
‘เทียนเติ่ง’ มนต์เสน่ห์ในห้วงฤดูใบไม้ร่วง

26
December
2022

26
December
2022
ผู้เขียน: ถัง อี้ นิตยสาร China-ASEAN Panorama
อำเภอเทียนเติ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องพริกชี้ฟ้าสีแดงสดที่มีรสชาติแสนเผ็ดร้อนอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อก่อนเคยนึกว่า อำเภอเทียนเติ่งคงมีดีแค่พริกชี้ฟ้า แต่กลับลืมนึกไปว่า หากไร้ซึ่งผืนดินและสายน้ำที่อุดมสมบูรณ์ คงไม่อาจให้ผลผลิตพริกคุณภาพดีเช่นนี้ได้

แค่คุณลองเข้ามาสัมผัสก็จะรับรู้ได้ถึงมนต์เสน่ห์ของเทียนเติ่ง ฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงที่เหมาะแก่การมาเยือนที่นี่มากที่สุด สีสันของฤดูใบไม้ร่วงแต่งแต้มอำเภอเทียนเติ่งให้งดงามราวกับบทกวี ควรค่าแก่การมาแวะพักผ่อน ค่อยๆ ดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบชนบท
สีสันของฤดูใบไม้ร่วงในหมู่บ้านโบราณลี่ชวน
ที่ชายขอบของอำเภอเทียนเติ่ง มียอดเขาฉีจวิ้น (奇骏山峰) ความสูง 63 เมตรที่ปกคลุมไปด้วยพรรณไม้เขียวขจี เนื่องจากเป็นยอดเขาที่ตั้งตระหง่านโดดเดี่ยว จึงถูกเรียกว่า “ยอดเขาตู๋ซิ่วเฟิง” (独秀峰) แปลว่า ภูเขาที่โดดเด่นเป็นสง่า เมื่อมองออกไปจากยอดเขาตู๋ซิ่วเฟิง จะมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของภูเขาเขียวขจีและแม่น้ำใสบริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่สมัยโบราณพื้นที่บริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า “ลี่ชวน” (丽川) ซึ่งแปลว่าลำน้ำอันงดงาม แม่น้ำของที่นี่งดงามราวกับแถบผ้าไหมสีเขียวมรกตที่ห้อมล้อมรอบภูเขา แล้วค่อยๆ ไหลลงมาสู่หมู่บ้านโบราณลี่ชวนซึ่งตั้งอยู่เบื้องล่าง จนมีผู้เคยกล่าวชื่นชมความงามของที่นี่ไว้ว่า “ภูผาเขียวขจีตั้งตระหง่านราวกับปิ่นหยก ลำน้ำงดงามราวกับผ้าแพรไหมล้อมรอบ”

เหนือแม่น้ำลี่ชวน มีสะพานหินโบราณพาดผ่านจากฟากตะวันออกไปตะวันตก จากบนสะพานจะมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของลี่ชวนได้โดยรอบ ตั้งแต่หมู่บ้านโบราณลี่ชวน ยอดเขาตู๋ซิ่วเฟิง รวมไปถึงชุมชนรอบข้าง ฝั่งหนึ่งของสะพานจะมองเห็นอาคารบ้านเรือนของผู้คนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย มีความโบราณเรียบง่าย ขณะที่อีกฝั่งจะเห็นทิวทัศน์อันงดงามของยอดเขาตู๋ซิ่วเฟิง ราวกับฉากที่หลุดออกมาจากภาพวาดพู่กันสุดคลาสสิก

เดินไปตามทางบนสะพาน หินทุกก้อนดูราวกับยังแฝงไว้ซึ่งเรื่องราวครั้งอดีต เมื่อแหงนหน้ามองรอบข้าง ภาพหมู่บ้านโบราณท่ามกลางหุบเขา ทำให้ห้วงเวลารอบข้างเหมือนกับว่าเดินช้าลง ค่อยๆ ซึมซับตะกอนทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ของสะพานโบราณที่สั่งสมมานานจนกลายเป็นเสน่ห์ที่ยากลืมเลือน ช่างเป็นบรรยากาศอันเงียบสงบราวกับหลุดเข้าไปในห้วงอดีต

เมื่อก้าวเข้าไปในหมู่บ้าน กลิ่นน้ำมันปรุงอาหารก็โชยมาปะทะจมูก แม้จะดูไม่ค่อยเข้ากันกับทัศนียภาพภูเขาแม่น้ำสุดอลังการเมื่อครู่ แต่ก็ถือเป็นความแตกต่างที่เข้ากันได้อย่างลงตัว หลังจากเดินตามกลิ่นนี้ไป เราก็พบกับหญิงคนหนึ่งกำลังเกลี่ยแผ่นแป้งบนกระทะด้วยช้อนแบนยาว ใส่กุยช่ายหรือผักดองเป็นไส้ แล้วปิดทับด้านบนด้วยแป้งอีกชั้น ก่อนลงนำไปทอด เพียงเท่านี้ก็ได้ขนม “จี๋เหลา” (集劳 คำเรียกรวมๆ ที่ชาวจ้วงใช้เรียกขนมแป้งทอด) สีเหลืองกรอบน่ากิน

ทุ่งนาสีทองอร่ามในสารทฤดู
เริ่มต้นเพาะปลูกในฤดูใบไม้ผลิ ลงมือเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูใบไม้ร่วง...หลังจากซึมซับหยาดฝนและน้ำค้างในฤดูใบไม้ผลิ เพลิดเพลินกับแสงแดดอันอบอุ่นในฤดูร้อน ในที่สุดเมื่อฤดูใบไม้ร่วงมาเยือน ทุ่งนาข้าวสีทองอร่ามก็พร้อมให้เก็บเกี่ยว สีเหลืองทองของนาข้าวเพิ่มสีสันของฤดูใบไม้ร่วงให้กับอำเภอเทียนเติ่ง สายลมเย็น ๆ พัดโชยมา พร้อมกับกลิ่นหอมจางๆ ของข้าวที่ลอยมาตามสายลม
แม้จะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง แต่ที่ “ผืนนาตูคัง” (都康田园) ภูเขายังคงเขียวขจี ขณะที่ท้องทุ่งนาเต็มไปด้วยสีสัน แสงอาทิตย์สีเหลืองทองสาดส่องลงบนนาข้าว ภายใต้แสงแดดอันอบอุ่น ผืนนากว้างใหญ่ถูกย้อมไปด้วยสีสันของฤดูใบไม้ร่วง พร้อมให้ผู้มาเยือนอาบแสงแดดอันอบอุ่น สูดกลิ่นหอมของทุ่งท้องนา ดื่มด่ำกับเรื่องราวของฤดูกาลเก็บเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ ยังสามารถพบเห็นท่อรางส่งน้ำโบราณได้ตามท้องนา เมื่อมองลอดช่องวงกลมแต่ละช่องไป จะมองเห็นภาพทิวทัศน์ภูเขาสายน้ำเบื้องหลังราวกับภาพวาด โดยท่อส่งน้ำนี้จะทำหน้าที่ชักน้ำจากสันเขื่อนเข้ามาในท้องนา ทุ่งนาข้าวสีเหลืองทองอร่าม เมล็ดข้าวเต็มรวงจนเอนโน้มลงดิน เมื่อสายลมพัดผ่านก็เกิดเป็นระลอกคลื่นของผืนนาข้าวที่พลิ้วไหวตามแรงลม
ทิวทัศน์ผืนนาตูคัง ตั้งอยู่บริเวณแถบหมู่บ้านหย่งหลงและหมู่บ้านจู๋หลง สามารถขึ้นไปชมวิวได้ที่จุดชมวิวตรงไหล่เขาชิงหลงซาน ภายในชุมชนหลงเหอ หมู่บ้านจู๋หลง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 539 เมตร มีบันไดทั้งหมด 213 ขั้น เมื่อขึ้นไปถึงด้านบน ทัศนียภาพที่ได้เห็นช่างเป็นการผสมผสานกันระหว่างภูเขาสายน้ำและท้องนาได้อย่างลงตัว

เทศกาลน้ำค้างแข็งของชาวจ้วง
เทศกาลน้ำค้างแข็ง ภาษาจีนเรียกว่า “ซวงเจี้ยง” (霜降) เป็น 1 ใน 24 ฤดูกาลของจีน โดยเป็นฤดูกาลสุดท้ายของฤดูใบไม้ร่วงก่อนย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ดังนั้นฤดูกาลซวงเจี้ยงจึงเป็นช่วงสุดท้ายของปีก่อนที่พลังหยางหรือความอบอุ่นจะหายไปแล้วความหนาวเข้ามาแทนที่
ชาวจ้วงในอำเภอเทียนเติ่ง มีประเพณีอธิษฐานขอให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ในช่วงฤดูซวงเจี้ยง โดยมีที่มาเริ่มต้นจากพิธีบูชาธรรมชาติในสมัยราชวงศ์หมิง จนค่อยๆแปรเปลี่ยนมาเป็นพิธีในฤดูกาลซวงเจี้ยงในปัจจุบัน และกลายเป็นหนึ่งในธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาของชาวจ้วง โดยจัดขึ้นปีละครั้ง บรรยากาศคึกคักราวกับเทศกาลตรุษจีน โดยในปี 2557 “เทศกาลซวงเจี้ยงของชาวจ้วง” ที่อำเภอเทียนเติ่ง ได้รับการบรรจุในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติชุดที่ 4 ของจีน

เทศกาลซวงเจี้ยง จัดขึ้นเป็นเวลา 9 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของฤดูกาลซวงเจี้ยง หลังจากชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบสุดท้ายของปีเสร็จ แต่ละครอบครัวต่างนำอาหารและเหล้าออกมาล้อมวงกินข้าวร่วมกัน
ร้องเพลงพื้นบ้าน เต้นระบำต่าหลาง เดินเล่นตลาดนัด แวะเวียนเยี่ยมญาติสนิทมิตรสหาย....ริมฝั่งแม่น้ำลี่ชวนอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง ‘การเต้นระบำต่าหลาง’ (打榔舞) หรือ ‘ระบำตำสาก’ เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวจ้วง เพื่ออธิษฐานขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงเป็นสากไม้ที่บรรพบุรุษของชาวจ้วงใช้สำหรับกะเทาะเปลือกข้าว ตำข้าวและตำขนมข้าวเหนียว ความยาวประมาณ 1 เมตร เมื่อถึงเทศกาลซวงเจี้ยง ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองในมือถือสากตำลงเป็นจังหวะ ราวกับเสียงกลองดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ

เมื่อเดินไปถึงถนนเก่าแก่ใจกลางเมือง จะพบเห็นบรรยากาศคึกคักจากโชว์การแสดงเชิดมังกรและสิงโต ด้านหลังมีคนกำลังหิ้วตะกร้าที่บรรจุอาหารพื้นเมืองของชาวจ้วง เช่น ข้าวเหนียวห้าสี ขนมข้าวเหนียว หมูย่าง รวมถึงของดีขึ้นชื่อของอำเภอเทียนเติ่งอย่าง ‘ซอสพริกชี้ฟ้า’ ผู้ที่ร่วมเดินขบวนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มมีความสุขกับบรรยากาศเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว
ประวัติศาสตร์ เรื่องราวและวิถีชีวิต....จากฤดูใบไม้ร่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว อาคารบ้านเรือนโบราณ ผืนนาสีเหลืองทอง เสียงขับร้องเพลงพื้นบ้าน เสียงสากตำข้าว กำลังรอคอยให้คุณมาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ที่อำเภอเทียนเติ่ง
