ต้อนรับสู่ยุค RCEP: แบ่งเค้กให้ลงตัว และช่วยกันขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น
24
September
2024
25
January
2022
ผู้เขียน: หลี หมิ่น นิตยสาร CAP
ต้อนรับศักราชใหม่ ปี 2565 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เข้าสู่ยุคสมัยของ RCEP พร้อมๆกับเสียงลั่นระฆังเฉลิมฉลองปีใหม่ จากอาเซียน+1 อาเซียน+3 จนมาถึง อาเซียน+5 ในปัจจุบัน การมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการของความตกลง RCEP ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงการผสานความร่วมมือที่แข็งแกร่งมากขึ้นภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ยังทำให้เห็นถึงบทบาทความร่วมมือของอาเซียนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมไปถึงเอเชียแปซิฟิกด้วย จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดใน RCEP อีกทั้งจีนและอาเซียนต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน ภายหลังการมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการของ RCEP จีนและอาเซียนจะสามารถคว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายนี้ได้อย่างไร ถือเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามอง
ในการประชุมเสวนาเชิงยุทธศาสตร์คลังสมองจีน-อาเซียน (China-ASEAN Think Tank Strategic Dialogue Forum) ครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ แขกผู้มีเกียรติได้ร่วมอภิปรายเชิงลึกในหัวข้อ "โอกาสใหม่และอนาคตสำหรับความร่วมมือจีน-อาเซียนภายใต้บริบทของ RCEP"
โอกาสเป็นของทุกฝ่าย
สิทธิประโยชน์จาก RCEP ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนเช่นเดียวกับความตกลงการค้าเสรีอื่นๆ ในมุมมองของ ศาสตราจารย์เฉิง ฮั่นผิง ผู้อำนวยการศูนย์เวียดนามศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้อเจียง และอาจารย์ประจำคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหนานจิง โอกาสที่จะตามมาจาก RCEP นั้น หนีไม่พ้นเรื่องของการสนับสนุนด้านกฎเกณฑ์และนโยบาย ครอบคลุมทั้งนโยบายลดกำแพงภาษีเหลือศูนย์ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสม (Cumulative Rule of Origin: CRO) กฎเกณฑ์ด้านการค้าบริการและอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม ฯลฯ
ด้าน หยวนปอ นักวิจัยและรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเอเชีย สำนักวิจัยความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน แสดงความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมองว่า ผลกระทบเชิงบวกของ RCEP จะสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน-อาเซียนใน 3 ด้านหลัก ดังนี้
" ประการแรก RCEP จะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดตลาดการค้าเสรีระดับภูมิภาค โดยการลดหรือขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนอย่างครอบคลุม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของการค้าการลงทุนและนำพาผลประโยชน์ที่มากขึ้นมาสู่จีนและอาเซียน โดยจากผลการคำนวณด้วยแบบจำลองของนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านก็ชี้ให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน” หยวนปอ อธิบายเสริมว่า “ในปี 2564 เราได้ทำการคำนวณด้วยแบบจำลองเช่นกัน ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า เมื่อถึงปี 2035 RCEP จะช่วยผลักดันตัวเลข GDP ที่แท้จริง มูลค่าการส่งออกและนำเข้าโดยรวมของภูมิภาคให้เติบโตสะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.86, ร้อยละ18.3 และ ร้อยละ 9.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสถานการณ์พื้นฐาน รวมทั้งจะส่งผลให้การลงทุนในภูมิภาคเพิ่มขึ้นสะสม 1.47% สวัสดิการทางเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเพิ่มขึ้นสะสมกว่า 162,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 1.03 ล้านล้านหยวน) โดยทั้งจีนและอาเซียนจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน”
ประการต่อมา กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสมของ RCEP ไม่เพียงแต่เอื้อต่อการส่งเสริมการสร้างระบบความร่วมมือห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับภูมิภาคที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังเอื้อต่อการขยายความร่วมมือด้านห่วงโซ่คุณค่าที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นภายในภูมิภาคด้วย
ประการสุดท้ายคือ RCEP จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ครอบคลุมหลายด้าน โดยเฉพาะการนำมาตรฐานที่สูงขึ้นไปใช้ในด้านนโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใส ฯลฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น จนนำไปสู่การเร่งกระบวนการปฏิรูปพัฒนาของประเทศต่างๆ ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และลดความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ ส่วนผู้ประกอบการจีนและอาเซียนที่ลงทุนในภูมิภาค RCEP ก็จะได้รับสภาพแวดล้อมทางความร่วมมือที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพสูงทางความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนร่วมกัน
ในแง่ของการลงทุน หยวนปอ กล่าวว่า ขณะนี้มีงานวิจัยบางส่วนที่ระบุว่าจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่ที่สุดจาก RCEP และผลประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกบางส่วนได้รับอาจลดลง แต่เราจะต้องพิจารณาไปถึงลักษณะเฉพาะ RCEP ซึ่งมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุการพัฒนาร่วมกัน ในความตกลงนี้กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน จะได้รับการปฏิบัติพิเศษ เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัวเข้ากับข้อกำหนดการเปิดกว้างในระดับที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดขอบเขตความร่วมมือที่หลากหลาย เพื่อให้ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่
ด้าน ศ.ดร.ทัง จือหมิ่น ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้แสดงมุมมองที่ชี้ให้เห็นถึงโอกาสด้านการค้าบริการระหว่างจีน-อาเซียน “ปัจจุบัน จีนเพิ่งยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-เกาหลีใต้ มาสู่การเปิดตลาดกลุ่มที่ 2 และเริ่มมีการเปิดเสรีด้านการค้าบริการเป็นครั้งแรก ซึ่งในอนาคตหากประเทศสมาชิก RCEP รวมถึงจีนสามารถนำร่องเปิดตลาดเสรีด้านการค้าบริการเบื้องต้นในรูปแบบ Negative List Approach ได้ ย่อมจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างมหาศาล โดยคาดว่าสาขาที่จีนและอาเซียนจะสามารถเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันได้นั้นจะมีทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ การชำระเงิน คลังสินค้า และอีคอมเมิร์ซ” ศ.ดร.ทัง จือหมิ่น กล่าว
ความตกลง RCEP ยังไม่จบเพียงเท่านี้
สำหรับประเด็นที่ว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าที่นำพาโอกาสและความท้าทายมาสู่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียนนั้น อันที่จริงหลายฝ่ายได้มีการคาดการณ์และหารือกันมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่ RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้การคาดการณ์เหล่านี้เริ่มปรากฏภาพให้เห็นชัดขึ้น สำหรับปี 2565 เป็นเพียงปีเริ่มต้นของ RCEP ซึ่งเป็นความตกลงซึ่งยังมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง RCEP จะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระดับภูมิภาคในอีก 10 ปี 30 ปี หรืออีก 50 ปีข้างหน้าอย่างไร และมีประเด็นไหนบ้างที่น่าจับตามอง
หยวนปอ ชี้ให้เห็นว่า RCEP เป็นความตกลงการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป และคำนึงถึงความตกลงการค้าเสรีระดับสูงที่มีอยู่เดิมระหว่างประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในภูมิภาค ดังนั้นผลกระทบของ RCEP ต่อการค้าและการลงทุนจึงเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปและใช้ระยะเวลายาว
"ตอนนี้ทุกคนให้ความสนใจว่า หลังจากที่ RCEP มีผลบังคับใช้ เค้กก้อนนี้จะถูกจัดสรรปันส่วนอย่างไร แต่หากมองไปถึงอนาคต ดิฉันคิดว่าทุกคนควรให้ความสนใจกับเค้กชิ้นใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากข้อตกลงนี้ เช่น การขยายตัวของขนาดการค้าและการลงทุนโดยรวมในภูมิภาค การขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าบริการ และเศรษฐกิจสีเขียว ศักยภาพเหล่านี้จะถูกปลุกเร้าดึงออกมา และไม่จำเป็นจะต้องมาเกลี่ยซ้ำกับโครงสร้างผลประโยชน์เดิมที่มีอยู่ ปัจจุบันจีนกำลังจัดกิจกรรมส่งเสริมที่เกี่ยวข้องกับ RCEP และเชิญชวนประเทศอาเซียนและสมาชิก RCEP เข้าร่วมอย่างแข็งขัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการขยายขอบเขตความร่วมมือในอนาคต” หยวนปอ กล่าว