China-ASEAN Panorama

กระแสเรียนจีน มาแรงในอาเซียน ภาษาจีนนับวันยิ่งแพร่หลายทั่วโลก

15

March

2022

30

June

2021

ผู้เขียน : กวน ชิวอวิ้น นิตยสาร CAP

        “ผู้คนทั่วโลกกำลังเรียนรู้ภาษาจีน คำสอนขงจื่อนับวันยิ่งแพร่หลายทั่วโลก...” ถ้อยคำที่กล่าวถึงความนิยมของภาษาจีนในบทเพลงเพลงหนึ่งซึ่งเคยโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน ขณะนี้ใกล้จะกลายเป็นจริงแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื้อเพลงท่อนที่ว่า “ผู้คนทั่วโลกต่างสื่อสารกันด้วยภาษาจีน” กำลังจะไม่ได้เป็นเพียงแค่เนื้อเพลงอีกต่อไป

ซุ้มกิจกรรมสัมผัสวัฒนธรรมจีนภายในงานนิทรรศการภาพถ่าย "Splendid Vietnam, Splendid China" ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงฮานอย

ผู้คนในอาเซียนหันมาพูด ‘ภาษาจีน’ มากขึ้น

        “มวลคลื่นยักษ์สาดซัดกระทบฝั่ง ถาโถมดั่งหิมะขาวโพลนท่วมท้น...” เสียงท่องบทกวี “ทำนองระลึกนู่เฉียว โหยคำนึงศึกผาแดง” ผลงานของซูตงโพ ที่ออกเสียงได้อย่างชัดเจนลื่นไหลของ จัดด์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมภาษาจีนบรูไน ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนภาษาจีน เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

        ในกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บ้านเกิดของจัดด์ ภาษาจีนได้รับความนิยมมากแค่ไหน?

        “ปัจจุบัน 36% ของโรงเรียนมัธยมในกรุงบันดาร์เสรีเบกาวันเปิดสอนหลักสูตรภาษาจีน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” จาง ชิงฟู่ ชาวจีนจากเมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี ซึ่งมาเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนที่โรงเรียนมัธยมภาษาจีนบรูไน กล่าว

23 มิ.ย.2563 พิธีเปิดการฝึกอบรมภาษาจีนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรถไฟจีน-ลาว ณ สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กรุงเวียงจันทน์

        นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้ภาษาจีนของบุคคลทั่วไป สถานีวิทยุบรูไน (Radio Brunei) ได้เผยแพร่คอร์สเรียนภาษาจีนฟรีผ่านทางออนไลน์ เนื้อหาเริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐานการออกเสียงวรรณยุกต์ มีการสาธิตการออกเสียงและเรียนรู้ผ่านบทสนทนาในสถานการณ์จริง ช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำคำทักทายพื้นฐานในภาษาจีนได้อย่างรวดเร็ว

        ด้านสปป.ลาวได้บรรจุหลักสูตรภาษาจีนในระบบการศึกษาของประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย “เหลียวตูกงเสวีย” (寮都公学) โรงเรียนจีนระดับมัธยมขนาดใหญ่ที่สุดในสปป.ลาว มีนักเรียนเชื้อสายจีนเพียง 20% ขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวลาว นอกจากนี้ เว็บไซต์ทางการมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวยังได้เผยแพร่ผลสำรวจสาขาวิชาที่บุคคลสนใจเข้าศึกษามากที่สุด ซึ่งสำรวจเมื่อเดือน มี.ค.2564 พบว่า สาขาวิชาภาษาจีนของมหาวิทยาลัยฯ ยังคงได้รับความนิยมสูงสุด สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในสาขาวิชาภาษาจีนในหมู่นักศึกษาชาวลาวได้ในระดับหนึ่ง

        ขณะที่ผลสำรวจของมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) พบว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวมาเลเซีย มองว่าภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศที่ควรให้เด็กเรียนรู้มากที่สุด และจากการให้ความสำคัญกับภาษาจีนอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2568 จำนวนผู้ใช้ภาษาจีนในมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ

โรงเรียนบางแห่งในสิงคโปร์เปิดสอนคลาสภาษาจีนในระดับอนุบาล

        จากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาษาจีนไม่เพียงแต่แทรกซึมเข้าสู่รั้วสถาบันการศึกษาของฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ยังเข้ามาสู่แวดวงสื่อสารมวลชนฟิลิปปินส์มาตั้งแต่เดือนเม.ย.2562  Lourdes Nepomuceno ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวระหว่างหลักสูตรฝึกอบรมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2564 ว่า “ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนด้านสื่อสารมวลชนระหว่างจีนและฟิลิปปินส์มีมากขึ้นเรื่อยๆ การเรียนภาษาจีนได้กลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของนักข่าวในฟิลิปปินส์ จากจำนวนผู้เข้ารับการอบรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราเตรียมจะขยายชั้นเรียนและหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมในอนาคต"  ด้านผู้บริหารสำนักข่าวและสารสนเทศฟิลิปปินส์ (News and Information Bureau: NIB) กล่าวว่า การเรียนภาษาจีนเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานแจ้งความประสงค์เข้ามาด้วยตนเอง  เนื่องจากเมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องสื่อสารกับหน่วยงานในจีน พวกเขาจะได้นำทักษะพื้นฐานที่เรียนรู้นี้มาใช้ได้

ทำไมคนถึงฮิตเรียนภาษาจีน?

        ทำไมภาษาจีนถึงกลายเป็นทักษะที่หลายคนสนใจศึกษาเรียนรู้ หากตัดปัจจัยด้านมนต์เสน่ห์อันน่าดึงดูดของวัฒนธรรมจีนออกไป ภาษาจีนยังมีจุดเด่นอะไรอีกที่ทำให้คนในอาเซียนสนใจเรียนกันมากขนาดนี้

ผู้เข้าแข่งขันชาวมาเลเซีย(ซ้าย) และ ชาวอินโดนีเซีย (ขวา) ในรายการแข่งขัน “สะพานสู่ภาษาจีน"

        หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ การมีทักษะภาษาจีนช่วยเพิ่มช่องทางทำเงิน จีนและอาเซียนมีการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจการค้าที่ใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศในอาเซียนสนใจคว้าโอกาสจากตลาดจีน ภาษาจีนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ และจากการที่ผู้ประกอบการจีนได้เข้าไปลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บุคลากรที่มีทักษะภาษาจีนจึงเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก เหมือนกับที่พ่อแม่ชาวสิงคโปร์บางส่วนเคยกล่าวไว้ว่า “การรู้ภาษาจีนช่วยให้ลูกมีจุดตั้งต้นที่ดีกว่าคนอื่น”  เพราะนั่นหมายถึงใบเบิกทางสู่เส้นทางอาชีพและโอกาสการพัฒนาที่มากกว่า

        ส่วนเมียนมานั้น จากการที่จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา ทำให้ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะภาษาจีนของภาคธุรกิจในเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ที่เมียนมา ค่าจ้างของผู้ที่มีทักษะภาษาจีนนั้นสูงกว่าผู้ที่ไม่มีทักษะภาษาจีนอย่างต่ำ 2 เท่า นอกจากนี้ ผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยในเมียนมาซึ่งสามารถสื่อสารภาษาจีนขั้นพื้นฐานได้ ยังสามารถหางานซึ่งได้รับค่าจ้างถึง 500,000 -700,000 จ๊าตต่อเดือน (ราว 9,500-13,300 หยวน)ได้”  หลี่ ป๋อปอ ประธานบริหารสมาคมมิตรภาพเมียนมา-จีน กล่าว

“สถาบันขงจื่อมหาวิทยาลัยพระตะบอง” สถาบันขงจื่อแห่งแรกในกัมพูชา ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์กุ้ยหลิน

        ขณะที่ใน สปป.ลาว ตำแหน่งงานภาษาจีนสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่ประกาศรับสมัครพนักงานตามร้านอาหารจีนเสฉวน กิจการห้างร้านของผู้ประกอบการชาวจีน โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้มะฮอกกานี ไปจนถึงไซต์งานก่อสร้างทางรถไฟสายจีน-ลาวกลางหุบเขา บุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านภาษาจีนกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

        ประการต่อมาคือ ปัจจัยด้านวัฒนธรรม ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลงานภาพยนตร์ ซีรีส์และนวนิยายจีนได้รับความนิยมอย่างมากในอาเซียน มีหลายคนหันมาตั้งใจศึกษาภาษาจีน เพราะหวังว่าจะสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น เช่น กลุ่มแปลซับซีรีส์จีนในไทยกลุ่มหนึ่งได้สร้างเพจรวบรวมคำศัพท์ภาษาจีนผ่านซีรีส์ หยิบยกคำศัพท์จากในซีรีส์มาแปลเป็นภาษาไทย พร้อมใส่พินอินกำกับ และยกตัวอย่างประโยค ด้านแฟนคลับชาวเวียดนาม เหงียน ซีชง ตัดสินใจลงเรียนคอร์สภาษาจีนออนไลน์ เพราะอยากจะเข้าใจมุกตลกใน ‘เซี่ยงเซิง’ (ละครพูดตลกแบบจีน)ได้  ซึ่งปัจจุบันเขาไม่เพียงแต่สามารถสื่อสารภาษาจีนขั้นพื้นฐานได้เท่านั้น แต่ยังออกสำเนียงม้วนลิ้น (儿化音) เอกลักษณ์แบบคนจีนทางเหนือได้ด้วย

เด็กนักเรียนชาวบรูไนเข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลวันวัฒนธรรมจีนที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน (ภาพ: Xinhua News)

        ปัจจุบัน กระแสการเรียนภาษาจีนในอาเซียนยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีบางจุดที่ต้องได้รับการแก้ไขและเสริมเพิ่มเติม เฉิน เสวียนโป ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซี่ยเหมิน ประเทศจีน  กล่าวว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนภาษาจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบปัญหาหลายด้าน เช่น อายุของบุคลากรทางการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมาก ครูผู้สอนภาษาจีนรุ่นใหม่ซึ่งมีไม่เพียงพอกับรุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียณ รวมถึงปัญหาด้านเกณฑ์การสอนที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการเรียนการสอนภาษาจีนโดยรวม และไม่เอื้อต่อการส่งเสริมภาษาจีนไปสู่ระดับสากล

        แต่หากมองไปถึงอนาคตข้างหน้า นักการศึกษาท้องถิ่นยังคงเชื่อมั่นในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

        เรายังคงเชื่อมั่นว่า ตราบใดที่การเรียนการสอนภาษาจีน ยังคงยึดมั่นในแนวทางการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เป็นมิตรควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผู้คนจะสนใจเรียนรู้ภาษาจีนและเข้าใจประเทศจีนมากขึ้น

Tags: