Highlight

นับวันยิ่งเติบโต ยุคทองจีนลงทุนไทย

12

January

2022

15

February

2021

        ปัจจุบัน นอกจากจีนจะเป็นประเทศคู่ค้าตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยแล้ว ในด้านการลงทุนยังขยายบทบาทขึ้นมาอย่างต่อเนื่องล่าสุดได้ขยับขึ้นมาเบอร์หนึ่งในปีที่ผ่านมา จากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ถึงภาพรวมการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท พบว่า อันดับหนึ่งเป็นการลงทุนจากจีนมูลค่า 261,701 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงประมาณ 160,000 ล้านบาท

       ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งครองแชมป์ผู้ลงทุนหลักของไทยมาโดยตลอดรั้งอยู่ที่อันดับ2 มูลค่า 73,102 ล้านบาท ตามมาด้วยอันดับ 3 ฮ่องกง 36,314 ล้านบาท โดยการลงทุนจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 52%ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)

        “ญี่ปุ่นไม่ได้ลงทุนน้อยลงแต่จีนมีอัตราขยายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า” ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวถึงกระแสการลงทุนของจีนในไทยที่มาแรงแซงโค้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

       “ถ้าถามว่ากระแสการลงทุนจากจีนในปีนี้จะยังมาแรงอยู่มั้ย? เราคาดว่ายังน่าจะแรงอยู่และมีแนวโน้มที่จะมีการลงทุนจากไต้หวันเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วยโดยนอกเหนือจากปัจจัยเรื่องสงครามการค้ายังมีเรื่องของปัจจัยต้นทุนในจีนที่สูงขึ้นทำให้เกิดกระแสการย้ายฐานการลงทุนจากจีนไปต่างประเทศ การลงทุนโดยตรงของจีนเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกรวมทั้งอาเซียนและไทย

      สำหรับอุตสาหกรรมหลักๆจากจีนที่จะขยายเข้ามาตั้งฐานในไทยมีทั้งกลุ่มที่เข้ามาลงทุนเพื่อใช้ทรัพยากรวัตถุดิบในไทย เช่น อุตสาหกรรมยางพารากลุ่มที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย เช่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มที่ใช้ไทยเป็นฮับเพื่อเจาะตลาดอาเซียน เช่นอุตสาหกรรมบริการ ซอฟท์แวร์ ออโตเมชั่น”เลขาธิการบีโอไอ ระบุ

แนะไทยคว้าโอกาสยุคจีนย้ายฐานผลิต

        จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี2563 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวเด่นที่ได้รับอานิสงส์จากการ Relocation ครั้งใหญ่ของฐานอุตสาหกรรมในจีนออกมานอกประเทศเนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในจีนเริ่มเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆทั้งต้นทุนค่าแรง ค่าที่ดินที่สูงขึ้น โดยนับตั้งแต่ประกาศยุทธศาสตร์ Beltand Road Initiative (BRI) จีนได้มีย้ายฐานออกมาลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายตลาดและระบายสินค้าที่จีนผลิต Over Supply สู่ตลาดโลก

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA

        “จีนมีแผนที่จะ Relocate การลงทุนอยู่แล้ว เมื่อมีTrade War เข้ามาจึงเป็นตัวเร่งให้ออกมาเร็วขึ้นทั้งกลุ่มนักลงทุนจีน รวมถึงไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีที่ลงทุนในจีน

        โจทย์ที่ไทยต้องทำงานหนักคือทำอย่างไรจึงจะดึงให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยไม่ใช่แค่ดึงเป็นรายบริษัทแต่ต้องดึงเข้ามาทั้งซัพพลายเชนซึ่งการที่ไทยมีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ไทยกลับเข้ามาอยู่ในแผนที่การลงทุนของโลกอีกครั้งโดยเฉพาะจีนที่ให้ความสนใจมีการนำคณะนักลงทุนที่นำโดยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลเดินทางมาเยือนไทยด้วยตัวเองเพื่อหารือว่าจะมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับยุทธศาสตร์ BRI ของจีนได้อย่างไรและจากตัวเลขล่าสุดของบีโอไอจะเห็นว่า จีนได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งเช่นเดียวกับตัวเลขลูกค้าจีนและไต้หวันในนิคมอุตสาหกรรมที่ในปีหน้ามีโอกาสที่จะแตะ70% ของพอร์ตโฟลิโอ”ผู้บริหาร WHA กล่าว

วิเคราะห์ปัจจัยทุนจีนหลั่งไหลเข้าไทย

        นับตั้งแต่ไทยและจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี2518 ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศได้พัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

        ต่อมาเมื่อจีนได้เริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกันยิ่งขยายตัวมากขึ้น

        ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันเป็นปีที่6 โดยนอกจากจะเป็นทั้งตลาดส่งออกอันดับหนึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยแล้ว ในปีที่ผ่านมาจีนได้ขยับมาเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุด

        อะไร?คือปัจจัยที่ทำให้การลงทุนจากแดนมังกรหลั่งไหลเข้าไทยมาฟังการวิเคราะห์โดยมองจากปัจจัยที่เกื้อหนุนกัน 2 ฝั่งทั้งไทยและจีนจากผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบบัณฑิตสาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบบัณฑิตสาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

        เริ่มจากมุมมองปัจจัยของประเทศไทยอ.หลี่ บอกว่า“ไทยในสายตาของนักลงทุนจีน”คือหนึ่ง..มีเสถียรภาพทางการเมืองสอง..มีทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในใจกลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้จีนสามารถเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านสาม..โครงสร้างพื้นฐานและลักษณะภูมิประเทศของไทยค่อนข้างได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

        สี่..พื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างไทย-จีนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อีกทั้งยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีเชื้อสายจีนทำให้คนจีนมีความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับไทย

        ห้า..รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีการขับเคลื่อนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจสำหรับนักลงทุน พร้อมทั้งมีการกำหนด 10อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการผลักดันซึ่งสอดคล้องกับจีนที่มีภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        หก..ต้นทุนค่าจ้างแรงงานค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในไทยค่อนข้างมีความเหมาะสม เมื่อเทียบกับในจีนซึ่งตอนนี้มีค่าใช้จ่ายต่างๆปรับเพิ่มขึ้นทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าที่ดิน สถานที่ ฯลฯ  

        เจ็ด..ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีแหล่งทรัพยากรวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งสามารถรองรับอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆของจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย

        ถัดจากมุมมองปัจจัยประเทศไทยมาดูที่ฝั่งมุมมองปัจจัยของประเทศจีนกันบ้าง อ.หลี่ วิเคราะห์โดยเริ่มจากปัจจัยที่สำคัญคือ นโยบายของรัฐบาลจีน นับตั้งแต่จีนได้ดำเนินนโยบายการเปิดประเทศและปฏิรูปในปี2521 ตามมาด้วยนโยบาย“ก้าวออกไป”ที่สนับสนุนให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจของจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นและการประกาศนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในปี 2556 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยง 5 ด้าน

       ทั้งการเชื่อมโยงนโยบายภาครัฐที่มีการประสานนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนกับไทยแลนด์4.0 และEEC ของไทย นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเช่น  โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน

       การเชื่อมโยงทางด้านการค้าการลงทุนให้มีความคล่องตัวไร้อุปสรรค  ตลอดจนการเชื่อมโยงด้านการเงินและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน  

       ภายใต้ปัจจัยต่างๆที่มีนโยบายของจีนเป็นตัวขับเคลื่อนเหล่านี้จึงส่งผลให้บริษัทจีนได้ขยายการลงทุนเข้ามาในไทยมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยการเติบโตและความเข้มแข็งของรัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนของจีนที่ได้สั่งสมประสบการณ์จากการไปลงทุนในต่างประเทศมาเป็นระยะเวลาหลายปี

        “เมื่อปัจจัยทางฝ่ายไทยมีแรงดึงดูดขณะที่ฝ่ายจีนมีแรงผลักดัน จึงทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่บริษัทจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนเพื่อใช้ทรัพยากรในไทยเป็นวัตถุดิบ เช่นอุตสาหกรรมยางพารา นอกจากนี้ ยังมีการเข้ามาลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทรับเหมาก่อสร้างจีนรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทเทคโนโลยีต่างๆ

        แนวโน้มในปีนี้ผมคิดว่าการลงทุนจากจีนจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องและเป็นประเทศผู้ลงทุนที่มีความสำคัญที่มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ในอันดับต้นๆไม่อันดับ 1 ก็อันดับ 2 ของไทยต่อไปในอนาคต ” อ.หลี่ บอกเช่นนั้น

Tags: