China-ASEAN Panorama

การประชุม CAIDIF ครั้งที่ 4 มุ่งมั่นทำให้การออกแบบเป็น ‘ภาษาสากล’ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านนวัตกรรมจีน-อาเซียน

24

September

2024

12

December

2021

ผู้เขียน: กวน ชิวอวิ้น นิตยสาร CAP

        การประชุม China-ASEAN Industrial Design & Innovation International Forum (CAIDIF) ครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ณ เมืองหลิ่วโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน โดยมีศูนย์อาเซียน-จีน (ASEAN-China Center) และรัฐบาลเมืองหลิ่วโจวเป็นเจ้าภาพ และมีคณะกรรมการจัดการเขตนิเวศวิทยาใหม่ทางตอนเหนือของเมืองหลิ่วโจว และบริษัท Guangxi CA Panorama Group เป็นหน่วยงานผู้จัดงาน

        ผู้บริหารภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและกูรูด้านการออกแบบจากประเทศจีนและอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ผ่านทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยยึดมั่นในแนวคิด “นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ” และมุ่งเน้นไปที่การทำให้การออกแบบเชิงอุตสาหกรรมเป็นภาษาสากลที่เชื่อมความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างจีน-อาเซียน

พิธีเปิดป้ายศูนย์หุ้นส่วนนวัตกรรมการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน (หลิ่วโจว)

ก้าวต่อไปของความร่วมมือด้านการออกแบบอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน

        ปัจจุบัน อาเซียนกำลังเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ขณะที่จีนกำลังผลักดันแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ความร่วมมือด้านนวัตกรรมกลายเป็นปณิธานร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียน โดยมีการออกแบบอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญบนเส้นทางการพัฒนาของทั้งสองฝ่าย

        เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24 ว่า จีนยินดีที่จะขยายความร่วมมือด้านการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมร่วมกับอาเซียน เพิ่มมูลค่าของสินค้าภาคอุตสาหกรรมด้วยการออกแบบและนวัตกรรม การออกแบบเชิงอุตสาหกรรมจะกลายเป็นประเด็นไฮไลท์ใหม่ทางความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างจีนและอาเซียน

พิธีมอบรางวัลการประกวดแข่งขันงานออกแบบอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน ชิงถ้วยรางวัล ‘Golden Bauhinia Cup’ ครั้งที่ 2

        ภายใต้บริบทดังกล่าว การประชุม CAIDIF ครั้งที่ 4 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วย “ส่งเสริมการร่วมสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาคจีน-อาเซียน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านนวัตกรรมและการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมระหว่างจีน-อาเซียน ส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของการพัฒนาร่วมกันระหว่างการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมกับสาขาต่างๆ สร้างเวทีความร่วมมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และมองไปถึงโอกาสทางความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการออกแบบร่วมกันในอนาคต

        “พวกเราจะใช้เวทีการประชุมและพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ เป็นโอกาสในการนำการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมมาเป็นหลักสำคัญของการยกระดับอุตสาหกรรม เดินหน้าขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ มุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมของเมืองหลิ่วโจวผ่านการลงมือปฏิบัติจริง” จาง จ้วง รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองหลิ่วโจว และนายกเทศมนตรีเมืองหลิ่วโจว กล่าว

แขกผู้มีเกียรติร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “การออกแบบเชิงอุตสาหกรรมช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมจีน-อาเซียน”

        ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีการประชุมนี้อย่างต่อเนื่อง และได้รับโอกาสทางความร่วมมือมากมายจากเวที CAIDIF ซานดิอากา อูโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย กล่าวผ่านทางวิดีโอว่า แม้อินโดนีเซียจะมีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ หากอยากจะเร่งการพัฒนาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการพึ่งพากำลังของตนเองแล้ว การแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศและเชื่อมโยงการพัฒนาด้านนวัตกรรมก็มีส่วนสำคัญ อินโดนีเซียพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือในเชิงลึกกับจีน เพื่อร่วมกันยกระดับการพัฒนายุทธศาสตร์ “อุตสาหกรรมอินโดนีเซีย 4.0”

        ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวผ่านทางวิดีโอว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา การประชุม CAIDIF ได้พัฒนาจนกลายเป็นเวทีต้นแบบของความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านการออกแบบอุตสาหกรรมระหว่างจีนและอาเซียน ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการปรึกษาหารือเชิงลึกและร่วมมือกับจีน เพื่อหาวิธีบรรลุการพัฒนานวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรมและแสวงหาโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 โดยคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

จาง จ้วง รองเลขาธิการพรรคฯและนายกเทศมนตรีเมืองหลิ่วโจว กล่าวในงาน CAIDIF ครั้งที่ 4

เดินหน้าเขียนบทใหม่ของความร่วมมือไปพร้อมกัน

        การออกแบบเชิงอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่ต้องมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์เท่านั้น แต่ยังต้องมองถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตด้วย อะไรคือหนทางที่จะบรรลุผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้โดยยังคงเสถียรภาพของความต้องการในตลาดการออกแบบอุตสาหกรรมจีน-อาเซียนในปัจจุบันไว้ได้

        เถียน กวงเหล่ย รองผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการลงทุนศูนย์อาเซียน-จีน กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมคือปณิธานร่วมกันของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากแรงสนันสนุนของแผน Made in China 2025 และอาเซียน 4.0 ผู้ประกอบการด้านการออกแบบของจีนและอาเซียนต่างเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการรวมกลุ่มภายในอุตสาหกรรม และผลิตผลงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนมีคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

Sulaiman Arshad ผู้อำนวยการสภาออกแบบ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซียกล่าวผ่านทางวิดีโอ

        ในช่วงของการสนทนาร่วมกัน บรรดาดีไซเนอร์ชื่อดังจากจีนและอาเซียนได้พูดคุยถึงสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางการพัฒนาที่น่าสนใจของการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม การผลิตอัจฉริยะ และการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม ขณะที่เวทีเสวนาได้พูดคุยถึงประเด็นเรื่อง “การออกแบบเชิงอุตสาหกรรมช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมจีน-อาเซียน”

ผลลัพธ์ความสำเร็จนำไปสู่โอกาสที่มากขึ้น

        นอกเหนือจากการร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดป้ายศูนย์หุ้นส่วนนวัตกรรมการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน (หลิ่วโจว) และการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมระหว่างรัฐบาลเมืองหลิ่วโจวกับ Shenzhen Artop Design Group แล้ว การประชุมครั้งนี้ยังได้จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดแข่งขันงานออกแบบอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน ชิงถ้วยรางวัล ‘Golden Bauhinia Cup’ ครั้งที่ 2 ซึ่งมีผู้มีความสามารถด้านการออกแบบจากจีนและอาเซียนส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนมาก โดยแต่ละผลงานต่างมีความหลากหลายและน่าสนใจ

หลัว เฉิง ผู้ก่อตั้งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Artop Design Group กล่าวในเซสชั่นการสนทนาของดีไซเนอร์

        ในการแข่งขันครั้งนี้กลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะเป็นประเภทผลงานที่มีผู้ส่งเข้าร่วมประกวดมากที่สุด โดยผลงานที่คว้ารางวัลที่ 1 ในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องขุดเจาะถ่านหินประสิทธิภาพสูง ซึ่งออกแบบโดยบริษัท SHENYANG INNOVATION & DESIGN SERVICE Co.,Ltd. ขณะที่ผลงาน PLANTING KITS (กระถางต้นไม้แบบแขวนรูปทรงหน้ากากงิ้วจีน) ของ Suphaporn Kunta นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้ารางวัลที่ 1 ในสาขาคอนเซปต์การออกแบบ

        การประชุม CAIDIF ถือเป็นหนึ่งในเวทีที่สำคัญด้านความร่วมมือการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน เป็นเวทีที่ส่งเสริมการบูรณาการด้านการออกแบบ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียนในเชิงลึกและมอบผลประโยชน์ร่วมกันให้กับทุกฝ่าย และจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้เกิดพัฒนาอุตสาหกรรมคุณภาพสูง เชื่อว่าในอนาคต จีนและอาเซียนจะประสานความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น ผ่านการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นภาษาสากลที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกัน

บรรยากาศภายในงานการประชุมCAIDIF ครั้งที่ 4
Tags:
No items found.