ความหมายของสีแดงในวัฒนธรรมจีน
12
January
2022
5
February
2021
ทำไมคนจีนอะไรๆก็ "สีแดง"? และซองแดง"อั่งเปา"ที่ใครๆต่างอยากได้มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร? เมื่อเร็วๆนี้ อาศรมสยาม-จีนวิทยาจัดกิจกรรมการบรรยายหัวข้อ “ความหมายของสีแดงในวัฒนธรรมจีน” โดยผศ.ก่อศักดิ์ ธรรมเจริญกิจ อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ในวัฒนธรรมจีน “สีแดง” เป็นสีสัญลักษณ์แห่งความรื่นเริงการเฉลิมฉลอง หรือเรื่องมงคลต่างๆเงินแต๊ะเอียที่แจกให้เด็กๆในเทศกาลตรุษจีนเรียกว่า “อั่งเปา” เงินขวัญถุงที่ให้ในวันเฉลิมฉลองเพราะใส่ในซองสีแดงก็เรียกว่า“อั่งเปา”
คนที่ได้รับความนิยมชมชอบเรียกว่า “ต้าจื่อต้าหง” (大紫大红) แปลว่า โด่งดังรุ่งโรจน์ คำผสมของภาษาจีนที่ประกอบด้วยคำว่า“แดง” มักแฝงด้วยความหมายเชิงบวก เช่น ธงแดง (红旗) คือ ธงประจำชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน, งานแดง (红事) หมายถึงงานมงคล (ส่วนงานศพนั้นเรียกว่า งานขาว), โชคแดง (红运) หมายถึง โชคดี, ดาวแดง (红星) หมายถึงดาราที่เป็นที่นิยมอย่างมาก, หน้าแดง (红颜) หมายถึงโฉมหน้าอันงดงามของหญิงสาว กล่าวถึงสาวสวย
เห็นได้ว่า “สีแดง” เป็นสีโปรดของชนชาติจีน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณของชาวจีนด้วยเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาอันดีงาม เช่น การเฉลิมฉลอง มีชีวิตชีวา สมดังปรารถนาและสิริมงคล เป็นต้น
ชนชาติจีนล้วนเป็นลูกหลานของจักรพรรดิเหยียนตี้ (炎帝) และหวงตี้ (黄帝) เหยียนตี้มีอีกพระนามหนึ่งว่า“ชื่อตี้” (赤帝) ถือเป็นสุริยเทพของชาวจีน ในสมัยโบราณผู้คนในแถบจงหยวนเรียกดินแดนตอนใต้ของจีนว่าฝ่ายเหยียนตี้เรียกดินแดนของเหยียนตี้ว่าดินแดนเหยียน และเรียกประชาชนของเหยียนตี้ว่าชาวเหยียนเทพภายใต้บังคับบัญชาของเหยียนตี้ คือ “จู้หรง” (祝融) ซึ่งเป็นเทพแห่งไฟ
คำว่า “หวง” (黄) ของจักรพรรดิหวงตี้ หมายถึงสีของอาทิตย์แสงแรก คำว่า “皇” ที่แปลว่าจักรพรรดิหรือกษัตริย์นั้นสามารถใช้แทนกันได้ ในหนังสือโบราณของจีน คำว่า黄帝 มักมีการเขียนเป็น皇帝 เสมอ
คำว่า 皇 ในอักษรกระดองเต่า ด้านบนคือดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างโชติช่วงด้านล่างคือคำว่า 王 (อ๋อง) หมายถึงเจ้าแผ่นดินดังนั้น ชนชาติที่สืบเชื้อสายมาจากหวงตี้ จึงเป็นชนชาติที่เลื่อมใสศรัทธาในเทพแห่งพระอาทิตย์และเทพแห่งไฟด้วย
จากตำนานของเหยียนตี้และหวงตี้ แสดงให้เห็นว่า การกำเนิดชนชาติจีนในตอนต้นมีการ“บูชาสีแดง” อย่างชัดเจน ส่วนการ “บูชาสีแดง”เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าไปอยู่ในชีวิตของบรรพบุรุษชาวจีนนั้น น่าจะเริ่มต้นจาก “วันตรุษจีน”
ตำนานเล่าว่า ในสมัยโบราณ มีสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่งเรียกว่า “เหนียน”(年) มันจะบุกเข้ามาทำร้ายผู้คนและสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านบรรพบุรุษของชาวจีนตอนกลางคืนของวันที่ 30 เดือน 12 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเหนียนจู่โจมบรรพบุรุษของชาวจีนจึงต้องหลบหนีจากหมู่บ้านไปซ่อนตัวในป่าของค่ำคืนดังกล่าวจนมีอยู่ปีหนึ่งมีชายชราเคราขาวลักษณะเหมือนผู้วิเศษท่านหนึ่งเดินเข้ามาจากปากทางเข้าหมู่บ้านและบอกทุกคนว่าไม่ต้องตื่นตระหนก เขามีวิธีปราบ “เหนียน” แต่ไม่มีใครเชื่อ
ชายชราดังกล่าวเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งนำกระดาษแดงมาติดไว้บนประตูบ้าน จุดโคมแดงไว้หน้าบ้าน เมื่อ“เหนียน”บุกเข้ามาตรงตามเวลาเหมือนทุกครั้ง แลเห็นกระดาษแดงที่ติดอยู่หน้าประตูกับโคมแดงที่ส่องสว่างภายในบ้านก็ตกใจกลัวเผ่นหนีไป
เช้าตรู่ของวันชิวอิก เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ บรรพบุรุษของชาวจีนที่ต้อง “หนีเหนียน”ก็กลับมาที่หมู่บ้านตามเดิม และนับตั้งแต่นั้นมาพวกเขาก็ไม่ต้อง “หนีเหนียน”เข้าป่าอีกต่อไปเพียงทำตามวิธีของชายชราคือติดกระดาษแดงและจุดโคมแดง ก็จะผ่านค่ำคืนแห่งการมารุกรานของ“เหนียน”อย่างปลอดภัย เรียกกันว่า “กั้วเหนียน” (过年 แปลว่ารอดพ้นจากปีศาจเหนียน) “สีแดง”จึงมีความหมายแฝงถึงการ “ขจัดสิ่งชั่วร้าย” และเป็น “สิริมงคล”
สีแดงยังเป็นตัวแทนของอำนาจ แม้ว่าจักรพรรดิจีนในอดีตจะมีความโปรดเรื่องสีที่แตกต่างกันแต่ทุกพระองค์ล้วนโปรดสีแดงเหมือนกันอาคารนับพันหลังและห้องนับหมื่นห้องในพระราชวังต้องห้ามกรุงปักกิ่งที่มีขนาด 720,000ตารางเมตรเป็นสีแดงและสีเหลืองมากที่สุด เมื่อทอดสายตามองไปยังพระราชวังต้องห้ามสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือกำแพงวังและประตูวังสีแดง เมื่อมองเข้าไปใกล้ๆสิ่งที่สะดุดตาที่สุดคือเสาขนาดใหญ่และประตูหน้าต่างสีแดง
ในยุคราชวงศ์หมิง เนื่องจากเป็นราชวงศ์แซ่จู(朱แปลว่า สีแดงสด) ทั้งด้านการเมืองและวัฒนธรรมของชาติจึงส่งเสริมให้ใช้สีแดงเป็นหลักดังนั้น วัฒนธรรมสีแดงจึงค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในทุกด้านของชาติจีนจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณของชาวจีน
ในยุคราชวงศ์หมิงได้กำหนดให้หนังสือกราบทูลฮ่องเต้ต้องเป็นสีแดง เรียกว่า “ฉบับแดง” (红本)ยุคราชวงศ์ชิงก็มีระบบที่คล้ายกัน คือหนังสือที่ผ่านพระราชวินิจฉัยโดยฮ่องเต้แล้วให้คณะรัฐมนตรีเขียนเป็นตัวหนังสือสีแดงเพื่อแจกจ่ายออกไปก็เรียกว่า “ฉบับแดง” (红本) เช่นกัน
สีแดงจึงเป็นสีเฉพาะสำหรับหนังสือที่ผ่านการพระราชวินิจฉัยโดยฮ่องเต้ผู้ทรงมีอำนาจอยู่เหนือสิ่งใดตำนานเล่าว่า ขณะที่จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงวินิจฉัยหนังสือกราบทูลที่ส่งมาจากหัวเมืองทั่วประเทศได้ทรงใช้พู่กันแต้มหมึกสีแดงชาดทำเครื่องหมายลงบนหนังสือที่ทรงวินิจฉัยแล้ว เพื่อป้องกันการปะปนกันของหนังสือที่ทรงวินิจฉัยแล้วและที่ยังไม่ได้ทรงวินิจฉัยต่อมาคุณครูจีนจึงใช้แต่เครื่องเขียนสีแดงในการตรวจแก้การบ้านไม่ใช้ปากกาสีอื่นมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงสีแดง เราก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงอั่งเปา(ซองแดง) ซึ่งเดิมที่เรียกว่า “เงินแต๊ะเอีย”เงินแต๊ะเอียที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเงินแต๊ะเอียประเภทนี้ไม่ใช่สกุลเงินที่ใช้ทางการค้าแต่เป็นเครื่องรางขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่หล่อเป็นรูปทรงเหรียญเพื่อเอาไว้พกติดตัวเหรียญบางชนิดด้านหน้าหล่อเป็นคำมงคลต่างๆ เช่น “อายุยืนนาน” “ร่มเย็นเป็นสุข”“แคล้วคลาดปลอดภัย” เป็นต้น ด้านหลังของเหรียญหล่อเป็นลวดลายต่างๆ เช่นมังกรกับหงส์ งูกับเต่า ปลาคู่ กระบี่ต่อสู้และดวงดาว เป็นต้น
สมัยราชวงศ์ถังในพระราชวังมีการแจกเงินเมื่อถึงวันเริ่มวสันตฤดู ในสมัยนั้น ถือ “วันเริ่มวสันตฤดู”(立春日) เป็นวันตรุษจีน เป็นวันที่คนในวังอวยพรแสดงความยินดีซึ่งกันและกันแล้วซองอั่งเปาก็ได้ปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ตอนนั้นทำเป็นซองทำด้วยถุงผ้าทอมือกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะในราชสำนักและทางราชการเท่านั้น ส่วนชาวบ้านจะใช้กระดาษสีแดงสดที่แสดงถึงความเป็นสิริมงคลไปห่อคำอวยพรไว้นำไปมอบให้แก่ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนใจ
หลังจากสมัยราชวงศ์ซ่ง-หยวนแล้ววันชิวอิก เดือน 1 ได้เข้ามาแทนที่วันเริ่มวสันตฤดูและเรียกว่า “วันตรุษจีน” (春节) ประเพณีหลายอย่างของวันเริ่มวสันตฤดูถูกเปลี่ยนมาเป็นของวันตรุษจีน ธรรมเนียมการแจกเงินในวันเริ่มวสันตฤดูก็ค่อยๆ กลายเป็นธรรมเนียมการให้เงินแต๊ะเอียแก่เด็กๆเงินแต๊ะเอียที่มอบให้แก่เด็กๆ จะใช้เชือกสีแดงร้อยไว้โดยส่วนใหญ่
ในสมัยราชวงศ์ชิง ผู้คนได้เปลี่ยนมาใช้กระดาษสีแดงทรงสีเหลี่ยมจัตุรัสห่อเหรียญทองแดงหรือเหรียญเงินเรียกว่า “ลี่ซื่อ” (利市) ส่วนซองอั่งเปาที่พิมพ์ด้วยกระดาษสีแดงยุคแรกเริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลายประมาณปีค.ศ.1900 ซองอั่งเปาในตอนนั้นทำอย่างเรียบง่ายคือเพียงแค่นำน้ำมันสีเหลืองพิมพ์บนกระดาษสีแดงจากนั้นก็โรยผงทองบนน้ำมันเหลืองที่ยังไม่แห้งดีมีลักษณะเหมือนซองแดงที่พิมพ์ด้วยตราประทับร้อนสีทองในปัจจุบัน บนซองมีลวดลายที่เรียบง่ายประกอบกับคำอวยพรต่างๆ
หลังจากยุคสาธารณรัฐมีการเปลี่ยนมาใช้กระดาษสีแดงห่อด้วยเงินเหรียญทองแดง 100 เหวิน มีความหมายแฝงว่า “อายุยืนร้อยปี”หลังจากที่มีการเปลี่ยนเงินตราเป็นธนบัตรแล้ว ผู้ใหญ่จะนิยมหาธนบัตรใหม่ที่มีตัวเลขเรียงกันมามอบให้บุตรหลานความหมายคือ “ร่ำรวยเรียงติดต่อกัน” “เลื่อนขั้นอย่างต่อเนื่อง”
คนทั่วไปเชื่อว่าการแบ่งปันเงินให้แก่บุตรหลานนั้นมีนัยว่าหากเกิดมีวิญญาณชั่วร้ายหรือ “เหนียน”เข้ามาทำร้ายบุตรหลานจะได้ใช้เงินเหล่านั้นติดสินบนพวกมัน ทำให้ร้ายกลายเป็นดีทั้งยังเป็นเครื่องรางที่สามารถช่วยคุ้มครองบุตรหลานด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเงินแต๊ะเอียที่แสดงถึงความรู้คุณประเภทหนึ่งคือ อั่งเปาที่คนรุ่นหลังมอบให้แก่ผู้อาวุโสเพื่อขอให้ผู้อาวุโสมีสุขพลานามัยที่ดีและอายุยืนยาว
สรุปได้ว่า การพัฒนาทางประวัติศาสาตร์ของเงินแต๊ะเอียโดยรวมคือ เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีการพัฒนาในสมัยราชวงศ์ซ่งตกผลึกเป็นรูปเป็นร่างในสมัยราชวงศ์หมิงหลังจากนั้นนับตั้งแต่ราชวงศ์ชิงจนถึงปัจจุบันยังคงรักษาไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
สำหรับการให้และการรับอั่งเปาเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนมาช้านานวัฒนธรรมอั่งเปาเกิดจากมนุษยสัมพันธ์ที่มีการไปมาหาสู่กันตามปกติของชาวจีนสะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและกลมกลืน
ความหมายทั่วไปของการให้อั่งเปาประการหนึ่ง คือเป็นการให้ความรักและเอ็นดูแก่บุตรหลาน ประการที่สอง คือการให้ตามมารยาทในพิธีแต่งงานหรือพิธีมงคลต่างๆ รวมไปถึงการรวมตัวสังสรรค์ที่แสดงถึงการอวยพรของญาติพี่น้องยังมีอีกประการหนึ่ง คือ การแสดงการขอบคุณและตอบแทนสำหรับความเหน็ดเหนื่อยของผู้คนเช่น อั่งเปาที่ให้เพื่อนเจ้าสาว นักบวชเต๋า ภิกษุและภิกษุณี คนยกเสลี่ยง คนขับรถเป็นต้น
ประเพณีให้อั่งเปาได้กลายเป็นเครื่องเชื่อมโยงระหว่างความผูกพันของผู้คนทั้งในเครือญาติและสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลดังนั้น การให้อั่งเปาอันเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวจีนนี้จึงยังมีความจำเป็นที่จะอนุรักษ์และสืบสานต่อไปและเราก็เชื่อว่าจะเป็นประเพณีที่มีการสืบสานต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นอย่างแน่นอน