Culture

‘ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 17’ ฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุ ปลุกพลังขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม

14

July

2022

3

June

2022

ผู้เขียน: จง ซวงเสีย นิตยสาร CAP

        วันที่ 2 มิ.ย. 2565 การประชุมฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 17 จัดขึ้น ณ เมืองเป๋ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วย “การฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์” (Museum Cultural Relics Activation and Cultural and Creative Industry Development) โดยมีแขกผู้เกียรติจากจีนและอาเซียนเข้าร่วมงานผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ ร่วมกันเสนอแนะแนวทางความร่วมมือด้านการคุ้มครองโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน

จีน-อาเซียนร่วมกันคุ้มครองและฟื้นคืนชีวิตให้กับมรดกทางวัฒนธรรม

        ปัจจุบันแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังคงไม่สิ้นสุด แต่การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียนไม่เคยหยุดชะงัก อาเซียนแต่ละประเทศต่างมีวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่เก็บรักษาไว้มากมาย ทั้งสองฝ่ายต่างมีเจตนารมณ์ที่จะฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน

จาง ซวี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน

        จาง ซวี่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน กล่าวว่า “จีนยินดีที่จะร่วมมือกับอาเซียน เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงนิทรรศการ การแปลงวัตถุทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล การคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ”

        ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวผ่านวิดีโอว่า การฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุ จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีนวัตกรรม ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือและให้การสนับสนุนจีนในด้านการฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุและการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยนำเอาเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) เข้ามาใช้ในพิพิธภัณฑ์ ผลักดันให้ “วัฒนธรรม” กลายเป็นสื่อกลางที่ช่วยประสานการพัฒนาในภูมิภาคจีน-อาเซียนเข้าด้วยกันอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน

        “จีนและอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียสามารถแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ผ่านอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน หวังว่าในการประชุมครั้งนี้ เราจะสามารถร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ ส่งเสริมความคิดริเริ่มใหม่ ๆ และทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมค่านิยมทางวัฒนธรรมที่สามารถนำไปสร้างความเจริญรุ่งเรือง สันติภาพ การเปิดกว้างยอมรับในความแตกต่าง และมนุษยธรรมร่วมกันได้” Muhadjir Effendy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานเพื่อการพัฒนามนุษย์และวัฒนธรรมของอินโดนีเซียกล่าวผ่านทางวิดีโอ

ดร.วิษณุเครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

        เพรือง ซะโกะนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชา กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ และสำรวจความเป็นไปได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ยกระดับความเข้าใจของผู้คนต่อมรดกทางวัฒนธรรม อาเซียนโดยเฉพาะกัมพูชาจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากพันธมิตรอย่างจีน เพื่อกระชับความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์ อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติร่วมกัน

        Nancy Shukri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมของมาเลเซีย กล่าวว่า เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อกัน  มาเลเซียพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับจีนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดแสดงนิทรรศการ โครงการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ

        เฉิน เต๋อไห่ เลขาธิการศูนย์อาเซียน-จีน กล่าวว่า หวังว่าจีนและอาเซียนจะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบาย แบ่งปันประสบการณ์ ปรับปรุงกลไกความร่วมมือ ผลักดันการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับมรดกทางวัฒนธรรม การอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์ และวิถีดั้งเดิมกับนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ เร่งปรับตัวให้เท่าทันยุคดิจิทัล และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างสองฝ่าย ทำให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายรู้จัก เข้าใจ และใกล้ชิดกันมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันสำรวจแนวโน้มใหม่ของการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์

        จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้พิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศรวมถึงจีนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดนิทรรศการออนไลน์มากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องไม่หยุดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้คนยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

        ภายในงานผู้เชี่ยวชาญจากจีนและอาเซียนได้ร่วมพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ เช่น “การฟื้นคืนชีวิตให้กับโบราณวัตถุผ่านเทคโนโลยีนวัตกรรม” และ “เอกลักษณ์ดั้งเดิมของสินค้าทางวัฒนธรรมกับมุมมองความงามสมัยใหม่”

        หวัง เยว่กง รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง ได้แบ่งปันประสบการณ์การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในพิพิธภัณฑ์ การขยายความร่วมมือข้ามสาขาและต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านการจัดแสดงและศึกษาวิจัยสินค้าทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ หนังสือตำราและผลิตภัณฑ์รูปแบบดิจิทัล โดยได้ยกกรณีตัวอย่างการทำให้ภาพเขียนพู่กันจีนเลื่องชื่ออย่าง “千里江山图” (เชียนหลี่เจียงซานถู)  หรือ ภาพพันลี้แห่งแม่น้ำและขุนเขา กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

        นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก แต่ด้วยความร่วมมือของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ  ทำให้โบราณวัตถุกลับมีชีวิตขึ้นอีกครั้งในรูปแบบดิจิทัล กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้วิถี New Normal เชื่อว่าด้วยความพยายามร่วมกันของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์จะกลายเป็นหน่วยงานด้านวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม วิถีแนวใหม่หรือวิถีที่จะตามมาในอนาคต

‘ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน’ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน-อาเซียนคุณภาพสูง

        ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามาแทรกซึมอยู่ในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์อย่างรวดเร็ว พิพิธภัณฑ์ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า และ 5G พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกต่างสร้างสรรค์ประสบการณ์ดิจิทัลทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร ส่งเสริมการสำรวจ เผยแพร่และใช้ประโยชน์จากโบราณวัตถุทางวัฒนธรรม ทำให้โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมกลับมา "มีชีวิต" ขึ้นอีกครั้ง

        ‘ฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน’ เป็นฟอรั่มการประชุมระดับสูง ภายใต้งานมหกรรม China-ASEAN Expo จัดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน เสริมสร้างความเข้าใจและมิตรภาพซึ่งกันและกัน

Tags: