Culture

10 ปีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ความสำเร็จที่ผ่านมา และความท้าทายก้าวต่อไป

27

September

2022

26

August

2022

สัมภาษณ์พิเศษ เชว่ เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ

        ไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่จีนดำเนินความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวบ่อยครั้งและคึกคักที่สุด โดยปีนี้ นับเป็นปีที่ 10 แล้วที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ บนถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและรัฐบาลทั้งสองประเทศ

        เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ TAP Magazine ฉบับนี้ ได้รับเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ เชว่ เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ถึงย่างก้าวที่ผ่านมาและทิศทางการดำเนินงานในอนาคต เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ภาพรวมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน เบื้องหลังการก่อตั้ง พันธกิจและบทบาทของศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ

        ผู้อำนวยการ เชว่ เสี่ยวหัว กล่าวว่า จีนและไทยมีความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ มีความผูกพันทางวัฒนธรรมและสายเลือด มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน จนก่อเกิดเป็นมิตรภาพ “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการไปมาหาสู่ระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ภายใต้การสนับสนุนของผู้นำทั้งสองประเทศ จีนและไทยได้เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง กระชับความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ฯลฯ นำพาผลประโยชน์ที่มากขึ้นมาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศ

เชว่ เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ

        ทั้งนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เมื่อปี 2550 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยจีน รัฐบาลจีนและไทยได้ลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการร่วมกันจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม โดยพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ บนพื้นฐานของความเสมอภาค เท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกันตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศเจ้าบ้าน

        ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2555 นายกรัฐมนตรีไทยและจีนได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดป้ายศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ โดยศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ถือเป็นศูนย์วัฒนธรรมจีนแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อที่รวม 8,222 ตร.ม. พื้นที่ใช้สอยราว 7,900 ตร.ม. เป็นศูนย์วัฒนธรรมจีนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับไทยของรัฐบาลจีน และเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงมิตรภาพระหว่างไทย-จีน

        “การทูตระหว่างประเทศมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน บทบาทของศูนย์วัฒนธรรมจีนคือการเป็นสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างไทย-จีน เสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีนให้กับหน่วยงานไทยและประชาชนชาวไทย โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งมา ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ได้ช่วยให้คนไทยเข้าใจวัฒนธรรมจีนและการพัฒนาของประเทศจีนยุคปัจจุบันมากขึ้น ผ่านการแสดง งานนิทรรศการ การสอนและการฝึกอบรม การเสวนาบรรยายความรู้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการข้อมูล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวไทย นับว่าศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ มีบทบาทสำคัญด้านการสร้างเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้คนทั้งสองประเทศ” ผู้อำนวยการ เชว่ เสี่ยวหัว กล่าว

ผลการดำเนินงานที่สำคัญของศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

        ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเทศกาลภาพยนตร์จีน, งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน, ปีแห่งวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ในจีน, กิจกรรมวัฒนธรรมสู่รั้วโรงเรียน วัฒนธรรมสู่หน่วยงาน, งานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน และกิจกรรมสัมผัสวัฒนธรรมจีน ฯลฯ โดยจัดกิจกรรมมากกว่า 100กิจกรรมต่อปี หนึ่งในนั้นคือกิจกรรม “สุขสันต์วันตรุษจีน” ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ กับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ทั้งสถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้าและสื่อมวลชน โดยมีการจัดกิจกรรมหลายสิบงานต่อเนื่องตลอดช่วงเทศกาลตรุษจีน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ

        ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพระบรมวงศานุวงศ์ ภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยมาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มการก่อตั้ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ต่างเคยเสด็จฯ เข้าร่วมกิจกรรม “สุขสันต์วันตรุษจีน” งานปีวัฒนธรรมกว่างซี และงานอื่น ๆ ที่จัดโดยศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ แล้วหลายครั้ง ทางศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ เองก็เคยจัดงานการแสดงบรรเลงเครื่องดนตรีกู่เจิงของกรมพระศรีสวางควัฒนฯ และการแข่งขันกู่เจิงชิงถ้วยพระราชทานกรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทำให้วัฒนธรรมด้านดนตรีแบบดั้งเดิมของจีนเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น

        นอกจากนี้ บุคคลสำคัญทางการเมืองของไทยหลายท่าน อาทิ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา อดีตบุคคลสำคัญทางการเมือง ส.ส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ผู้นำสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลในไทย รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย ล้วนได้เข้าร่วมในกิจกรรมที่ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        หลังจากเริ่มเปิดดำเนินงานเมื่อปี 2555 ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมปีวัฒนธรรมของแต่ละมณฑลและเมืองต่าง ๆ ของจีน ตั้งแต่ปีวัฒนธรรมกว่างซี เหอหนาน ซานตง อันฮุย เหอเป่ย เทียนจิน ชิงไห่ หูหนาน หนานจิง มาจนถึงปีวัฒนธรรมเสฉวนในปี 2565 ที่ยังคงมีกิจกรรมต่าง ๆ ทยอยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับหลายหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อสารมวลชนไทย-จีน อาทิ กรมวัฒนธรรมและสำนักงานวัฒนธรรมประจำมณฑลต่าง ๆ ของจีน, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน),  สภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์, สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยประเทศจีน, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงเรียนคริสต์ธรรมวิทยา, นิตยสาร TAP (Thai-ASEAN Panorama), สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ  บริษัท โกลบอล เอ็ดดูเคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ฯลฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระยะยาวในด้านการฝึกอบรม จัดกิจกรรม การแลกเปลี่ยนข้อมูล แบ่งปันทรัพยากร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านต่าง ๆ

        ด้านการฝึกอบรมความรู้ ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ได้เปิดสอนคอร์สหลักสูตรต่าง ๆ เช่น ภาษาจีน วาดภาพจากพู่กันจีน การเขียนพู่กันจีน กู่เจิง ระบำจีน มวยไทเก๊ก การปรุงอาหารจีน การฝึกร่างกาย และศิลปะการต่อสู้ของจีน โดยช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2562 มีผู้เข้าร่วมคอร์สอบรมของทางศูนย์ฯ มากกว่า 1,000 คน ต่อมาหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่เป็นรูปแบบออนไลน์ โดยในปี 2565 จนถึงขณะนี้มีผู้เข้ารับการอบรมแล้วกว่า 198 ราย และจากความต้องการใช้ภาษาจีนที่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันทางศาสนาของไทย ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ยังได้มีโอกาสจัดอบรมคอร์สหลักสูตรภาษาจีนให้กับกระทรวงวัฒนธรรมไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.),  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมถึงพระภิกษุ สามเณรจากวัดต่าง ๆ ทางภาคกลางของประเทศไทย

21 พ.ย.55 นายกรัฐมนตรีไทยและจีนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณกรุงเทพฯ

        นอกจากนี้ ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ยังมีช่องทางเว็บไชต์ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น WeChat, Facebook, Instagram และ YouTube ซึ่งมีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้นทุกปี

เป้าหมายและทิศทางการพัฒนาในทศวรรษถัดไปของศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ

        สำหรับทิศทางในอนาคตเพื่อก้าวสู่ทศวรรษต่อไป ผู้อำนวยการ เชว่ เสี่ยวหัว กล่าวว่า ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ จะยังคงใช้ประโยชน์จากความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์ ความผูกพันทางวัฒนธรรมและสายเลือดระหว่างไทย-จีนอย่างเต็มที่ โดยนำคุณสมบัติทั้ง 4 ด้านของศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ได้แก่ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การสอนและฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการบริการข้อมูล มาใช้บอกเล่าเรื่องราวของประเทศจีน เป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศจีน และเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประชาชนชาวจีนและไทยอย่างต่อเนื่อง

        อนึ่ง ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ได้วางแผนจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้ง โดยนอกเหนือจากกิจกรรม “สุขสันต์วันตรุษจีน ปี 2565” ในรูปแบบออนไลน์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว ปีนี้ยังวางแผนจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในรูปแบบออนไลน์ เช่น “สัปดาห์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน”, กิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์, งานเทศกาลภาพยนตร์จีน และนิทรรศการครบรอบ 10 ปีศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ โดยได้ร่วมมือกับกรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมณฑลเสฉวน นำวัฒนธรรมเสฉวนเข้ามาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในไทย ทั้งการจัดบรรยายความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมโบราณซานชิงตุย และคอร์สเรียนออนไลน์สอนการทำชิ้นงานแฮนด์เมดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมณฑลเสฉวน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำวิดีโอชุดพิเศษเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ซึ่งได้ดารานักแสดงชาวไทยหลายท่านเข้ามามีส่วนร่วมในคลิปวิดีโอนี้ด้วย โดยสามารถติดตามรับชมได้ผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ

งานแถลงข่าวเปิดตัวตราสัญลักษณ์เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ10 ปี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีนฯ

        “เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ในนามของศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ ผมขอขอบคุณพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาลและทุกภาคส่วนของไทยที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ เป็นอย่างดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในอนาคต ศูนย์วัฒนธรรมจีนฯ มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและมิตรภาพระหว่างไทย-จีน

        ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกสาขาอาชีพ เข้ามาเยี่ยมชมและให้การชี้แนะที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ เพื่อให้เราได้ร่วมกันสนับสนุนความสัมพันธ์ไทย-จีนให้พัฒนาไปด้วยความแข็งแกร่งและมั่นคงอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ของมิตรภาพระหว่างสองชาติ” เชว่ เสี่ยวหัว ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ กล่าว

Tags:
No items found.