TikTok จะโกอินเตอร์ได้ไกลแค่ไหน ? ภายใต้แรงหนุนข้อตกลง RCEP
29
April
2024
28
December
2022
ผู้เขียน: หลิน หาน, สวี เจียงลี่ นิตยสาร China-ASEAN Panorama
TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียในรูปแบบวิดีโอสัญชาติจีน ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2559 และได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วด้วยระบบอัลกอริทึมและแกนกลางรับส่งข้อมูลบิ๊กดาต้า ที่สามารถคัดสรรเนื้อหามานำเสนอได้ตรงตามความชอบของแต่ละบุคคล จนทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทุกช่วงวัย ประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและดึงดูดให้ผู้คนดื่มด่ำได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวิดีโอที่โด่งดังในจีนอย่างรวดเร็ว
แต่เส้นทางของ Tiktok ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตลาดภายในประเทศ หลังจาก TikTok เวอร์ชันต่างประเทศได้เปิดตัวเมื่อเดือน ส.ค.2560 ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย หลังจากนี้ ภายใต้แรงสนับสนุนจาก RCEP เส้นทางการเติบโตของ TikTok ในต่างประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป?
TikTok โกอินเตอร์ หนทางที่ง่ายดายไร้อุปสรรค?
ปี 2559 เป็นปีเริ่มต้นของการพัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น โดย TikTok ถือเป็นแอปพลิเคชัน ‘ไพ่ไม้ตาย’ แรกที่ ByteDance เปิดตัว และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากข้อมูลสถิติของ IIMedia ในปี 2564 TikTok ติดอันดับ 1 ของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ผู้ใช้ชาวจีนใช้งานเป็นประจำ โดยมีสัดส่วนผู้ใช้งาน 45.2% ถือเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นแถวหน้าของวงการ
หลังจาก TikTok เปิดตัวเวอร์ชันต่างประเทศในปี 2560 ก็เริ่มเจาะตลาดกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น ไทย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการก้าวสู่ตลาดต่างแดนของ TikTok
สำหรับแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ จาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้ง ByteDance เคยกล่าวไว้ว่า “ประชากรผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตของจีนคิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก หากไม่จัดสรรทรัพยากรไปทั่วโลก และอาศัยประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) 1 ใน 5 ก็ไม่มีทางไปแข่งขันกับ 4 ส่วนที่เหลือได้ ดังนั้นการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
ความท้าทายของ TikTok ในยุค RCEP
หากกล่าวว่า เส้นทางโกอินเตอร์ของ TikTok ช่วงแรกๆ เป็นไปอย่างราบรื่น เช่นนั้นหนทางข้างหน้าอาจเรียกได้ว่าต้องเจอกับศึกหนัก
เดือน พ.ย. 2560 หลังจาก TikTok เพิ่งเข้าสู่ตลาดได้ไม่นาน ก็ได้เข้าซื้อกิจการ Musical.ly แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดนิยมในสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านั้น จาง อี้หมิง เคยกล่าวว่า “การก้าวไปสู่ตลาดโลกถือเป็นกลยุทธ์หลักในปี 2560” หลังจากนั้น TikTok ก็ได้กลายเป็นม้ามืดที่แซงหน้าคู่แข่งในตลาด กลายเป็นหนึ่งในต้นแบบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของผลิตภัณฑ์คอนเทนต์แบรนด์จีน ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเอาชนะเจ้าตลาดอย่าง Facebook
ทว่าจากกระแสความนิยมของ TikTok ที่โด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตเริ่มหาทางสกัดดาวรุ่ง รัฐบาลหลายประเทศเริ่มที่จะแสดงความกังวลกับการส่งออกข้อมูลผ่าน TikTok ส่งผลให้เส้นทางเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ TikTok เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่
เหตุใด Facebook ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในตลาด ถึงได้ถูก TikTok แย่งชิงจุดสนใจไปได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าในปี 2562 Facebook ได้ปล่อยฟีเจอร์ Clips บน Instagram ซึ่งให้ผู้ใช้งานสามารถบันทึกไลฟ์สไตล์ในรูปแบบ “วิดีโอ+ดนตรี” เพื่อมาแข่งกับ TikTok แต่ผลตอบรับกลับไม่ดีเท่าที่ควร
สำหรับประเด็นด้านเนื้อหา TikTok ให้ความสำคัญกับเนื้อหา Original Content ที่ผู้ใช้งานสร้างสรรค์ขึ้นเอง หรือเน้น User Generated Content (UGC) เป็นหลัก เนื้อหามีทั้งที่คุณภาพดีและไม่ดีคละปนกัน อัลกอริทึมของ TikTok ไม่สามารถกรองเนื้อหาที่ผิดกฎออกไปได้ทั้งหมด ทำให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบางส่วนปรากฏออกมา และจากพลังของโซเชียลก็ทำให้เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบเชิงลบไม่มากก็น้อย
ขณะที่ในด้านการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล อัลกอริทึมของ TikTok ที่สามารถนำเสนอวิดีโอให้รับชมตามความสนใจของแต่ละบุคคลได้ ถูกบางประเทศมองว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกมาย้ำเตือนประชาชนหลายครั้ง เดือนก.พ. 2562 แอปฯ Musical.ly ถูกคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) ของสหรัฐปรับ 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็ก ต่อมาในปี 2563 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมายห้ามข้าราชการและพนักงานของรัฐใช้ TikTok บนอุปกรณ์ของรัฐ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาพื้นฐานของการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ TikTok คือ ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ มาตรฐานและกฎระเบียบข้อกำหนดต่าง ๆ การบุกเบิกตลาดใหม่ในต่างประเทศ ล้วนแต่ต้องเผชิญกับความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ หากประมาทแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจเผชิญกับการถูกแบนหรือสั่งปรับเงินจำนวนมหาศาลได้
เดือน ม.ค.2565 ความตกลง RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในฐานะข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การมีผลบังคับใช้ของ RCEP มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อแผนพัฒนารูปแบบใหม่ของจีน ถือเป็นตัวกลางเชื่อมประสานตลาดภายในและต่างประเทศของจีน เป็นหมุดหมายใหม่ของการเปิดกว้างสู่ภายนอกของจีน TikTok ในฐานะหนึ่งในผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลของจีนก็ได้รับโอกาสการพัฒนาใหม่ ในการอาศัยแรงสนับสนุนจาก RCEP ก้าวออกไปสู่ตลาดต่างแดน เนื่องจาก RCEP มีประเทศสมาชิกจำนวนมาก ดังนั้นในขั้นตอนการบุกเบิกตลาดใหม่จึงจำเป็นต้องระมัดระวังถึงอุปสรรคด้านต่าง ๆ ด้วย
เอาชนะฟันฝ่าอุปสรรค การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศยังคงต้องเดินหน้าต่อ
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ภายใต้การมีผลบังคับใข้ของ RCEP การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ TikTok ยังคงต้องเดินหน้าต่อ
อันดับแรก การเสริมเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่นของกลุ่มประเทศ RCEP เมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ กำแพงอุปสรรคในการนำผลิตภัณฑ์ดิจิทัลทางวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศยังมีค่อนข้างสูง เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก แอปพลิเคชัน TikTok เวอร์ชันต่างประเทศจึงไม่สามารถก๊อปปี้จากเวอร์ชั่นจีนได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอที่เหมาะสมตามขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
ลำดับต่อมา คือการปรับปรุงระบบการคัดกรองวิดีโอ แต่ละประเทศล้วนแต่มีกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตเป็นของตนเอง มีมาตรฐานการคัดกรองเนื้อหาแต่ละประเภทที่แตกต่างกันออกไป การส่งออก TikTok ไปยังต่างประเทศจำเป็นต้องเสริมสร้างระบบการตรวจสอบเนื้อหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะต้องสามารถคัดกรองตรวจสอบเนื้อหาที่ขัดต่อประวัติศาสตร์วัฒนธรรม กฎหมายและศาสนาของประเทศนั้น ๆ ได้ ทำหน้าที่เป็นเสมือน Gate keeper หรือผู้เฝ้าประตูที่คอยกลั่นกรองข่าวสารก่อนถูกเผยแพร่
ประการสุดท้าย คือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบทางการค้าของประเทศสมาชิก RCEP อย่างเคร่งครัด ในขณะที่เร่งติดตามเทรนด์นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ TikTok ยังคงต้องใส่ใจและปฏิบัติตามกฎการค้าและกฎหมายข้อบังคับของกลุ่มประเทศ RCEP อย่างเคร่งครัด สร้างสรรค์สินค้าคุณภาพสูงที่ตรงใจผู้บริโภค เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง
หลังจาก RCEP มีผลบังคับใช้ ความร่วมมือด้านการค้าวัฒนธรรมดิจิทัลระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลงานด้านภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์และเพลงของจีนได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย TikTok เป็นหนึ่งในช่องทางแพร่กระจายที่รวดเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้อาศัยช่องทางนี้ในการเข้าสู่ตลาดจีน ช่วงต้นปี 2565 ซีรีส์เรื่อง “หัวใจรักสี่ดวงดาว” หรือ F4 เวอร์ชันไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทวีปเอเชีย ทำให้เกิดกระแสตามติดดารานักแสดงขึ้นอีกครั้ง ขณะที่เพลงเวียดนามได้กลายเป็นเพลงยอดฮิตใน TikTok อย่าง ฮว่างถวี่ลีง (Hoàng Thùy Linh) ดาราสาวชาวเวียดนามซึ่งกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนมากมาย จากเพลง See Tình โดยเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงยอดฮิตใน TikTok ของจีน มีการใช้เพลงนี้ประกอบในวิดีโอต่าง ๆ มากมาย
ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานครอบคลุมกว่า 150 ประเทศและเขตพื้นที่ทั่วโลก ในปีนี้ ByteDance ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา TikTok ได้เปิดตัวฟีเจอร์ร้านค้าในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าเกือบครึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียนได้เข้าร่วมในร้านค้าของ TikTok แล้วเรียบร้อย ภายใต้แรงสนับสนุนจากการค้าพหุภาคีและการค้าเสรี การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ TikTok จะราบรื่นมากยิ่งขึ้น