของเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างไร และจะนำพาโอกาสอะไรมาสู่ภาคธุรกิจ?

แพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดของ “ช่องทางหนานหนิง”

        กว่างซี ชายแดนทางตอนใต้ของประเทศ เป็นพื้นที่เดียวในจีนที่มีอาณาเขตติดต่อกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางความร่วมมือสู่อาเซียนที่พรั่งพร้อมไปด้วยข้อได้เปรียบ แพลตฟอร์ม และนโยบายสนับสนุนครบครัน งานมหกรรม China-ASEAN Expo และการประชุมสุดยอด China-ASEAN Business and Investment Summit  ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2004 ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นช่วงเวลา 17 ปีแห่งการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและอาเซียน เมื่อหนุนเสริมกับยุทธศาสตร์ชาติที่กว่างซีได้รับจากรัฐบาลกลาง อาทิ ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) เขตทดลองการค้าเสรี และนโยบายการเป็นประตูด้านการเงินสู่อาเซียน ยิ่งส่งเสริมให้กว่างซีมีบทบาทสำคัญทางความร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้น

        ต่อมาเมื่อจีนและอาเซียนได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของกันและกัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่จีนประกาศใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ (Dual Circulation) ซึ่งเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจภายในและระหว่างประเทศควบคู่กัน นำมาสู่การยกระดับทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียน ภายใต้บริบทนี้ กว่างซีซึ่งมีบทบาทเป็นด่านหน้าทางความร่วมมือกับอาเซียน จะต้องเร่งยกระดับงาน China-ASEAN Expo และแพลตฟอร์มอื่นๆที่มีอยู่ เพื่อให้แพลตฟอร์มการเปิดกว้างที่สำคัญต่างๆ มีเวทีสำหรับการพัฒนาอย่างบูรณาการร่วมกันได้

คณะกงสุลอาเซียนในนครหนานหนิงเยี่ยมชมศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน

        นับเป็นเวลายาวนานแล้วที่กว่างซีได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การเปิดกว้างสู่ภายนอกของประเทศ จากการอาศัยข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและแพลตฟอร์มด้านการเปิดกว้างที่สำคัญ กว่างซีได้มีส่วนร่วมในการสร้าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ อย่างแข็งขัน และมีบทบาทส่งเสริมกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้ากับอาเซียนในทุกมิติ”หวัง เต๋อเซิง กรรมาธิการพิเศษประจำกระทรวงพาณิชย์ นครหนานหนิง กล่าว“วันนี้ ขณะที่จีนกำลังเร่งเดินหน้าตามความตกลง RCEP การจัดตั้งศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน จะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในฐานะตัวกลางใหม่ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจจีน-อาเซียน”

        ศูนย์แห่งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการรองรับการลงทุนของกว่างซี ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมความร่วมมือและการบริการด้านเศรษฐกิจการค้าแบบครบวงจรระหว่างจีน-อาเซียน ผ่านโมเดลที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันระหว่าง “แพลตฟอร์มทางกายภาพ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการบริการเชิงพาณิชย์” ฟังก์ชั่นหลักของศูนย์ฯ ครอบคลุมด้านการค้าการลงทุน การบริการด้านกฎหมาย การเงิน โลจิสติกส์ ข้อมูลดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ทรัพยากรบุคคล และองค์กรข้ามชาติ โดยขณะนี้มีสมาคม องค์กรภาคธุรกิจและองค์การระหว่างประเทศเข้ามาจัดตั้งสำนักงานในศูนย์ฯ แล้วกว่า 30 แห่ง

บริการอำนวยความสะดวกด้านการค้า

        ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง นครหนานหนิง มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง22,000 ตารางเมตร ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและทันสมัยทั้งห้องประชุม โถงจัดกิจกรรมโรดโชว์ ห้องอเนกประสงค์ ฯลฯ รองรับการจัดการประชุมรูปแบบออนไลน์การประชุมแบบ On-site การจัดกิจกรรมโรดโชว์ การฝึกอบรม ตลอดจนมอบสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีเยี่ยมให้กับหน่วยงานและบริษัทที่เข้ามาตั้งสำนักงานภายในศูนย์ฯ

        เมื่อก้าวเข้ามาภายใน ‘ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ’ (One Stop Service Center) ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ของศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน จะมองเห็นโถงสว่างโล่ง เคาน์เตอร์บริการ 7 ช่องที่เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ พร้อมทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงการลงทุนแบบสองทางระหว่างภาคธุรกิจจีน-อาเซียน ผ่านรูปแบบการให้บริการแบบครบจบในจุดเดียว

ภาพ : กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

        ปัจจุบันมีเคาน์เตอร์ที่เปิดให้บริการแล้ว 7 ช่อง นอกเหนือจากจุดบริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Country of Origin) จุดบริการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมการค้าระหว่างประเทศ จุดบริการที่เหลือจะเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัท Guangxi International Expositions Group กับศูนย์บริการธุรกิจ SMEs นครหนานหนิง โดยให้บริการด้านการวิจัยร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย บริการด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ บริการด้านการเงินระหว่างประเทศ บริการด้านการค้าระหว่างประเทศ และบริการบิ๊กดาต้าในอาเซียน ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs จีนและอาเซียนในการปรับตัวเข้ากับรูปแบบการพัฒนาใหม่ เป็นด่านหน้าสำหรับธุรกิจจีนที่จะเข้าสู่อาเซียน และเป็นช่องทางที่ธุรกิจจากอาเซียนจะเข้าสู่จีน

        ขณะที่ ‘ศูนย์บริการด้านกฎหมาย เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี)’ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 12 ของศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านกฎหมายแบบครบวงจรให้กับภาคธุรกิจในเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี อาทิ บริการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การรับรองเอกสาร และบริการด้านอนุญาโตตุลาการ มอบบริการด้านกฎหมายที่สะดวก ตรงจุดและมีประสิทธิภาพแก่ภาคธุรกิจ ยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของกว่างซี

ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ภายในศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (ภาพ : สวี่ จวิ้นหาว)

        นอกจากนี้ ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียนยังอยู่ระหว่างการเร่งจัดตั้งศูนย์บริการต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ศูนย์บริการด้านการเงินข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน, ศูนย์ส่งเสริมโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนครบวงจร, ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี, ศูนย์บริการผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอาเซียน และศูนย์มาตรฐานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

        “การจัดตั้งศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียนจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน รวมถึงประเทศไทย สถานกงสุลใหญ่ฯ จะเป็นสะพานเชื่อมโยงนำข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน ไปประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคม องค์กรภาคธุรกิจ ได้รับทราบ รวมทั้งเชิญชวนให้เข้ามาตั้งสำนักงานหรือมาใช้บริการที่ศูนย์ฯ ในอนาคต”เบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง กล่าว

พิธีเปิดศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (ภาพ : กรมการค้ากว่างซี)

แพลตฟอร์มใหม่กับการเดินทางครั้งใหม่

        ตามแผนแม่บท พันธกิจและเป้าหมายของศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียนคือ การเป็นแพลตฟอร์มให้บริการและเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียน สร้างแบรนด์กว่างซีและชูจุดแข็งของกว่างซี โดยใช้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์แห่งชาติที่กว่างซีได้รับจากรัฐบาลกลาง อาทิ เขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (NWLSC) โมเดลความร่วมมือ“สองประเทศสองนิคม”ระหว่างจีน-มาเลเซีย นิคมอุตสาหกรรมระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดจนเขตทดลองการค้าเสรีที่อยู่ข้างเคียงและแพลตฟอร์มเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญอื่นๆ รวมถึงเป็นตัวจักรขับเคลื่อนงาน China-ASEAN Expo สร้างห่วงโซ่คุณค่าให้กับงานดังกล่าว ก่อเกิดเป็นกลไกส่งเสริมการค้าการลงทุน ยกระดับธุรกิจบริการสมัยใหม่และการค้าบริการของนครหนานหนิงให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น และขับเคลื่อนกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมและการลงทุนของอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย

หอนิทรรศการเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีภายในศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (ภาพ : กรมการค้ากว่างซี)

        “ก้าวต่อไป ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียนจะเร่งดึงดูดองค์กร สมาคม ผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์ (third party service provider) และภาคธุรกิจรายสำคัญเข้ามาจัดตั้งสำนักงานในอาคารที่ทำการ ผลักดันการทดลองใช้หลักการของ RCEP ภายในศูนย์ฯ มุ่งมั่นสู่การเป็นแพลตฟอร์มให้บริการภาคธุรกิจจีน-อาเซียนและประเทศสมาชิก RCEP แบบครบจบในจุดเดียว เร่งสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อตลาด มีความเป็นสากล และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายภายในเขตทดลองการค้าเสรี”ถาน ซิ่วหง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำกรมการค้ากว่างซี และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีกล่าว ศูนย์ธุรกิจแห่งใหม่นี้จะมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ มอบสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี และโอกาสการลงทุนที่มากขึ้นแก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนจีน-อาเซียน

Tags: