China-ASEAN Panorama

RCEP หนุนอาเซียนหวนขึ้นแท่นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน ผู้ประกอบการจีนได้ประโยชน์อย่างไร?

25

May

2022

25

May

2022

ผู้เขียน: จ้าว หย่าลี่ นิตยสาร CAP

        หลังจากที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้มาแล้ว 4 เดือนกว่า เรายังคงได้เห็นสิทธิประโยชน์ที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง จากแรงสนับสนุนของ RCEP ทำให้อาเซียนแซงหน้าสหภาพยุโรปกลับมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา RCEP ได้ส่งผลต่อภาคธุรกิจจีนอย่างไร? ผู้ประกอบการจีนได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง? แล้วอะไรอีกที่จะตามมาในอนาคต?

สิทธิประโยชน์ของภาคธุรกิจทวีเพิ่มอีกขั้นจากในอดีต

        นับตั้งแต่ที่ RCEP มีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน บรรดาภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจีนต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งเร่งอาศัยกฎและภาระผูกพันการเปิดตลาดในการขยายการนำเข้าและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงลึกด้านความร่วมมือห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมภายในภูมิภาค รวมถึงผลักดันการยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมของจีน

กรมศุลกากรชิงเต่าออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบ RCEP ฉบับแรกของจีน

        สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของ RCEP มอบโอกาสสำคัญในการเจาะตลาดต่างประเทศให้กับภาคธุรกิจส่งออกของจีน ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2565 กว่างซีซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับอาเซียน มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกกับประเทศสมาชิก RCEP สูงถึง 33,000 ล้านหยวน หรือ คิดเป็นสัดส่วน 47.7% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกว่างซีทั้งหมด การค้าสินค้าที่มีความได้เปรียบกับอาเซียนและการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP บางประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 กว่างซีมีการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามกรอบความตกลง RCEP ผ่านระบบรวมทั้งสิ้น 2,055 ฉบับ มูลค่ารวมกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยลดอัตราภาษีศุลกากรให้กับภาคธุรกิจแล้วรวมกว่า 1.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนอธิบายเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้ผู้เข้ารับบริการฟัง

        นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าส่งออกยังสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทการส่งเสริมการค้าของ RCEP จากสถิติของกรมศุลกากรจีนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จีนมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกกับอาเซียนมากถึง 1.35 ล้านล้านหยวน และกับสหภาพยุโรปที่ 1.31 ล้านล้านหยวน อาเซียนแซงหน้ายุโรปกลับมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนอีกครั้ง สำหรับปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนในช่วงไตรมาสแรกนี้ หลี่ ขุยเหวิน โฆษกสำนักงานใหญ่ศุลกากรจีน และผู้อำนวยการกองวิเคราะห์สถิติของกรมศุลกากรจีน ยกให้การเริ่มบังคับใช้ความตกลง RCEP มาเป็นปัจจัยอันดับ 1 โดยมองว่าสิทธิประโยชน์จากการมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการของ RCEP ได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มขึ้น

        ตัวเลขสถิติชี้ชัดว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนถึง 47.2% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมโยงซึ่งกันและกันระหว่างจีนกับอาเซียน การฟื้นตัวของห่วงโซ่อุตสาหกรรมภายในภูมิภาค รวมถึงการที่จีนเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียน ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน

ปริมาณการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลัง RCEP มีผลบังคับใช้มาแล้ว 4 เดือนกว่า

อานิสงส์ของ RCEP ยังคงเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

        การมีผลบังคับใช้ของ RCEP ไม่เพียงแต่ช่วยลดอัตราภาษีศุลกากรและเพิ่มผลประโยชน์ทางการค้าแก่ประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนทางความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศสมาชิกในระยะยาวด้วย

        หลิว อิง นักวิจัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความร่วมมือและคณะกรรมการกิจการของสถาบันวิจัยการเงินฉงหยาง มหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน กล่าวว่า จากการคาดการณ์ ภายในปี ค.ศ.2035 RCEP จะช่วยผลักดันการนำเข้าส่งออกของจีนมากกว่า 10.85% และสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจจีนเกือบ 5% ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ของจีนยังได้ร่วมมือกับอีก 5 หน่วยงาน ออกประกาศข้อแนะนำการบังคับใช้ RCEP คุณภาพสูง ปรับปรุงมาตรการและกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับถิ่นกำเนิดสินค้า และแพลตฟอร์มบริการสาธารณะ รวมถึงมีการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ จากการบังคับใช้ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่าอานิสงส์จาก RCEP จะกระจายไปสู่ภาคธุรกิจ ทั่วภูมิภาค รวมถึงทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

เดือนม.ค.-ก.พ.65กว่างซีมีมูลค่าการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP สูงถึง 33,000 ล้านหยวน

        ด้าน ฮั่ว เจี้ยนกั๋ว รองประธานสภา China Society for World Trade Organization Studies (CWTO) กล่าวว่า “นอกจาก RCEP จะช่วยขับเคลื่อนการค้าภายในภูมิภาคแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ด้วยเช่นกัน ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะนำไปสู่การส่งเสริมภาคการผลิต การจ้างงาน รวมไปถึงการขนส่งและการบริโภคที่มากขึ้น นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งภูมิภาค และปริมาณการนำเข้าส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น เกิดเป็นผลลัพธ์ที่มากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้” ตามการประมาณการขององค์กรคลังสมองระดับนานาชาติ  คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2025 RCEP จะช่วยผลักดันการส่งออกของประเทศสมาชิก การลงทุนสะสมจากต่างประเทศ และ GDP เพิ่มขึ้น 10.4%, 2.6% และ 1.8% จากค่าพื้นฐานตามลำดับ

        RCEP จะช่วยกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนภายในประเทศ ช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมความมั่นคงให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 เช่น จีนสามารถโยกย้ายฐานอุตสาหกรรมบางส่วนไปยังกัมพูชาได้ผ่านความร่วมมือ RCEP ซึ่งมีส่วนช่วยขยายฐานการผลิตของจีนไปยังต่างประเทศ ขณะเดียวกันกัมพูชาก็จะสามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลกมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจช่วยดึงดูดให้นักลงทุนชาวจีนสนใจเข้ามาลงทุนในสาขาโลจิสติกส์ ระบบชำระเงิน อีคอมเมิร์ซหรืออื่นๆ ที่กัมพูชามากขึ้น

หลี่ เค่อเฉียงนายกรัฐมนตรีของจีน ร่วมในพิธีลงนามความตกลง RCEP ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 15 พ.ย.63

        ผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกและทั่วโลกต่างได้รับผลประโยชน์จาก RCEP ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้ว มาตรการผ่อนปรนด้านการลงทุน ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การตรวจสอบกักกันโรค มาตรฐานทางเทคนิค ข้อกำหนดเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ การแข่งขันและเยียวยาทางการค้า ฯลฯ ล้วนแต่ช่วยเปิดโอกาสให้กับภาคธุรกิจและเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรม

RCEP ช่วยเสริมศักยภาพให้แก่ภาคธุรกิจ

        เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จาก RCEP อย่างเต็มที่ นอกเหนือจากการดำเนินการของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง เพื่อไขว่คว้าโอกาสจาก RCEP

ด่านโหย่วอี้กวนเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประตูทางบกสู่อาเซียนที่สำคัญของจีน

        ในประเด็นนี้ ฮั่ว เจี้ยนกั๋ว มองว่า ประการแรกภาคธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาของความตกลง RCEP เป็นอย่างดีก่อน ธุรกิจนำเข้าส่งออกควรศึกษากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ประการต่อมาคือการประสานพูดคุยกับคู่ค้ารายเก่าที่มีอยู่เดิม เพื่ออัพเดทปรับปรุงข้อตกลงการค้าใหม่ เพื่อบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน ประการที่สามคือ การศึกษาความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละตลาด เพื่อวางแผนและจัดเตรียมสต๊อกสินค้า ขณะเดียวกันจะต้องใส่ใจกับคุณภาพสินค้า สร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าส่งออกของจีน ประการที่สี่ สถานประกอบการที่ตรงเงื่อนไขการลงทุนควรศึกษากฎว่าด้วยถิ่นกําเนิดแบบสะสม วางแผนการลงทุนและการวิจัยตลาดเบื้องต้นเป็นอย่างดี ตลอดจนเร่งมองหาพันธมิตรความร่วมมือและโครงการลงทุน

        อวี๋ เปิ่นหลิน อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า “การมีผลบังคับใช้ของ RCEP เอื้อต่อการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค มีส่วนช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ช่วยรักษาเสถียรภาพการค้าต่างประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่” โดยเชื่อว่า RCEP จะนำพามาซึ่งความหวังและโอกาส และเสริมพลังขับเคลื่อนให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

Tags: