MOU ไทย-ไห่หนาน เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่การค้าไทย-จีน
16
November
2024
20
August
2021
ชื่อของ“ไห่หนาน”หรือ“ไหหลำ” เป็นชื่อที่คนไทยคุ้นเคยมาช้านาน เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยจำนวนมาก และมีการไปมาหาสู่ผูกพันกันอย่างใกล้ชิด การรวมกลุ่มของลูกหลานชาวไหหลำในประเทศไทยถือว่ามีความเหนียวแน่นผ่านการจัดตั้งสมาคมจีนต่างๆ อาทิ สมาคมใหหนำแห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งมากว่า 7 ทศวรรษ, สมาคมการค้าไทยไหหลำ ซึ่งมีบทบาทในการสร้างเครือข่ายการรวมตัวของนักธุรกิจชาวจีนไหหลำในประเทศไทย
ในวันนี้ เกาะไหหลำที่บรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีนหลายคนได้จากมากำลังพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว หลังจากรัฐบาลจีนมีนโยบายผลักดันไห่หนานให้เป็นเมืองท่าการค้าเสรีระดับสูงที่มีอิทธิพลในระดับโลก จากศักยภาพดังกล่าวของไห่หนาน จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับกรมพาณิชย์ไห่หนาน มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ โดยมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ เฝิง เฟย ผู้ว่าการมณฑลไห่หนาน ร่วมเป็นประธานสักขีพยาน เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา
การลงนาม MOU ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับมณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดของจีน ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA) อีกทั้งยังเป็นประตูการค้าสำหรับไทยในการเข้าสู่จีน และยังสามารถเชื่อมโยงสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศตามเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน
เดินหน้าขยายการค้าทะลุ 12,000 ล้านบาท ใน 2 ปี
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในบรรดาประเทศพันธมิตรทางการค้าของไทย จีนเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาโดยต่อเนื่อง ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปีที่ผ่านมา สูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 18.26 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยรวม และสำหรับมณฑลไห่หนานในปี 2563 แม้ว่าโลกจะเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่การค้าระหว่างมณฑลไห่หนานกับไทยยังคงมีมูลค่าสูงถึงราว 9,233 ล้านบาท (295.07 ล้านเหรียญฯ)
“เมื่อปลายเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดงาน CIIE ครั้งที่ 3 และได้รับฟังคำกล่าวเปิดงานของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาจีนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ขอกล่าวถึง 2 ประเด็น คือ
- จีนจะสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าทั้งพหุภาคีและทวิภาคี ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ผมในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้า RCEP ก็ได้สรุปข้อตกลง RCEP เป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกในระดับพหุภาคี
- จีนจะใช้เขตการค้าเสรีภายในประเทศเป็นพื้นที่ทดสอบนำร่องที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศซึ่งสามารถขยายการเปิดเสรีภาคเศรษฐกิจดิจิทัล และไห่หนานก็ได้อยู่ในแผนการพัฒนาดังกล่าวด้วย
ผมขอชื่นชมวิสัยทัศน์ของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ได้วางแผนยกระดับให้ไห่หนานเป็นเมืองท่าการค้าเสรีที่มีอัตลักษณ์ ซึ่งถือเป็นนโยบายการเปิดประเทศที่สำคัญของจีน อันจะช่วยเอื้อต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ
ผมเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพที่มีของไห่หนานจะส่งผลให้ไห่หนานก้าวขึ้นสู่การเป็นเมืองท่าสากลระดับโลก ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน และในฐานะที่ผมมีเชื้อสายไห่หนาน ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานที่สมาคมใหหนำแห่งประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งหลายท่านได้แสดงความสนใจในการไปทำธุรกิจที่บ้านเกิดของบรรพบุรุษ ความสนใจดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายที่ผมได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ของไทยไว้ตั้งแต่เมื่อเข้ารับตำแหน่ง โดยขอให้เดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในระดับต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคและแสวงหาโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เผชิญทั้งกับความท้าทายและความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งไห่หนานถือเป็นมณฑลแรกในจีนที่กระทรวงพาณิชย์ไทยได้จัดทำ MOU ร่วมกัน
พิธีลงนาม MOU ในวันนี้จึงถือได้ว่าเป็นก้าวที่มีความสำคัญ และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย และกรมพาณิชย์ไห่หนาน ที่จะช่วยสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และจะเป็นการเชื่อมโยงห่วงโซ่การค้าบนพื้นฐานความร่วมมือฉันมิตรระหว่างกัน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปี 2563 ที่มีมูลค่า 9,233 ล้านบาท เพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาทภายใน 2 ปี โดย MOU ที่ลงนามนี้ จะมีผลเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2564 ถึงวันที่ 20 ส.ค.2566
สาระสำคัญของ MOU ความร่วมมือระหว่างไทย-ไห่หนาน ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
- ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้าระหว่างกัน
- ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการค้า ด้านสินค้า ด้านนวัตกรรมและการตลาดรวมทั้งการส่งเสริมการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระหว่างกันเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
- ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เช่น การเดินทางของนักธุรกิจ การจัดประชุมสัมมนาร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกัน
- ด้านการมุ่งขยายมูลค่าการค้าใน 3 สินค้าหลัก คือ สินค้าเกษตร สินค้าอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม
- ความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ เช่น การส่งเสริมการค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆของจีนและไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน
ตัวอย่างกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการลงนามครั้งนี้ เช่น การจัดกิจกรรมจับคู่เจรการค้าออนไลน์ระหว่างไทยกับไห่หนานในเดือนพ.ย.2564 การเชิญนักธุรกิจจากไห่หนานเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX และงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Bangkok Gems & Jewelry Fair รวมถึงเชิญชวนนักธุรกิจไทยเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Hainan Expo ที่มณฑลไห่หนาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน
ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน เปิดโอกาสความร่วมมือใหม่‘ไทย-จีน’
เฝิง เฟย ผู้ว่าการมณฑลไห่หนาน กล่าวผ่านระบบออนไลน์ว่า พิธีลงนาม MOU ความร่วมมือทางการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย และกรมพาณิชย์ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสความร่วมมือใหม่ของทั้งสองฝ่าย
ประเทศจีนและประเทศไทยมีความใกล้ชิดกันทั้งทางภูมิศาสตร์และมีมิตรภาพที่ลึกซึ้ง มณฑลไห่หนานเป็นช่องทางที่สำคัญของจีนในการติดต่อกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาอย่างยาวนาน มีการทำการค้าและแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการค้าสินค้าระหว่างไทยกับไห่หนานคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2,000 ล้านหยวน สาขาการลงทุนได้ขยายไปในหลายๆด้าน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้สัมฤทธิ์ผล
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานระดับสูงสุดของโลก การก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรีที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงและมีลักษณะเด่นเฉพาะของจีน ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการพัฒนาที่รัฐบาลกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนมอบให้กับมณฑลไห่หนาน
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทางการจีนได้เปิดแถลงแผนการว่าด้วยการก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานโดยรวม นโยบายและมาตรการ 140 กว่ารายการได้ประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการยกเว้นภาษี การเก็บอัตราภาษีขั้นต่ำ การเก็บภาษีระบบง่าย การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกเป็นหลัก
นโยบายท่าเรือการค้าเสรีเริ่มมีความชัดเจนและเห็นความคืบหน้า โดยได้จัดงานมหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชาติของจีน (China International Consumer Products Expo : CICPE) อย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 กฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ถือเป็นการอาศัยข้อกฎหมายเข้ามาช่วยเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานให้ถูกกฎหมาย สะดวกสบาย และมีความเป็นสากล
ภายใต้รูปแบบการพัฒนาใหม่ของจีน ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานจะกลายเป็น จุดสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนา “วงจรคู่” (dual circulation) ของจีน ดึงดูดและจัดสรรทรัพยากรจากทั่วโลก เป็นการเปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ในการสร้างกลไกความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพและยาวนาน และจะเป็นการขยายความร่วมมือระหว่างมณฑลไห่หนานและประเทศไทย ทั้งทางด้านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรม ร่วมแบ่งปันโอกาสใหม่ๆ แสวงหาการพัฒนาใหม่ในอนาคตร่วมกัน
ขอขอบคุณท่านจุรินทร์ ลักษณวิสิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีความใส่ใจและสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน
“ผมขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยมาท่องเที่ยวและร่วมลงทุนพัฒนาธุรกิจที่มณฑลไห่หนาน พวกเราจะใช้ท่าทีที่เปิดกว้าง การบริการที่ดีเยี่ยม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชั้นหนึ่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในมณฑลไห่หนาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายและการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ว่าการมณฑลไห่หนานกล่าว
เปิดแผนจีนบูมเมืองท่าการค้าเสรีไห่หนาน
มณฑลไห่หนาน เป็นมณฑลที่มีขนาดเล็กที่สุดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นมณฑลและประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2531 และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเกาะ มีพื้นที่ 35,354 ตร.กม. ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ GBA และเป็นจุดสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่อยู่ในแนวโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
ทางทิศเหนือของไห่หนานมีช่องแคบโฉงโจวกั้นระหว่างไห่หนานกับมณฑลกวางตุ้ง ทางทิศตะวันตกมีอ่าวเป่ยปู้ติดกับเวียดนาม ทิศตะวันออกหันหน้าเข้าเกาะไต้หวัน ทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้หันหน้าเข้าสู่ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
ไห่หนานยังเป็นเมืองท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงและงดงาม จนได้รับฉายาว่าเป็น “ฮาวายแห่งจีน” ได้รับการพัฒนาเป็นเกาะท่องเที่ยวนานาชาติของจีนเมื่อปี 2553 และเป็นแหล่งชอปปิงสินค้าปลอดภาษีที่สำคัญ
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในปี 2561 ในวาระครบรอบ 30 ปีที่ไห่หนานได้ยกระดับเป็นมณฑลและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนไห่หนาน และประกาศวิสัยทัศน์ที่จะเดินหน้าการสร้างเขตการค้าเสรีนำร่องทั้งเกาะไห่หนาน พร้อมเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องสู่เมืองท่าการค้าเสรีที่มีอัตลักษณ์ของจีน
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน (Hainan Free Trade Port) เพื่อมุ่งเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน โดยเนื้อหาสำคัญในแผน“6+1+4” ประกอบด้วย
ตัวเลข 6 หมายถึง (1)การอำนวยความสะดวกด้านการค้าเสรี (2)การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (3)การอำนวยความสะดวกด้านการหมุนเวียนของทุนข้ามชาติ (4)การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเข้าออกของผู้คน (5)การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และ (6)การประกันความปลอดภัยและความเป็นระเบียบด้านการหมุนเวียนของข้อมูล
ตัวเลข 1 หมายถึง การสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยเน้นการใช้ประโยชน์ความได้เปรียบและเอกลักษณ์ของไห่หนาน ทุ่มเทพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบริการที่ทันสมัย และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง
ตัวเลข 4 หมายถึง การเสริมสร้างระบบใน 4 ด้าน ได้แก่ (1)ด้านการเก็บภาษี (2)ด้านการบริหารจัดการทางสังคม (3)ด้านระบบกฎหมาย และ (4)ด้านการป้องกันและควบคุมความเสี่ยง
เป้าหมายของการพัฒนาเมืองท่าการค้าเสรีไห่หนาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 ภายในปี 2568 (ค.ศ.2025) สร้างระบบนโยบายและกลไกของเมืองท่าการค้าเสรีที่อำนวยความสะดวกในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ
- ระยะที่ 2 ภายในปี 2578 (ค.ศ.2035) พัฒนาให้ไห่หนานกลายเป็นจุดที่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดสู่ต่างประเทศ
- ระยะที่ 3 กลางศตวรรษที่ 21 (ปี 2593 หรือ ค.ศ.2050) เป็นเมืองท่าการค้าเสรีระดับสูงที่มีอิทธิพลต่อทั่วโลก
ทั้งนี้ แผนแม่บทเมืองท่าการค้าเสรีไห่หนานให้ความสำคัญกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยว การบริการที่ทันสมัย และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับไห่หนาน โดยบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้จะได้รับสิทธิการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 เนื่องจากการเข้าถึงตลาดเป็นเป้าหมายแรกเพื่อเพิ่มการเติบโตของเมืองท่าการค้าเสรีไห่หนาน ที่จะดึงดูดบริษัทระดับโลกจากข้อได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ การบินพลเรือน การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ภาคการเงินและบริการ ให้เข้ามาลงทุนและขยายตลาด
ขณะที่นโยบายภาษีเป็นศูนย์จะช่วยการไหลเวียนของปัจจัยการผลิตได้เสรี เมืองท่าการค้าเสรีไห่หนานจะกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้มีความรู้ความสามารถระดับนานาชาติเข้ามาที่ประเทศจีนจากมาตรการการเสนอภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดร้อยละ 15 สำหรับผู้มีความสามารถที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (eligible talent)
นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดข้อจำกัดในการซื้อสินค้าปลอดภาษีพร้อมกับเพิ่มโควตาการซื้อสินค้าปลอดภาษีจาก 30,000 หยวน เป็น 1 แสนหยวน/คน/ปี และขยายเพิ่มหมวดหมู่สินค้าปลอดภาษีจากเดิม 38 หมวดให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังไห่หนานมากขึ้น
การประกาศแผนแม่บทในการสร้างเกาะไห่หนานสู่เมืองท่าการค้าเสรีระดับโลก เป็นส่วนสำคัญในความพยายามของจีนต่อนโยบายการเปิดประเทศรูปแบบใหม่ของจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกการค้าแบบเปิดที่มีมาตรฐานสูง นอกเหนือจากการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ซึ่งจะสร้างโอกาสการเชื่อมโยงกับอาเซียนและประเทศที่อยู่ในแนวโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพิ่มโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนต่างๆ