Culture

เหล่าฝูงกวางตัวน้อยเต้นระบำที่ ‘ซ่างซือ’

9

December

2022

9

December

2022

ผู้เขียน: ถัง ฉี นิตยสาร China-ASEAN Panorama

        ทุกปีเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน หยวนเซียว ซานเยว่ซาน หรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ที่อำเภอซ่างซือ เมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จะมีโชว์การแสดงที่เรียกว่า “เต้นกวาง” หรือ “อู่ลู่”  (舞鹿) ออกแสดงทั่วไปตามท้องถนน ช่วยสร้างบรรยากาศครื้นเครงให้กับงานเทศกาล และทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นสัมผัสได้ถึงความร่าเริงมีชีวิตชีวา

เต้นกวาง เสริมความเป็นสิริมงคล

        หลี่ หลิวปิน ผู้สืบทอดศิลปะการแสดงเต้นกวางในอำเภอซ่างซือเล่าว่า คนท้องถิ่นที่นี่มีความผูกพันกับกวางมาตั้งแต่สมัยโบราณ กล่าวกันว่าในสมัยราชวงศ์ชิง มีบุตรหลานของครอบครัวหนึ่งในอำเภอซ่างซือป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส ขณะนั้นคนที่บ้านไม่สามารถหายามารักษาได้ อาการป่วยของเด็กจึงเรื้อรังรักษาไม่หาย เพื่อที่จะหาหนทางรักษา คนที่บ้านได้ขึ้นไปหาสมุนไพรบนภูเขา แล้วบังเอิญพบกับผู้เฒ่าท่านหนึ่งซึ่งรู้วิธีรักษาโรคอีสุกอีใส เขาแนะนำตำรับยาที่ทำมาจากมูลกวางและเขากวาง เมื่อนำไปชงเป็นชาให้เด็กดื่มก็จะสามารถช่วยรักษาโรคอีสุกอีใสได้

กวางที่สมบูรณ์ประกอบด้วยส่วนหัวและเขากวาง โดยแต่ละตัวจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป

        หลังจากทำตามที่ผู้เฒ่าบอก อาการของอีสุกอีใสก็หายเป็นปลิดทิ้ง คนในครอบครัวนี้จึงนำตำรับยาดังกล่าวไปบอกต่อกับคนในหมู่บ้านเดียวกัน ทำให้เด็ก ๆ มากมายหายจากโรคอีสุกอีใส นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของกวาง ในทุกช่วงตรุษจีนหรืองานเทศกาลต่าง ๆ ชาวบ้านจะร่วมกันประดิษฐ์กวางที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหัวสิงโตที่ใช้ในการแสดงเชิดสิงโต แล้วให้บรรดาลูก ๆ หลาน ๆ เต้นเลียนแบบท่าทางของกวาง ถือเป็นการขอให้ลูกหลานจะสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดภัย ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ฉลาดเฉลียว ประสบแต่ความสุขความเจริญในชีวิต และประเพณีการเต้นกวางก็สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นนับตั้งแต่นั้นมา

ทุกหมู่บ้านในอำเภอซ่างซือล้วนแต่มีทีมเต้นกวางประจำหมู่บ้าน

        การแสดงเต้นกวางเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านในอำเภอซ่างซือ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ๆ ดังนั้นในทุกงานเทศกาลสำคัญจะมีการแสดงเต้นกวางด้วยเสมอ ระหว่างทำการแสดงพวกผู้ใหญ่จะนำเศษเหรียญมามอบเป็นอั่งเปาให้กับเด็ก ๆ หรือโยนลงกับพื้น หรือวางไว้ข้างตัวกวาง เพื่อให้กวางน้อยคาบไป

โรงเรียนหลายแห่งในซ่างซือเปิดสอนวิชาเต้นกวาง

        ศิลปะการเต้นกวางของอำเภอซ่างซือสืบทอดกันมานับร้อยปี จากเดิมที่ทำเพื่อระลึกบุญคุณของกวาง ก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นการแสดงเพื่อความเป็นสิริมงคลที่ขาดไม่ได้ในทุกเทศกาลของชาวจ้วงในท้องถิ่น กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงจิตวิญญาณ ศิลปวัฒนธรรมของชาวจ้วง รวมถึงเป็นหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะการเต้นรำพื้นบ้านของจีน

เด็กๆ กำลังฝึกซ้อมการแสดงเพื่อนำไปโชว์ในงานเทศกาล

เบื้องหลังกว่าจะได้กวางสักหนึ่งตัว

        หลี่ หลิวปิน มีสตูดิโอศิลปะการเต้นกวางที่หมู่บ้านน่าวาย อำเภอซ่างซือ ในสตูดิโอเล็ก ๆ แห่งนี้เต็มไปด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเต้นกวาง เช่น กลอง ฆ้อง ฉาบ และหัวกวางที่หลี่หลิวปินกับนักเรียนทำขึ้นเอง

        ศิลปะการเต้นกวางเป็นการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลของเด็ก ๆ กลุ่มชาติพันธุ์จ้วงในอำเภอซ่างซือ เมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชุดที่ 4 ของกว่างซี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555

        ชาวบ้านเล่าว่า ทุกครั้งที่มีคนแวะมาเยี่ยมชมสตูดิโอ หลี่หลิวปินจะดีใจมากจนถึงกับยิ้มไม่หุบตลอดทั้งวัน ปกติเขาเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่หากเป็นเรื่องของการเต้นกวาง เขาสามารถพูดเป็นน้ำไหลไฟดับ ราวกับว่าการเต้นกวางเป็นกุญแจที่ช่วยเปิดประตูสู่โลกของการสนทนา

เด็กๆ เลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหวของกวาง

        หลี่ หลิวปิน เล่าขั้นตอนการทำตัวกวางและเทคนิคการแสดงเต้นกวางให้เราฟังอย่างฉะฉาน “ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์อุปกรณ์หรือทำการแสดง จะต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอน” อันดับแรก กวางที่สมบูรณ์จะประกอบด้วยส่วนหัวและลำตัว โดยหัวกวางทำมาจากตอกไม้ไผ่ (ไม้ไผ่ที่ถูกผ่าเป็นเส้นบางๆ) หรือกระดาษแข็ง ส่วนลำตัวทำมาจากผ้าฝ้ายสีขาว หลังจากสานเค้าโครงส่วนหัวเสร็จ ก็จะใช้กาวแป้งเปียกค่อย ๆ แปะกระดาษคลุมหัวกวางไปทีละแผ่น จนได้ความหนา 7 ชั้น โดยแต่ละชั้นต้องติดให้เนียนเรียบเท่ากัน จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วหากิ่งเซียนท้อมาตัดแต่งเป็นเขาเสียบไว้บนหัวกวาง เท่านี้ส่วนหัวก็เป็นอันเสร็จ

สตูอิโอของหลี่ หลิวปิน เต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงเต้นกวาง

        หลังจากทำส่วนหัวและลำตัวเสร็จ ขั้นตอนต่อมาคือการลงลวดลายและสีสัน โดยลวดลายที่พบเห็นได้บ่อยคือลวดลายกุ้ง ส่วนสีที่ใช้จะมีตั้งแต่สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีขาว เป็นต้น แต่เนื่องจากกวางแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการลงลวดลายและสีสันจึงแตกต่างกันไปตามกวางแต่ละตัว รวมถึงขั้นตอนการวาดที่ทดสอบทั้งความอดทนและจินตนาการของช่างฝีมือ

สืบสานอนุรักษ์ศิลปะการเต้นกวาง

        หลี่ หลิวปิน คลุกคลีกับการเต้นกวางมาตั้งแต่ยังเด็ก ตระกูลหลี่สืบทอดศิลปะการเต้นกวางมาแล้ว 3 รุ่น ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณพ่อ จนมาถึงรุ่นของเขา ด้วยใจรักในศิลปะการเต้นกวางที่มั่นคงหนักแน่นของครอบครัวนี้ ทำให้มรดกพื้นบ้านโบราณดังกล่าวยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

การแสดงเต้นกวางตามท้องถนน ช่วยสร้างบรรยากาศครื้นเครงให้กับเทศกาล

        ทว่าด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมค่อย ๆ เลือนหาย ทุกวันนี้ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะออกมาเต้นกวางในช่วงเทศกาล เพื่อรักษาศิลปะพื้นบ้านอย่างการเต้นกวางนี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป ในปี 2550 หลี่ หลิวปิน ตัดสินใจรวมกลุ่มเด็ก ๆ ตั้งเป็นทีมเต้นกวางประจำหมู่บ้าน และทุ่มเทให้กับการปรับปรุงพัฒนาท่าเต้นกวาง

        ถึงแม้ว่าเขาจะเข้มงวดกับการฝึก แต่พวกเด็ก ๆ กลับชื่นชอบเขามาก  เด็ก ๆ ในทีมเต้นกวางต่างยิ้มพร้อมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พวกเราไม่กลัวอาจารย์หลี่เลย เขาใจดีกับพวกเรามาก อาจารย์หลี่เป็นทั้งอาจารย์และคนในครอบครัวของเรา การเรียนเต้นกวางกับเขาเป็นอะไรที่สนุกมาก”

กวางแต่ละตัวจะมีลวดลายบนลำตัวที่แตกต่างกัน

        หลี่ หลิวปินที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ยิ้มออกมาเมื่อได้ฟังคำตอบของเด็ก ๆ หลังจากที่พวกเด็ก ๆ กลับออกไปแล้ว เขาเดินไปเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าที่เดิม แล้วลูบหัวกวางเบา ๆ พร้อมกับพูดน้ำเสียงติดตลกว่า “ถึงแม้ผมจะอายุมากแล้ว แต่ถ้าพวกคุณอยากชม ผมแสดงให้ดูได้นะ”

Tags:
No items found.