Culture

มนต์เสน่ห์แห่งกลองกับวิถีชาว‘เยียนตุน’

12

January

2022

5

May

2021

ผู้เขียน : เฝิง ฮุ่ยหนิง นิตยสาร CAP

        งานฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ตำบลเยียนตุนเริ่มต้นขึ้นในเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เสียงกลองที่ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ อาจฟังดูอึกทึกครึกโครมแต่สำหรับชาวบ้านตำบลเยียนตุนแล้ว นี่คือภาพของการฉลองตรุษจีนที่บ้านเกิด!

            ปัจจุบันกลองที่สูงที่สุดในตำบลเยียนตุนมีความสูงเกือบ 3 เมตร เวลาตีต้องขึ้นเหยียบบนม้านั่งสูง 2 ชั้นถึงจะเอื้อมถึง ส่วนกลองที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร หนักกว่า 350 กิโลกรัม ต้องใช้แรงผู้ชายราว 7-8คนถึงจะยกไหว ยามที่สัญญาณลั่นกลองดังขึ้น ‘ราชันย์แห่งกลอง’ เหล่านี้ก็จะส่งเสียงดังกระหึ่มไปทั่ว

TIPS:
‘กลองเยียนตุน’ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.3-1.8 เมตรสูง 2-3 เมตร มีน้ำหนักตั้งแต่ 20-350 กิโลกรัม ไม้ที่ใช้ตีกลองนั้นทำจากไม้เนื้อแข็งผ่าซีกยาวประมาณ 5-8 ชุ่น (ราว 6.5-10.5 นิ้ว) ส่วนตัวกลองทำมาจากไม้การบูรหรือไม้หนานมู่ประกอบรวมกับหนังวัว ตอกไม้ไผ่ ตะปูไม้ไผ่ ตะปูไม้ แผ่นไม้และวัสดุอื่นๆ ราคาสั่งทำตกอยู่ที่ใบละประมาณ2,000-5,000 หยวน (ราว 9,500 -23,750 บาท)

กลองเยียนตุนกับธรรมเนียมรับตรุษจีน

        เมื่อวันที่ 23 เดือน12 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลตรุษจีนมาถึง ชายหนุ่มหลายคนช่วยกันขนย้าย ‘กลองเยียนตุน’ ขนาดสูงกว่าตัวคนจากในห้องเก็บของออกมายังลานกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำไร่นามาทั้งปีได้มารวมตัวกันจับกลุ่มรอรับชมการแสดงด้วยท่าทีตื่นเต้น ทันทีที่เสียงแรกของกลองเยียนตุนเริ่มบรรเลงขึ้นถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เสียงลั่นกลองฉลองตรุษจีนนี้จะยังคงดังต่อเนื่องในตำบลเยียนตุนไปจนกระทั่งสิ้นสุดเทศกาลหยวนเซียว...

        “เดิมทีกลองเยียนตุนมีไว้ใช้ขับไล่ทูตผีปีศาจและใช้สำหรับฝึกทหาร” เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของกลองเยียนตุนคนเฒ่าคนแก่ที่นี่มักจะเริ่มต้นเล่าจากแง่มุมด้านภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์และประเพณีท้องถิ่น

        กลองเยียนตุนถูกสืบทอดกันมาในแถบหมู่บ้านชนเผ่าจ้วงและชนเผ่าฮั่นซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเยียนตุน อำเภอหลิงซาน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมาเป็นเวลายาวนานนับพันปีแล้วเดิมทีใช้เป็นเพียงเครื่องมือขับไล่สัตว์ร้าย จนกระทั่งถึงสมัยปลายราชวงศ์หมิงที่เกิดศึกสงครามขึ้นบ่อยครั้งเพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก จึงจำเป็นต้องสร้างหอสังเกตการณ์ขึ้นบน ‘ยอดเขาเยียนตุน’ ซึ่งเป็นแนวเขากั้นระหว่างหมู่บ้านชนเผ่าหนานเยว่(Nanyue) ซีโอว (Xi’ou) และลั่วเยว่(Luoyue) บริเวณชายแดนกวางตุ้งกับกว่างซี เมื่อมีภัยคุกคามจากข้าศึกหรือเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นพวกเขาจะจุดไฟและตีกลองเป็นการส่งสารเตือนภัยระหว่างหมู่บ้าน นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ‘กลองเยียนตุน’ ต่อมาเมื่อภัยสงครามและสัตว์ดุร้ายลดน้อยลง การตีกลองเยียนตุนจึงแปรเปลี่ยนมาเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีฉลองตรุษจีนอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

ไร้เสียงกลองเยียนตุน มิใช่การฉลองตรุษจีน

        ก่อนถึงวันที่ 30เดือน 12 คืนส่งท้ายปีเก่าตามปฏิทินจันทรคติจีน ชาวบ้านในตำบลเยียนตุนจะลั่นกลองสร้างบรรยากาศครื้นเครงเป็นการอุ่นเครื่องต้อนรับเทศกาลทั้งยังเป็นเหมือนการส่งจดหมายเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านข้างเคียง ก่อนที่ ‘การแข่งขันประชันกลอง’ ซึ่งเป็นอีเว้นท์หลักประจำปีจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 30 เดือน 12 และไปสิ้นสุดในวันขึ้น15 ค่ำเดือนอ้าย หรือ คืนเทศกาลหยวนเซียว

        ช่วงตรุษจีนชาวบ้านมักอยู่ว่างไม่มีอะไรทำจึงมารวมตัวกันจัดการแข่งขันประชันกลองระหว่างหมู่บ้านขึ้น พอฟ้าเริ่มมืด หนุ่มๆก็เริ่มย้ายกลองมาไว้กลางลานและเริ่มลั่นกลองเป็นการส่งสาสน์ “ท้าดวล” ไปยังหมู่บ้านข้างเคียงอีกหมู่บ้านหนึ่งเมื่อได้ยินก็จะลั่นกลองกลับเป็นการ “รับคำท้า” หมู่บ้านที่เหลือก็ทยอยเข้าร่วมการแข่งขันตามกันมา

        ดึกแล้ว แต่เสียงกลองยังคงไม่แผ่วลงมือกลองที่เหนื่อยล้าคอยผลัดเปลี่ยนกันไปพักผ่อน ด้านเจ้าภาพจัดเตรียมโต๊ะจีนไว้รองรับแขกจำนวนโต๊ะน้อยที่สุดหลักสิบ มากสุดหลักร้อยตามจำนวนแขกที่มาร่วมงานบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง หลังจากฟ้าสว่าง ศึกแห่งการประชันกลองก็สิ้นสุดลงทั้งผู้แข่งขันและผู้ชมต่างจับมือพูดคุยอย่างเป็นกันเอง นำบ๊ะจ่าง ขนมข้าวเนื้อแดดเดียว และเหล้าจากที่บ้านมาร่วมดื่มฉลองด้วยกัน

สืบทอดตำนานผ่านเสียงกลอง

        ปัจจุบันตำบลเยียนตุนมีกลองอยู่มากกว่า300 ใบ ในจำนวนนั้นมี 4 ใบเป็นกลองโบราณ หนึ่งในนั้นสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง รัชศกกวงสวี่ปีที่6 (ค.ศ.1890) ส่วนอีกสามใบสร้างขึ้นในปีที่จักรพรรดิปูยีขึ้นครองราชย์ หรือปีเริ่มต้นรัชสมัยเซวียนถ่ง (ค.ศ.1909) แบ่งเก็บรักษาไว้ใน 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านสือตุยลิ่วเฟิ่งและฉางลู่ โดยกลองโบราณทั้ง 4 ใบนี้ล้วนแต่ทำมาจากไม้การบูรหรือไม้หนานมู่ที่มีอายุเกินร้อยปีทั้งสิ้น

          หวง ผิงซิว ชายผู้เริ่มฝึกฝนตีกลองตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ และเริ่มเรียนทำกลองตอนอายุ10 ขวบ ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา มีกลองเยียนตุนที่ทำขึ้นจากฝีมือของเขามากกว่า2,000 ใบ โดยหวงเป็นทั้งผู้สืบทอดวิชากลองเยียนตุน และผู้ฟื้นคืนชีพให้กับกลองโบราณ

        ‘กลองโบราณสมัยรัชศกกวงสวี่’ เป็นกลองโบราณที่หวงค้นพบโดยบังเอิญ สภาพตอนค้นพบนั้น หนังหน้ากลองเสียหายตัวกลองผุกร่อนเกินกว่าจะใช้งานได้ แต่เมื่อเขาลองเปลี่ยนหนังหน้ากลองใหม่และลองตีดูก็พบกว่าเสียงที่ได้นั้นแจ่มชัดมาก คุณภาพเสียงดีกว่าจนเรียกได้ว่ากลองปัจจุบันนั้นเทียบไม่ติดแม้แต่กลองสมัยยุคสาธารณรัฐก็ยังไม่ดีเท่า การค้นพบนี้จึงทำให้ได้รู้ว่าเทคนิคการทำกลองเยียนตุนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีบางส่วนตกหล่นสูญหายไป

        เพื่อที่จะรื้อฟื้นเทคนิคการทำกลองเยียนตุนและก้าวข้ามเทคนิคของบรรพบุรุษหวงได้ลงมือศึกษากลองโบราณอย่างละเอียด เพื่อหาจุดแตกต่าง และทดลองปรับแก้อยู่หลายรอบจนในที่สุดก็สามารถสร้างกลองซึ่งให้เสียงเหมือน ‘กลองโบราณ’ จนแยกไม่ออกได้สำเร็จเมื่อหวงนำกลองฝีมือตัวเองมาบรรเลงข้างกับกลองสมัยกวงสวี่ เสียงที่ได้จากกลองใหม่นั้นนับว่าไม่ได้ด้อยกว่า ‘กลองโบราณ’ เลยแม้แต่น้อย

TIPS:
‘กลองเยียนตุน’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของเมืองชินโจว เมื่อวันที่24 มีนาคม 2551 ก่อนจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในวันที่3 กันยายนปีเดียวกัน ปัจจุบันนอกเหนือจากการตีกลองเยียนตุนเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนแล้วในอำเภอหลิงซานยังมีการนำกลองเยียนตุนมาใช้ในกิจกรรมทางวัฒนธรรมและงานเฉลิมฉลองอื่นๆด้วย
Tags: