Highlight

จีนลงทุนไทยมหาศาลแค่ไหน? ธุรกิจอะไรมาแรง?

21

October

2024

11

April

2023

        การลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีน กำลังเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จนผงาดขึ้นมาผู้ลงทุนอันดับ 1 ของไทย ในปี 2565 แซงหน้าญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากการทุ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จีนครองแชมป์ลงทุนไทยอันดับ 1 ปี 65 มูลค่า 77,381 ล้านบาท

        จากข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  ในปี 2565 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เข้ามาลงทุนในไทย มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 433,971 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาเงินลงทุนอันดับ 1 มาจากจีน มูลค่าการลงทุน 77,381 ล้านบาท (จำนวน 158 โครงการ) คิดเป็นสัดส่วน 18 % ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมจากBOI ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และดิจิทัล

        รองลงมา ได้แก่ อันดับ 2. ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน  50,767 ล้านบาท (จำนวน 293 โครงการ) , อันดับ 3.สหรัฐอเมริกามูลค่า 50,296 ล้านบาท (จำนวน 33 โครงการ), อันดับ 4.ไต้หวัน มูลค่า45,215 ล้านบาท (จำนวน 68 โครงการ)  และอันดับ 5.สิงคโปร์ 44,286 ล้านบาท (จำนวน178 โครงการ)

ภายในอีก 1 ปี คาดจีนขยายการลงทุนEV ในไทยอีกไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้าน

        ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.- มี.ค. 2566) มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI แล้วจำนวน 38 โครงการ มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท

        ล่าสุด บีโอไอพร้อมด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เดินทางไปโรดโชว์ดึงดูดการลงทุนที่ประเทศจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่3-7 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมพบปะหารือกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV)และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน รวมกว่า 10 บริษัท ซึ่งนับเป็นโรดโชว์ประเทศจีนครั้งแรกในรอบ3 ปี ตั้งแต่เกิดโควิด

         นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI ) กล่าวว่า หลังจากที่จีนเปิดประเทศ บีโอไอได้เร่งจัดคณะมาเยือนจีนซึ่งได้ผลสำเร็จอย่างมาก นักลงทุนจีนให้ความเชื่อมั่น และยืนยันเลือกไทยเป็นฐานธุรกิจสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย  

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI )

         “ ในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่เราต้องรุกดึงการลงทุนจากจีน เพราะสถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้บริษัทต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องขยายการลงทุนเพิ่มเติมจากฐานในประเทศจีนเพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ” นายนฤตม์ กล่าว

        ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คณะไทยได้พบกับผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน 5 ราย ได้แก่ ChanganAutomobile, Geely, BYD, JAC และ Jiangling Motors (JMC) ซึ่งทั้ง JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าชั้นนำโดยทุกรายแสดงความสนใจลงทุนผลิต EV ในประเทศไทยและสนับสนุนไทยให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เนื่องจากมองว่าไทยมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมEV แบบครบวงจร มีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนต่าง ๆที่พร้อมรองรับการผลิต EV อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพและตลาดในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวสูง

 

        นอกจากนี้ ทุกรายยังให้ความสนใจการขยายมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.5 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) แล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนจากกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใน 1 ปีข้างหน้า ( ไม่รวม BYD ซึ่งได้ขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์EV และชิ้นส่วนในไทยแล้ว 6 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 3หมื่นล้านบาท)

        “ผู้ผลิต EV ของจีนยืนยันมองไทยเป็นเป้าหมายลำดับแรกในภูมิภาค เพราะมีความพร้อมในทุก ๆด้านสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรม EV ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก อีกทั้งเห็นตัวอย่างการเติบโตของบริษัทจีนรายอื่น ๆที่เข้าสู่ตลาดในไทยก่อนหน้านี้ เช่น MG, Great Wall Motor, BYD และ NETA ทำให้เกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น”เลขาธิการ BOI กล่าว

2 บริษัทยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์จีน เตรียมปักหมุดลงทุนไทยกว่า 12,000ล้านบาท

        กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีนเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะไปขยายฐานผลิตที่ไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร          

        ในการเดินทางโรดโชว์ที่จีนครั้งนี้ คณะผู้แทนของไทยได้พบปะกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรพิมพ์(PCB) รายใหญ่ ได้แก่ WUS Printed Circuit(Kunshan) และ ASKPCB ซึ่งทั้งสองบริษัทมีแผนลงทุนในไทยรวมกันกว่า12,000 ล้านบาท โดยได้หารือเรื่องการนำ supplier ของบริษัทย้ายตามไปลงทุนในไทยอีกกว่า 200 บริษัทเพื่อบริหารต้นทุนการผลิตและการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยครั้งนี้ ได้พบกับ Supplier รายสำคัญกว่า 10 บริษัท เช่น Yiyang JindongTechnology, Haoyue New Materials Technology และ GuangdongDtech รวมทั้งผู้บริหารสมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของจีนด้วย

           “กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีน มีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่ 2 นอกประเทศจีน หรือ China + 1เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารต้นทุนการผลิต ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย

           อย่างไรก็ตาม การมาลงทุนของกลุ่มนี้ จะต้องอาศัย supplier จำนวนมากในการสนับสนุนการผลิต ดังนั้น บีโอไอจะส่งเสริมให้ supplier บางส่วนเข้ามาลงทุนในไทยควบคู่ไปกับการผลักดันบริษัทไทยที่มีศักยภาพเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนนี้ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศซึ่งทางฝ่ายจีนก็ยินดีสนับสนุนด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

           ในการเดินทางโรดโชว์ที่จีนครั้งนี้บีโอไอ และกนอ. ยังได้ร่วมกับคณะกรรมการพาณิชย์ นครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Municipal Commission of Commerce) จัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่และศักยภาพของประเทศไทย ทั้งด้านการเป็นฐานการผลิตและสำนักงานภูมิภาครวมทั้งวีซ่าระยะยาว (Long-term Resident หรือ LTR Visa) เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจจีนเข้าร่วมงานกว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น

คณะนักธุรกิจจีนหลั่งไหลเยือนไทยต่อเนื่อง

        ทั้งนี้ นักธุรกิจจีนได้ให้ความสนใจประเทศไทยโดยมีแผนจัดคณะเดินทางมาเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ

        +++ ระหว่างวันที่19 - 22 เม.ย. 2566 สมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของจีน (China Printed Circuit Association) จะนำคณะผู้ผลิตPCB และชิ้นส่วนกว่า 60 ราย มาศึกษาโอกาสการลงทุนในไทย

        +++ ในช่วงต้นเดือนพ.ค.2566 นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ จะนำคณะผู้บริหารและนักธุรกิจจีนกว่า 50 คนเดินทางมาจัดสัมมนาสร้างความร่วมมือไทย - จีน และประชาสัมพันธ์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซี

        +++ การเข้าร่วมงานประชุมนักธุรกิจจีนจากทั่วโลก(World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24 - 26 มิ.ย. 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีนักธุรกิจจีนเดินทางมาร่วมงานราว4,000 คน

Tags:
No items found.